คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
www.econ.nida.ac.th; yuthana.s@nida.ac.th
เศรษฐกิจไทย กับมรสุมสงครามการค้าโลกและความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ
ในครึ่งแรกปี 2562 เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญมรสุมจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นระยะ ๆ รวมถึงปัญหาในสหภาพยุโรปและความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการถอนตัวของ สหราชอาณาจักร (Brexit) นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศก็เพิ่มมากขึ้นหลังการเลือกตั้งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แม้ว่าในช่วงเลือกตั้งโดยทั่วจะมีกระแสเงินที่หมุนเวียนจากการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่าง ๆ รวมถึงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ แต่ความไม่นอนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของรัฐบาลในอนาคต ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2562 เผชิญเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่สูงทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งส่งผลชัดเจนต่อทิศทางเศรษฐกิจในปี 2562 ถึงปี 2563 ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมจะพูดถึงในวันนี้ครับ
จากข้อมูลไตรมาสที่ 1/2562 ของ สศช. เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างชัดเจนโดยมีอัตราการขยายตัวของ GDP ร้อยละ 2.8 ลดลงจากการขยายตัวในปี 2561 (ร้อยละ 4.1) ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการชะลอตัวได้แก่ การลดลงของการส่งออก โดยมูลค่าการส่งออกสินค้า (ดอลล่าร์สหรัฐ) ในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน ลดลงร้อยละ -1.8 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ การท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของไทยในช่วงที่ผ่านมาก็มีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงต้นปีนี้เช่นเดียวกัน แม้ว่าอุปสงค์ภายนอกประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา แต่อุปสงค์ภายในประเทศ ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงปลายไป 2561 โดยในไตรมาสที่ 1 การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.6 และ 4.2 ตามลำดับ
แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 จะชะลอลงอย่างรวดเร็ว แต่จากการคาดการณ์ของหน่วยงานต่างๆ เช่น สภาพัฒน์ฯ (สศช.) ยังคงเชื่อว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้น ทั้งจากการส่งออกที่น่าจะปรับตัวในช่วงครึ่งหลังของปี และจากอุปสงค์ในประเทศที่น่าจะยังคงระดับการเดิบโตได้ใกล้เคียงกับในช่วงไตรมาสที่ 1 โดยค่าพยากรณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ฯ ล่าสุด GDP ประเทศไทยน่าจะเติบโตในช่วงร้อยละ 3.3 – 3.8 ซึ่งมาจากการเพิ่มของอุปสงค์ภายในประเทศที่สภาพัฒน์คาดว่า การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนทั้งปี 2562 จะเติบโตร้อยละ 4.2 และ 4.5 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม มุมมองของผมต่อเศรษฐกิจมหภาคจากการวิเคราะห์โดยแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคของ นิด้า จะมีความกังวลกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่น่าจะปรับตัวลงมากกว่าตัวเลขข้างต้น ซึ่งสาเหตุสำคัญจะมาจากการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ จากการยืดเยื้อในการจัดตั้งรัฐบาล และแนวโน้มการขาดเสถียรภาพของรัฐบาลที่มาจากทั้งคะแนนเสียงสนับสนุนรัฐบาลที่ใกล้เคียงกับฝ่ายค้านและความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงกระแสเรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ที่น่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี
ความไม่แน่นอนทางการเมืองนี้เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนภายในประเทศ ซึ่งทำให้น่าเห็นการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ การลดลงของการส่งออกมีผลต่อรายได้ครัวเรือนที่ส่งผลต่อทั้งการบริโภค และการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน เช่นกัน ดังนั้น ผมจึงคาดว่าในครึ่งหลังของปี อุปสงค์ภายในประเทศจะชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรก แม้ว่าการส่งออกอาจจะมีการปรับตัวดีขึ้นหากความขัดแย้งทางการค้าลดระดับความรุนแรงลงในช่วงครึ่งหลังของปี
ดังนั้น จากการพยากรณ์โดยแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคของนิด้า ผมคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะชะลอตัวลงมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ โดยคาดว่าในปี 2562 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.1 มาจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนร้อยละ 3.7 และการลงทุนภาคเอกชนที่น่าจะขยายตัวร้อยละ 3.1 ส่วนการค้าระหว่างประเทศ แม้ว่าจะคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและรายได้จากการท่องเที่ยวจะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 แต่จากปัญหาที่รุนแรงขึ้นในช่วงเดือน พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะมีผลกระทบต่อจีน ทำให้คาดว่าทั้งปี 2562 ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการน่าจะขยายตัวในอัตราเพียงร้อยละ 0.5
หากประเมินต่อเนื่องไปยังปี 2563 หากความไม่แน่นอนทางเมืองที่กล่าวถึงทั้งภายในประเทศไทย และระหว่างประเทศ ไม่รุนแรงมากขึ้น เศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ โดยคาดว่าน่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.5
ส่วนดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจในด้านอื่น ๆ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะทรงตัวใกล้เคียงกับในปี 2561 ที่เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับร้อยละ 1.1 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ในปี 2562 และปรับตัวเพิ่มเล็กน้อยในปี 2563 ที่ร้อยละ 1.3 เช่นเดียวกับเงินเฟ้อพื้นฐานที่น่าจะทรงตัวประมาณร้อยละ 0.6 – 0.7
จากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพ และเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวทำให้มีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดลงได้เป็นร้อยละ 1.50 โดยควรจับตามองตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 2 ซึ่งจะประกาศในช่วงกลางเดือนสิงหาคม หากมีการชะลอตัวต่อเนื่องและดัชนีชี้นำเศรษฐกิจต่าง ๆ ในไตรมาสที่ 3 ไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนกันยายน ถึง พฤศจิกายน โดยเฉพาะหากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วย น่าจะมีผลต่อการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยของธปท. เพราะจะเกิดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท โดยหาก ธปท มีการปรับอัตราดอกเบี้ย เช่นเดียวกับ FED จะทำให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบันซึ่งคาดว่าในปี 2562 ถึง 2563 ค่าเงินบาทน่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบันที่ 31-32 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ
จากปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวถึงข้างต้น จึงควรจับตามองสถานการณ์ว่าจะคลี่คลายลงหรือเลวร้ายมากขึ้น ซึ่งหากเหตุการณ์ความไม่แน่นอนที่กล่าวถึงยังไม่คลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจไทย จะมีผลต่อเศรษฐกิจที่อาจหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ข้างต้น ดังนั้น สุดท้ายผมหวังว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะยุติโดยเร็ว และเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มคลี่คลายในทางบวก และไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวถึงมากกว่าที่คาดการณ์ครับ