เศรษฐศาสตร์การระดมทุนของวัดไทย

ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์
ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

www.econ.nida.ac.th; piriya.pholphirul.blogspot.com

เศรษฐศาสตร์การระดมทุนของวัดไทย

“วัด” ถูกจัดให้เป็นองค์การไม่แสวงหาผลกำไร (Nonprofit Organization) ประเภทหนึ่งที่สำคัญในบริบทของประเทศไทยที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ดังนั้นจึงไม่เป็นเรื่องแปลกอะไรที่วัดทางพุทธศาสนาจะต้องแสวงหารายได้จากการพึ่งพาการระดมทุนจากแหล่งต่างๆ เป็นสำคัญ จากการสำรวจองค์การเอกชนไม่แสวงผลกำไรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2556) พบว่า “การบริจาคหรือการทำบุญทางศาสนา” จากภาคบุคคลหรือประชาชนทั่วไปมีมูลค่าสูงถึง 22.9 พันล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 53.4 ของการบริจาคภาคบุคคลทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะสำคัญของคนไทยที่มีความผูกพันของคนไทยกับศาสนาเป็นอย่างมาก จึงส่งผลทำให้ทรัพย์สินสุทธิที่ที่วัดถือครองมีมูลค่าถึง 531.6 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 72.3 ของทรัพย์สินสุทธิทั้งหมดขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในประเทศไทย จึงแสดงว่าวัดเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและยังได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชนมากที่สุดในประเทศไทย

แนวทางในการระดมก็จะมีหลากหลายกลยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนจากเงินทำบุญและเงินบริจาค การระดมทุนผ่านการดำเนินกิจกรรมทางศาสนา การระดมทุนผ่านเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ หรือแม้กระทั่งการดำเนินการผ่านมูลนิธิ/สถานศึกษาที่อยู่ภายในวัด ซึ่งแต่ละวัดเองก็จะมีแนวทางในการได้มาซึ่งการระดมทุนที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรประเภทอื่นๆ ที่จะต้องรักษาสมดุลระหว่างการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมพร้อมไปกับการจัดกิจกรรมการระดมทุน (Fund Raising) ดังนั้น วัดจะต้องประสบกับปัญหาความท้าทายในการบริหารในด้านต่าง ๆ เช่น การจัดการหนี้สินและทรัพย์สิน การจัดการคน เป็นต้น ดังนั้นการเข้าใจถึงแนวทางในการจัดสรรทรัพยากรภายในวัดอย่างมีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญ ทั้งนี้วัดจำเป็นต้องเข้าใจถึง การบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ การบริหารทรัพยากรบุคคล (ซึ่งในที่นี้ได้แก่พระ ฆราวาส และอาสาสมัคร) การดำเนินกิจกรรมเพื่อหารายได้ การใช้เทคโนโลยีในองค์กร รวมไปถึงการจัดการสินทรัพย์ภายในวัด จึงเป็นประเด็นท้าทายที่วัดจำเป็นต้องทำ ไม่แตกต่างกับองค์กรไม่แสดงหาผลกำไรอื่นๆ

งานวิจัยฉบับล่าสุดของคุณณัชชนน ไพรรุณ (นักศึกษาปริญญาโทของคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) กับผมที่ได้เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Nonprofit and Voluntary Sector Marketing ได้นำข้อมูลของการสำรวจองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยคัดเฉพาะองค์กรทางศาสนา (วัด) มาใช้ในการวิเคราะห์จำนวนทั้งสิ้น 9,940 กลุ่มตัวอย่าง

ในเมื่อวิเคราะห์ในฝั่งของการหารายได้พบว่า โดยเฉลี่ยวัดในประเทศไทยมีรายได้จากเงินบริจาคจำนวนทั้งสิ้น 427,114 บาท/วัด/ปี มีรายได้จากแหล่งอื่นๆ (เช่นงานบวชหรืองานศพ) ทั้งสิ้น 509,987 บาทต่อปี นอกจากนี่ยังได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐอีก 22,394 บาท รวมแล้วโดยเฉลี่ย วัดจะมีรายได้ต่อปีอยู่ที่ประมาณ 959,495 บาทต่อปี

และเมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในฝั่งของรายจ่ายพบว่า วัดหนึ่งแห่งจะมีรายจ่ายทั่วไปโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 317,273 บาท นอกจากนี้ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าแรง (Wage) ปีละ 74,460 บาท ค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเช่าทุน (Capital Rent) ประมาณปีละ 144,608 บาท รวมเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณปีละ 536,341 บาท ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า วัดแต่ละแห่งมีรายได้มากกว่ารายจ่าย (หรือมีกำไร) ประมาณ 959,495-536,341 = 423,154 บาท (ถึงแม้ว่าจะไม่ควรแสวงหาผลกำไรก็ตาม) ส่งผลให้วัดหนึ่งแห่งโดยเฉลี่ยจะมีทรัพย์สิน (Asset) ประมาณ 9,316,930 บาท (และแน่นอนว่ามูลค่าดังกล่าวย่อมแตกต่างกันมากระหว่างวัดที่มีขนาดใหญ่ในเมืองกับวัดขนาดเล็กในชนบท)

ในทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ได้อธิบายถึงการจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์นี้จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ถึงแนวทางในการจัดสรรทรัพยากรในวัดให้เกิดได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายทางสังคมได้อย่างไร งานศึกษาวิจัยนี้ได้พยายามหา “ประสิทธิภาพการระดมทุน (Fundraising Efficiency) ของวัดทางพุทธศาสนาของประเทศไทย ซึ่งเป็นงานชิ้นแรกที่ได้มีการใช้กลุ่มตัวอย่างดังกล่าวเนื่องจากงานศึกษาในต่างประเทศที่มีการทำมาจะเป็นการใช้ตัวแปรขององค์การไม่แสวงหาผลกำไรประเภทอื่น ๆ โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อว่า Stochastic Frontier Analysis

ในการประมาณการหาค่าประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรเพื่อการระดมทุนของวุดทางพุทธศาสนาในประเทศไทยพบว่า โดยเฉลี่ย (จาก 100 เปอร์เซ็นต์) วัดทางพุทธศาสนาในประเทศไทยยังมีประสิทธิภาพในการระดมทุนที่ยังต่ำเพียงร้อยละ 45 เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าเมื่อเทียบกับองค์กรทางศาสนาในประเทศอื่น ๆ เช่น โบสถ์ทางคริสต์ศาสนา) โดยผลการศึกษาได้ค้นพบปัจจัยที่ส่ง “ผลบวกต่อประสิทธิภาพในการระดมทุนซึ่งได้แก่ ขนาดของวัด, ความเก่าแก่ของวัด, การจ้างแรงงาน, กิจกรรมที่วัดทำในการระดมทุน, และกิจกรรมทางสังคมของวัด โดยถ้าวัดมีปัจจัยดังกล่าวเพิ่มขึ้น วัดเหล่านั้นก็จะมีความสามารถในการระดมทุนเข้าวัดได้มากขึ้น

งานศึกษายังพบว่า การใช้อินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ภายในวัดยังส่ง “ผลบวก” ต่อประสิทธิภาพในการระดมทุนของวัดด้วยเช่นกัน ซึ่งสะท้อนถึงแนวทางการทำการตลาดของวัดในการแสวงหารายได้จากการใช้สื่อดิจิตัลในยุค 4.0 นี้ ซี่งเราจะเห็นได้จากหลายวัดในปัจจุบันที่มีตั้งแต่ การมีเวปไซต์ การใช้ระบบอินเทอร์เน็ต จนไปถึงการมีระบบ Prompt Pay เพื่อความสะดวกในการโอนเงินเพื่อทำบุญกับวัดได้โดยตรง

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า “เงินอุดหนุนจากภาครัฐ” กลับส่งผลลบต่อประสิทธิภาพในการระดมทุน (หรือภาษาทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Crowding-Out Effect) ซึ่งแสดงว่าวัดที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจะพึ่งพาเงินบริจาคลดลง หรืออีกทางหนึ่งก็คือเงินอุดหนุนที่รัฐบาลให้กับวัดยังคงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อลดโอกาสของวัดในการแสวงหาประโยชน์จากกลยุทธ์ “พุทธพาณิชย์” ลงได้ โดยเฉพาะสำหรับวัดขนาดเล็กในเขตชนบท

*งานวิจัยฉบับเต็มนี้สามารถ Download ได้จาก https://onlinelibrary.wiley.com/journal/1479103x

*ภาพข่าวที่มา : website posttoday.com