ไม่ใช่หักหลังประชาชน แค่กาลเวลาไม่สม่ำเสมอ

ผศ.ดร.อัธกฤตย์ เทพมงคล
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
www.econ.nida.ac.th

ไม่ใช่หักหลังประชาชน แค่กาลเวลาไม่สม่ำเสมอ

อะไรมันจะแซ่บ ดุเดือด เชือดเฉือน และสะเด็ดสะเด่า เท่าการเมืองไทยในปีนี้ คงไม่มีอีกแล้ว เราได้เห็นการปะทะกันอีกครั้งของสองขั้วแนวคิดทางการเมือง ได้แก่ กลุ่มสนับสนุน คสช. ที่ยกประเด็นการล้มเจ้าเป็นหลักในการโจมตี กับกลุ่มต่อต้าน คสช. ที่ยกครรลองประชาธิปไตยเป็นหลักในการโจมตี ความขัดแย้งที่ถูกวาทะกรรมปรองดองใน 4-5 ปีที่ผ่านมากลบเอาไว้ ก็ได้ล้นเอ่อออกมาในทุกวงการอีกครั้ง ตั้งแต่วงการวิชาการยันวงการบันเทิง ใครพูดเสียงดังเกินไปก็จะถูกถล่มจากอีกฝ่ายจนสะบักสะบอม ถ้าสงครามในโลกโซเชี่ยวมันกลายเป็นโลกความจริงละก็ คงฆ่ากันตายไปครึ่งจักรวาลแบบใน Avenger Endgame แล้วแน่ ๆ

ผู้เขียนเองก็ยอมรับว่า ผู้เขียนมีความคิดเลือกฝ่ายทางการเมืองชัดเจนเช่นกัน ซึ่งถ้าบอกไปก็คงถูกถล่มเป็นแน่ เอาเป็นว่าผู้เขียนขอไม่บอกละกัน บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาจะมาชักจูงแนวคิดทางการเมืองแต่อย่างใด เพราะจนป่านนี้แล้ว ทุกคนก็คงไตร่ตรองแล้วเลือกดีแล้วว่าจุดยืนของแต่ละท่านอยู่ตรงไหน ที่เหลือก็คือปล่อยระบบมันพัฒนาไป ณ วันนี้ก็ได้แต่ภาวนาว่า อย่าเล่นนอกเกม อย่าเล่นการเมืองบนถนนกันอีกเลย มันยิ่งจะมีแต่ยิ่งพังยิ่งช้า ระบบการเมืองประเทศไทยไม่ได้โอกาสเติบโตเสียที

แต่ที่เกริ่นเรื่องการเมืองมาทั้งหมดนี้ เพราะมีปรากฏการณ์การเมืองหนึ่งที่ตราตรึงนักเศรษฐศาสตร์อย่างผู้เขียนเป็นอย่างมาก นั่นคือกรณีการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้ง ๆ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของหัวหน้าพรรคคนเก่า คุณ อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ได้ประกาศมติพรรคแสดงจุดยืนชัดเจนที่จะไม่เข้าร่วมรัฐบาลกับ คสช. อย่างเด็ดขาด อ่าวเห้ย เผลอแป๊บเดียว ร่วมรัฐบาลกันไปซะละ ก่อนพูดอย่าง หลังทำอีกอย่าง อย่างงี้ก็ได้หรอ?

เหตุการณ์อย่างงี้ ภาษาชาวบ้านอาจจะเรียกว่า “สับปรับ หลอกลวง” ซึ่งมีความหมายทางแง่ลบ แต่นักเศรษฐศาสตร์อย่างผู้เขียนไม่มองว่าเป็นความชั่วร้ายแต่อย่างใด ผู้เขียนมองว่ากลไกการเลือกตั้งนี้มีปัญหา Time inconsistency ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า ปัญหาความไม่สม่ำเสมอของกาลเวลา ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปกติในเศรษฐศาสตร์มหภาค โดยแก่นของปัญหานี้คือ ทางเลือกที่ดีที่สุดมักจะเปลี่ยนไปเมื่อความเชื่อของประชาชนเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

ตัวอย่างคลาสสิคที่สุดของปัญหานี้คือการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลาง โดยปกติธนาคารกลางจะมุ่งรักษาระดับราคาของสินค้าและบริการให้มีเสถียรภาพเป็นสำคัญ โดยนโยบายเช่นนี้จะทำให้เศรษฐกิจไม่ผันผวน และเจริญเติบโตอย่างมั่นคงในระดับการผลิตเต็มศักยภาพของตัวเองโดยปราศจากปัญหาเงินเฟ้อสูง ซึ่งเมื่อได้ก็ตามที่ธนาคารกลางวอกแวกออกจากหน้าที่การควบคุมระดับราคา ไปพยายามกระตุ้นเศรษฐกินให้มีการผลิตและจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น  ธนาคารกลางต้องเตรียมใจแบกรับต้นทุนด้านเงินเฟ้อสูงที่จะตามมา

แต่เมื่อไหร่ก็ตาม ที่ธนาคารกลางสามารถจูงใจให้ทุกคนเชื่อในจุดยืนการต่อสู้เงินเฟ้อได้แล้ว การคาดการณ์เงินเฟ้อที่ต่ำลงของประชาชนจะส่งผลให้ต้นทุนในการที่ธนาคารกลางจะหันมากระตุ้นเศรษฐกิจนั้นถูกลงอย่างมาก จนทำให้ธนาคารกลางอาจจะเห็นว่าการหันมากระตุ้นเศรษฐกิจบ้างนั่นเป็นนโยบายที่ดีกว่าการสู้แต่เงินเฟ้ออย่างที่เคยประกาศไว้ พูดง่าย ๆ ก็คือ เมื่อคนเชื่อว่าเราอยากทำอะไร เราจะพบว่าเราไม่อยากทำสิ่งนั้นอีกแล้ว

ปัจจัยสำคัญของปัญหา Time Inconsistency ก็คือ ความเชื่อของคน ในเศรษฐกิจมหภาค ความเชื่อเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ ถ้าเราเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะดี เราก็จะจับจ่ายใช้สอย การผลิตก็จะขยายตัว เศรษฐกิจก็จะฟู่ฟ่า ถ้าเราเชื่อว่าเงินเฟ้อจะต่ำ ค่าจ้างของแรงงานก็จะต่ำ ต้นทุนการผลิตก็จะต่ำ ราคาสินค้าก็จะไม่เฟ้อดั่งที่เราเชื่อ ดังนั้นปัญหา Time Inconsistency เป็นการบอกเราว่าผู้ดำเนินนโยบายจะมีแนวโน้มที่จะเล่นตลกกับความเชื่อของคนโดยธรรมชาติ ไม่ใช่ว่าเขาเป็นคนชั่วคนเลวตั้งใจมาหลอกประชาชนแต่อย่างใด แต่เพียงเพราะนโยบายที่เขาคิดว่าดีที่สุดมันได้เปลี่ยนไปแล้วเมื่อคนเริ่มเชื่อในตัวเขา

แล้วจุดจบของปัญหานี้คืออะไร สุดท้าย เมื่อประชาชนที่เชื่อถูกหักหลัง ธนาคารกลางก็จะสูญเสียความน่าเชื่อถือไป โดยคนก็จะปรับความเชื่อใหม่ ว่าสุดท้ายเงินเฟ้อจะต้องสูงแน่ เพราะธนาคารกลางคอยแต่จะหาโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจ ความเชื่อใหม่ที่ว่าเงินเฟ้อจะต้องสูง ก็จะส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นจริง ๆ โดยที่ผลผลิตไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างไร สุดท้ายธนาคารกลางที่ไม่ตั้งมั่นกับนโยบายควบคุมราคาก็จะมีแต่เสียกับเสีย

มองย้อนกลับมาที่พรรคประชาธิปัตย์ เรื่องราวไม่ต่างกับตัวอย่างธนาคารกลางนี้เลย พรรคประชาธิปัตย์มีคนที่เชื่อในจุดยืนของพรรคตอนหาเสียงว่าไม่เอา คสช. กว่าเกือบสี่ล้านเสียง แต่พอเวลาผ่านไปแค่เดือนสองเดือน เข้าสู่การจับขั้วทางการเมือง ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมที่จะเลือกลืมจุดยืนเก่า ๆ แล้วไปเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐได้อย่างหน้าตาเฉย Time Inconsistency จริง ๆ

เมื่อเป็นแบบนี้ ผู้เขียนก็ขอทำนายตามหลักทฤษฎีว่า ต้นทุนของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะต้องแบกรับนั้นมีมากกว่าการที่สมาชิกบางคนได้ลาออกจากพรรคไป พรรคประชาธิปัตย์ได้ยอมเสียความน่าเชื่อถือของพรรคไปแล้ว ประชาชนทั้งที่เลือกและไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ได้เรียนรู้และจะปรับความเชื่อของตัวเองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป สิ่งที่น่ากลัวก็คือ ความเชื่อชุดใหม่ที่มองว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคนี้เชื่อถือไม่ได้ เลือกไปแล้วก็ไม่รู้จะออกหัวและออกก้อย พร้อมจะพลิกลิ้นไปมาให้ได้อยู่ฝ่ายรัฐบาล และด้วยความเชื่อแบบนี้ พรรคใหญ่พรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์จะเหลือคะแนนเสียงในประเทศนี้อยู่สักกี่เสียงกัน

แต่อย่างว่า ใคร ๆ ก็รู้ว่าคนไทยใจดีและลืมง่าย Time Inconsistency ก็ Time Inconsistency เถอะ เจอคนไทยเข้าไปก็อาจจะต้องไปนั่งรื้อเขียนทฤษฎีกันใหม่ก็ได้ นี่เป็นสิ่งที่ผู้เขียนและผู้อ่านต้องร่วมกันพิสูจน์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป (หวังว่าจะไม่นานเกินสี่ปีนะ ผู้เขียนเองก็แอบหวั่นๆใจ)

*ภาพข่าวที่มา : website posttoday.com