สงครามการค้า 4.0

ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th; santi_nida@yahoo.com

สงครามการค้า 4.0 สถานการณ์การค้าของโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ท้าทาย ระบบการค้าระหว่างประเทศของโลกที่มีองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่กำกับ ดูแล รวมทั้งให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับระเบียบ กติกาการค้าให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ก่อให้เกิดประโยชน์ในแง่การยกระดับมาตรฐานการครองชีพของทุก ๆ ประเทศที่เป็นสมาชิกให้สูงขึ้น (Improve Global Welfare) นอกจากนี้ ยังเพิ่มบทบาททางด้านการพัฒนา คือ ให้เป็นการค้าเพื่อการพัฒนา อีกด้วย ใช้การค้าเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการครองชีพ พยายามจะลบภาพลักษณ์ในอดีตของ GATT ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า เป็นการรวมกลุ่มหรือรวมตัวกันของประเทศร่ำรวยเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง (The rich man club) การขับเคลื่อนในแนวทางการของการค้าเพื่อการพัฒนานั้นมีรากเง้ามาจากฐานความคิดที่อธิบายว่า ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการค้านั้น (ซึ่งโดยปกติมักจะมองที่ความมั่งคั่งของประเทศ หรือ Wealth of nation เป็นสำคัญ) แล้วตั้งคำถามว่าต้องดำเนินนโยบายทางด้านการค้ากันอย่างไรจึงจะทำให้ประเทศเกิดความมั่งคั่งได้มากที่สุด (มีรายได้ มีความร่ำรวยมากขึ้น) โดยฝ่ายหนึ่งมีความคิดว่า การที่ประเทศจะมีความมั่งคั่งมากขึ้นได้นั้น ประเทศจำเป็นต้องมีการเกินดุลการค้า ประเทศคู่ค้าที่ขาดดุลด้วยจึงเป็นเป้าหมายหลักของการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ประโยชน์ของการค้าเกิดขึ้นจาก 1) อัตราการค้า (Terms of trade) ที่ดีขึ้นของประเทศ (สินค้าส่งออกของประเทศนั้นสามารถแลกเปลี่ยนกับสินค้านำเข้าได้ในอัตราที่ดีขึ้น) และ 2) การเพิ่มขึ้นความชำนาญเฉพาะด้าน หรือความเชี่ยวชาญ (Specialization) ดังนั้น ประโยชน์ของการค้าระหว่างประเทศจึงขึ้นอยู่กับปริมาณการค้า (หรือการแลกเปลี่ยนกันของสินค้าและบริการ) ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณการเกินดุลหรือขาดดุลของประเทศ และประโยชน์ของการค้าจะมีลักษณะเป็น Positive sum game ไม่ได้เป็น Zero sum game (หมายความว่า ถ้ามีปริมาณการค้าเกิดขึ้น หรือเพิ่มขึ้นประเทศคู่ค้ากันทั้งที่ขาดดุลและเกินดุลล้วนแต่ได้ประโยชน์จากการค้าหรือการแลกเปลี่ยนของสินค้านั้นด้วยกันทั้งสิ้น) ในช่วงเวลาที่ผ่านมาที่เป็นช่วงเวลาของการขยายตัวของการเปิดประเทศมากขึ้น การขยายตัวของการค้าเสรีในหลายประเทศ จนการเพิ่มขึ้นของปริมาณการค้าโลกกลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญหนึ่งของกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ช่วงระยะเวลาของการเบ่งบานของกระแสโลกาภิวัตน์ของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศจึงถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่แนวความคิดแบบอย่างหลังดูเหมือนจะมีชัยชนะเหนือแนวความคิดของกลุ่มแรก อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจะเกิดกระแสแนวความคิดที่ท้าทายแนวความคิดที่สนับสนุนแนวทางการเปิดเสรีทางการค้ากันในวงที่กว้างขึ้นและเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจโลกต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และยังมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นและเป็นปัญหาที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและแนวทางการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ และของโลกในช่วงทศวรรษต่อไป ซึ่งแรงสนับสนุนของความท้าทายเหล่านั้นมาจาก 1) แนวทางการเปิดเสรีนำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น (ลดความยากจน) แต่แนวทางดังกล่าวก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีบางคน หรือบางกลุ่มที่ได้รับประโยชน์มากกว่า หรือในบางสถานการณ์จะมีผู้เสียประโยชน์ (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ไม่สามารถปรับตัว หรือเปลี่ยนแปลงตนเองให้สามารถเข้าถึงโอกาสที่เกิดกว้างขึ้น ทำให้สูญเสียความได้เปรียบที่ตนเองเคยมีอยู่ และสูญเสียประโยชน์จากความได้เปรียบนั้นไป 2) เพื่อให้แนวทางการเปิดเสรีสามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบการค้าหรือการแลกเปลี่ยนนั้นจะต้องมีความเป็นธรรม (Fair) และมีการแข่งขัน ซึ่งก็มักจะเกิดขึ้นในหลาย ๆ ที่ว่า ประเทศหรือรัฐบาลไม่สามารถรับประกันการแข่งขันที่เป็นธรรมได้ ซ้ำร้ายภาครัฐเองในหลายประเทศ (อาจจะโดยความตั้งใจของผู้ดำเนินนโยบาย หรือความไม่ตั้งใจก็ตามแต่) เป็นต้นเหตุสำคัญของการสร้างให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ทั้ง 2 เหตุผลที่กล่าวถึงนี้เป็นเพียงบางส่วนของเชื้อเพลิงที่เติมเข้าไปในกองไฟให้เกิดกระแสแนวความคิดแบบชาตินิยม (Nationalism) เช่น แนวนโยบาย American first ของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มที่รู้สึกว่าตนเสียประโยชน์ ซึ่งก็ต้องยอมรับกันอีกเช่นกันว่ายังมีคนที่มีแนวความคิดไปในทางนี้ และสนับสนุนแนวทางแบบนี้อยู่อีกจำนวนมาก แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้วก็ตาม จะเห็นได้ว่า สาเหตุทั้ง 2 ประการที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นนำไปสู่อาการทางเศรษฐกิจที่สำคัญหนึ่งคือ  ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและต้องอาศัยระยะเวลา และนโยบายที่เหมาะสมในการแก้ไข แต่จะเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่นักการเมือง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่รัฐบาลไม่ค่อยมีเสถียรภาพ) จะไม่เลือกทำ แต่มักจะให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่า แนวนโยบายแบบชาตินิยมที่สัญญาว่า จะให้ผลประโยชน์กับคนเฉพาะกลุ่มในระยะสั้นจึงเปรียบเหมือนกับการรับประทานขนมหวานที่ทำให้รู้สึกอร่อย ได้พลังงานในระยะสั้น แต่อาจก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างรุนแรงได้ในอนาคต สงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก เป็นผลพวงของการอ้างความชอบธรรมจากกลุ่มผู้สนับสนุนที่เห็นว่าแนวทางการเปิดเสรีทำให้เสียประโยชน์ ในการใช้เครื่องมือ หรือมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศมาเป็นอาวุธในการทำร้าย และเจรจาต่อรองกับประเทศอื่นเพื่อสร้างความได้เปรียบ และผลประโยชน์ให้กับกลุ่มคนบางกลุ่มในประเทศ การเจรจาระหว่าง 2 ประเทศเพื่อยุติสงครามทางการค้าจึงกลายเป็นการเจรจาเพื่อต่อรองผลประโยชน์มากกว่าการเจรจาที่อยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ของประเทศโดยรวม และเป็นผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้นทั้งที่เป็นผลดีและผลเสียต่อประเทศใดประเทศหนึ่งในระยะสั้น (ในระยะยาว เศรษฐกิจโลกโดยรวมย่อมเกิดความเสียหายมากกว่าที่จะได้รับประโยชน์จากสงครามการค้า ที่ไม่ใช่คู่กรณีโดยตรงยังคงตอกย้ำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้กว้างมากขึ้น ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากสงครามการค้าในยุค 4.0 มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงมากกว่าในอดีตมาก เพราะนอกเหนือจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการขาดประสิทธิภาพ หรือสูญเสียผลประโยชน์จากการผลิตด้วยความชำนาญเฉพาะด้านแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคมจากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ขยายวงกว้างและมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงถึงขนาดทำให้เกิดสงครามหรือการต่อสู่เพื่อความอยู่รอดของแต่ละฝ่ายได้ นอกจากนี้ สงครามการค้าที่เกิดขึ้นยังเร่งให้การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยต้องตระหนักให้ดีว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition period) ที่สำคัญเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และในขณะเดียวกันก็ต้องปรับเปลี่ยนมาเน้นให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของภูมิภาคให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาเซียน การที่ประเทศไทยได้เป็นประธานอาเซียนในปีนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศจะได้ใช้โอกาสนี้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดประโยชน์ พยายามลดผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 ให้เหลือน้อยที่สุด และที่สำคัญอย่าเกิดโอกาสให้การดำเนินมาตรการของภาครัฐเองเป็นเงื่อนไขในการสร้างการผูกขาด เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และเพิ่มความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศ อย่างน้อยต้องไม่ลืมว่า ผลกระทบของสงครามการค้าในยุคนี้จะรุนแรง และกว้างขวางกว่าในอดีตมากเพราะโครงสร้างการผลิตและการค้าของโลกมีความเชื่อมโยงผ่านโครงข่ายมูลค่าโลก (Global Value Chain: GVC) ที่ผู้ดำเนินนโยบายต้องเข้าใจเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากโครงข่ายที่เกิดขึ้นนี้เพื่อการปรับตัวได้อย่างเหมาะสม ภาพข่าวที่มา : website posttoday.com

สงครามการค้า 4.0

ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
www.econ.nida.ac.th; santi_nida@yahoo.com

สงครามการค้า 4.0

สถานการณ์การค้าของโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ท้าทาย ระบบการค้าระหว่างประเทศของโลกที่มีองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่กำกับ ดูแล รวมทั้งให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับระเบียบ กติกาการค้าให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ก่อให้เกิดประโยชน์ในแง่การยกระดับมาตรฐานการครองชีพของทุก ๆ ประเทศที่เป็นสมาชิกให้สูงขึ้น (Improve Global Welfare) นอกจากนี้ ยังเพิ่มบทบาททางด้านการพัฒนา คือ ให้เป็นการค้าเพื่อการพัฒนา อีกด้วย ใช้การค้าเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการครองชีพ พยายามจะลบภาพลักษณ์ในอดีตของ GATT ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า เป็นการรวมกลุ่มหรือรวมตัวกันของประเทศร่ำรวยเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง (The rich man club)

การขับเคลื่อนในแนวทางการของการค้าเพื่อการพัฒนานั้นมีรากเง้ามาจากฐานความคิดที่อธิบายว่า ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการค้านั้น (ซึ่งโดยปกติมักจะมองที่ความมั่งคั่งของประเทศ หรือ Wealth of nation เป็นสำคัญ) แล้วตั้งคำถามว่าต้องดำเนินนโยบายทางด้านการค้ากันอย่างไรจึงจะทำให้ประเทศเกิดความมั่งคั่งได้มากที่สุด (มีรายได้ มีความร่ำรวยมากขึ้น) โดยฝ่ายหนึ่งมีความคิดว่า การที่ประเทศจะมีความมั่งคั่งมากขึ้นได้นั้น ประเทศจำเป็นต้องมีการเกินดุลการค้า ประเทศคู่ค้าที่ขาดดุลด้วยจึงเป็นเป้าหมายหลักของการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ประโยชน์ของการค้าเกิดขึ้นจาก 1) อัตราการค้า (Terms of trade) ที่ดีขึ้นของประเทศ (สินค้าส่งออกของประเทศนั้นสามารถแลกเปลี่ยนกับสินค้านำเข้าได้ในอัตราที่ดีขึ้น) และ 2) การเพิ่มขึ้นความชำนาญเฉพาะด้าน หรือความเชี่ยวชาญ (Specialization) ดังนั้น ประโยชน์ของการค้าระหว่างประเทศจึงขึ้นอยู่กับปริมาณการค้า (หรือการแลกเปลี่ยนกันของสินค้าและบริการ) ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณการเกินดุลหรือขาดดุลของประเทศ และประโยชน์ของการค้าจะมีลักษณะเป็น Positive sum game ไม่ได้เป็น Zero sum game (หมายความว่า ถ้ามีปริมาณการค้าเกิดขึ้น หรือเพิ่มขึ้นประเทศคู่ค้ากันทั้งที่ขาดดุลและเกินดุลล้วนแต่ได้ประโยชน์จากการค้าหรือการแลกเปลี่ยนของสินค้านั้นด้วยกันทั้งสิ้น)

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาที่เป็นช่วงเวลาของการขยายตัวของการเปิดประเทศมากขึ้น การขยายตัวของการค้าเสรีในหลายประเทศ จนการเพิ่มขึ้นของปริมาณการค้าโลกกลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญหนึ่งของกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ช่วงระยะเวลาของการเบ่งบานของกระแสโลกาภิวัตน์ของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศจึงถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่แนวความคิดแบบอย่างหลังดูเหมือนจะมีชัยชนะเหนือแนวความคิดของกลุ่มแรก

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจะเกิดกระแสแนวความคิดที่ท้าทายแนวความคิดที่สนับสนุนแนวทางการเปิดเสรีทางการค้ากันในวงที่กว้างขึ้นและเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจโลกต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และยังมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นและเป็นปัญหาที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและแนวทางการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ และของโลกในช่วงทศวรรษต่อไป ซึ่งแรงสนับสนุนของความท้าทายเหล่านั้นมาจาก

1) แนวทางการเปิดเสรีนำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น (ลดความยากจน) แต่แนวทางดังกล่าวก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีบางคน หรือบางกลุ่มที่ได้รับประโยชน์มากกว่า หรือในบางสถานการณ์จะมีผู้เสียประโยชน์ (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ไม่สามารถปรับตัว หรือเปลี่ยนแปลงตนเองให้สามารถเข้าถึงโอกาสที่เกิดกว้างขึ้น ทำให้สูญเสียความได้เปรียบที่ตนเองเคยมีอยู่ และสูญเสียประโยชน์จากความได้เปรียบนั้นไป

2) เพื่อให้แนวทางการเปิดเสรีสามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบการค้าหรือการแลกเปลี่ยนนั้นจะต้องมีความเป็นธรรม (Fair) และมีการแข่งขัน ซึ่งก็มักจะเกิดขึ้นในหลาย ๆ ที่ว่า ประเทศหรือรัฐบาลไม่สามารถรับประกันการแข่งขันที่เป็นธรรมได้ ซ้ำร้ายภาครัฐเองในหลายประเทศ (อาจจะโดยความตั้งใจของผู้ดำเนินนโยบาย หรือความไม่ตั้งใจก็ตามแต่) เป็นต้นเหตุสำคัญของการสร้างให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

ทั้ง 2 เหตุผลที่กล่าวถึงนี้เป็นเพียงบางส่วนของเชื้อเพลิงที่เติมเข้าไปในกองไฟให้เกิดกระแสแนวความคิดแบบชาตินิยม (Nationalism) เช่น แนวนโยบาย American first ของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มที่รู้สึกว่าตนเสียประโยชน์ ซึ่งก็ต้องยอมรับกันอีกเช่นกันว่ายังมีคนที่มีแนวความคิดไปในทางนี้ และสนับสนุนแนวทางแบบนี้อยู่อีกจำนวนมาก แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้วก็ตาม

จะเห็นได้ว่า สาเหตุทั้ง 2 ประการที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นนำไปสู่อาการทางเศรษฐกิจที่สำคัญหนึ่งคือ  ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและต้องอาศัยระยะเวลา และนโยบายที่เหมาะสมในการแก้ไข แต่จะเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่นักการเมือง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่รัฐบาลไม่ค่อยมีเสถียรภาพ) จะไม่เลือกทำ แต่มักจะให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่า แนวนโยบายแบบชาตินิยมที่สัญญาว่า จะให้ผลประโยชน์กับคนเฉพาะกลุ่มในระยะสั้นจึงเปรียบเหมือนกับการรับประทานขนมหวานที่ทำให้รู้สึกอร่อย ได้พลังงานในระยะสั้น แต่อาจก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างรุนแรงได้ในอนาคต

สงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก เป็นผลพวงของการอ้างความชอบธรรมจากกลุ่มผู้สนับสนุนที่เห็นว่าแนวทางการเปิดเสรีทำให้เสียประโยชน์ ในการใช้เครื่องมือ หรือมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศมาเป็นอาวุธในการทำร้าย และเจรจาต่อรองกับประเทศอื่นเพื่อสร้างความได้เปรียบ และผลประโยชน์ให้กับกลุ่มคนบางกลุ่มในประเทศ การเจรจาระหว่าง 2 ประเทศเพื่อยุติสงครามทางการค้าจึงกลายเป็นการเจรจาเพื่อต่อรองผลประโยชน์มากกว่าการเจรจาที่อยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ของประเทศโดยรวม และเป็นผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้นทั้งที่เป็นผลดีและผลเสียต่อประเทศใดประเทศหนึ่งในระยะสั้น (ในระยะยาว เศรษฐกิจโลกโดยรวมย่อมเกิดความเสียหายมากกว่าที่จะได้รับประโยชน์จากสงครามการค้า ที่ไม่ใช่คู่กรณีโดยตรงยังคงตอกย้ำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้กว้างมากขึ้น ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากสงครามการค้าในยุค 4.0 มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงมากกว่าในอดีตมาก เพราะนอกเหนือจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการขาดประสิทธิภาพ หรือสูญเสียผลประโยชน์จากการผลิตด้วยความชำนาญเฉพาะด้านแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคมจากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ขยายวงกว้างและมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงถึงขนาดทำให้เกิดสงครามหรือการต่อสู่เพื่อความอยู่รอดของแต่ละฝ่ายได้

นอกจากนี้ สงครามการค้าที่เกิดขึ้นยังเร่งให้การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยต้องตระหนักให้ดีว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition period) ที่สำคัญเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และในขณะเดียวกันก็ต้องปรับเปลี่ยนมาเน้นให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของภูมิภาคให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาเซียน การที่ประเทศไทยได้เป็นประธานอาเซียนในปีนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศจะได้ใช้โอกาสนี้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดประโยชน์ พยายามลดผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 ให้เหลือน้อยที่สุด และที่สำคัญอย่าเกิดโอกาสให้การดำเนินมาตรการของภาครัฐเองเป็นเงื่อนไขในการสร้างการผูกขาด เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และเพิ่มความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศ อย่างน้อยต้องไม่ลืมว่า ผลกระทบของสงครามการค้าในยุคนี้จะรุนแรง และกว้างขวางกว่าในอดีตมากเพราะโครงสร้างการผลิตและการค้าของโลกมีความเชื่อมโยงผ่านโครงข่ายมูลค่าโลก (Global Value Chain: GVC) ที่ผู้ดำเนินนโยบายต้องเข้าใจเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากโครงข่ายที่เกิดขึ้นนี้เพื่อการปรับตัวได้อย่างเหมาะสม

ภาพข่าวที่มา : website posttoday.com