เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยเรื่องของ “ฝุ่น PM 2.5”
ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์
ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า
www.econ.nida.ac.th; piriya.pholphirul.blogspot.com
เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยเรื่องของ “ฝุ่น PM 2.5”
คนไทยในเมืองใหญ่กำลังประสบกับปัญหาจากฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มีมากกว่าค่ามาตรฐานอันส่งผลต่อปัญหาทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคเรื้อรัง และลุกลามไปถึงโรงมะเร็งในปอด นอกจากมิติทางด้านวิทยาศาสตร์ที่พยายามอธิบายถึงปรากฏการณ์ของปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 นี้แล้ว เรายังสามารถใช้หลักการฝุ่นทางเศรษฐศาสตร์มาอธิบายปัญหาของฝุ่นละออง PM 2.5 นี้ได้หลายหลายมิติ
1) การเป็นสินค้าสาธารณะ (Public Goods) – เนื่องจากฝุ่นละอองเป็นเรื่องของสินค้าสาธารณะซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้ร่วมกันและได้รับผลกระทบด้วยกัน ดังนั้นการกระทำในกิจกรรมของบุคคลใดคนหนึ่งก็จะส่งผลต่อบุคคลอื่นๆ ตามมา (Externality) ยกตัวอย่างเช่น แหล่งกำเนิดของฝุ่นละออง PM 2.5 นี้จะมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลายต่างๆ เช่น การคมนาคม การเผาในที่โล่ง การก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงฝุ่นละอองที่ปลิวมาจากนอกประเทศ ด้วยสาเหตุที่เกิดขึ้นจากหลากหลายปัจจัยจึงส่งผลให้การจัดการสินค้าสาธารณะอย่างเช่นมลพิษทางอากาศนี้จึงไม่สามารถใช้กลไกตลาดในการจัดการได้ แต่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจจากภาครัฐเพื่อเข้ามาควบคุมดูแล แต่ทว่าในการที่ภาครัฐจะใส่ใจถึงปัญหานี้มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับว่า “ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ” มีความรู้หรือเปิดใจที่จะรับรู้ถึงปัญหานี้มากน้อยเพียงใด
2) ข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมบูรณ์ (Imperfect Information) – แน่นอนว่าฝุ่นละออง PM 2.5 นี้มีขนาดเล็กเพียงประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ หรือเล็กกว่าขนาดที่ขนจมูกของมนุษย์นั้นไม่สามารถกรองได้ ทำให้ฝุ่นละอองชนิดนี้สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้อย่างรวมเร็ว จนองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ PM 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็งอีกทั้งยังเป็นสาเหตุให้ 1 ใน 8 ของประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร สอดรับกับรายงานของธนาคารโลก (World Bank) ที่ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษในอากาศเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 50,000 ราย ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมพยายามออกมาเตือนถึงอันตรายดังกล่าว แต่คนไทยจำนวนมากยังไม่มีความรู้และไม่ได้รับทราบถึงปัญหาและอันตรายที่เกิดขึ้นกับตัวเองมากพอ
3) ปัญหาความเหลื่อมล้ำ (Inequality) – ด้วยความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าว จึงทำให้คนยากจนมีโอกาสในการได้รับฝุ่นพิษนี้มากกว่าคนรวย โดยเฉพาะคนยากจนในเมือง (Urban Poor) ที่ต้องทำงานภายนอกอาคาร ไม่ได้อยู่อาศัยในบ้านพักที่มีเครื่องปรับอากาศ และไม่สามารถเข้าถึงการปกป้องตัวเองอย่างถูกต้อง (เช่นการใส่หน้ากากอนามัย) ซึ่งปัญหาข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมบูรณ์นี้จะยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่คนจนจำต้องเป็น “ผู้รับเคราะห์” กับปัญหามากกว่าคนรวยอยู่เสมอ
4) การประเมินต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Cost) – เนื่องจากสาขาเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นสาขาที่ได้รับความสนใจมากนักในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ จึงทำให้ไม่มีงานวิชาการที่ทำการประเมินผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ของฝุ่นละออง PM 2.5 ออกมาในประเทศไทย แต่ถ้าเราไปดูงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ในต่างประเทศจะพบงานวิจัยที่ศึกษาหาผลกระทบและต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จากปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ออกมาจำนวนมาก โดยพบมากที่สุดกับงานศึกษาในกรณีของประเทศจีนที่เพิ่งผ่านพ้นปัญหาฝุ่นควันในเมืองใหญ่ ๆ ของประเทศ (เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้) ออกมาได้
เช่นงานศึกษาของ Hao และคณะ (2018) ที่ตีพิมพ์ใน Journal of Cleaner Production พบว่าการเพิ่มขึ้น 5 μg/m3 ของค่า PM 2.5 ในประเทศจีนจะส่งผลทำให้รายได้ต่อหัวลงลงประมาณ 2,500 หยวน ในขณะที่ Wang และคณะ (2016) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Technology ได้ทำการประเมินผลกระทบของ PM 2.5 ในกรุงปักกิ่งพบว่า ฝุ่นละอองที่มีค่า PM 2.5 สูงกว่ามาตรฐานที่เกิดขึ้นในกรุงปักกิ่งได้ส่งผลทำให้ประชากรเสียชีวิตก่อนวันอันสมควรประมาณ 20,043 คน และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรกว่าล้านคน และทำให้เศรษฐกิจของกรุงปักกิ่งต้องสูญเสียรายได้ประมาณ 1,287 ล้านหยวนจากปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้น งานศึกษาของ Hu และคณะ (2017) ที่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Science & Technology ได้ทำการศึกษาในกรณีของนครเซี่ยงไฮ้โดยพบว่า ถ้ารัฐบาลไม่ได้มีมาตรการควบคุมใด ๆ ปัญหาฝุ่นละอองนี้จะส่งผลให้ประชากรในมหานครเซี่ยงไฮ้ต้องเสียชีวิตประมาณ 192,400 คนในปี 2030 และสูญเสียชั่วโมงการทำงานประมาณ 72.1 ชั่วโมงต่อคนต่อปี และส่งผลทำให้สวัสดิการของประชาชนลดลงประมาณร้อยละ 3.14 เนื่องจากผลกระทบดังกล่าวจะตกอยู่กับภาคแรงงานมากกว่าภาคนายจ้าง ในขณะที่ถ้ารัฐบาลเซี่ยงไฮ้มีการจัดสรรงบประมาณในการดูแลปัญหาฝุ่นควันนี้ โดยจะใช้งบเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.76 ของรายได้ประชาชาติจะส่งผลให้เศรษฐกิจของเซี่ยงไฮ้จะขยายตัวได้ร้อยละ 1.01 ซึ่งผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นถึง “ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ” ที่ภาครัฐควรรีบเข้ามาแก้ไขปัญหาฝุ่นควันนี้
ด้วยปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ดังกล่าวข้างต้นถึงทำให้ภาครัฐมีแนวโน้มที่จะ 1) ไม่เข้าใจ 2) ไม่สนใจ และ 3) ไม่ทราบถึงความเร่งด่วนที่จะต้องรีบแก้ไขปัญหาฝุ่นควันที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ในทางตรงกันข้าม ภาครัฐเองกลับให้ความสำคัญในเรื่องของเศรษฐกิจเป็นหลักเพราะไปเกรงว่า ถ้ารีบทำอะไรนักท่องเที่ยวจะหายในขณะที่งานวิจัยล้วนแสดงให้เห็นชัดแล้วว่า นโยบายเพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศในระยะยาว จะส่งผลบวกต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งในบทความนี้คงไม่มีเนื้อที่พอในการอธิบายถึงแนวนโยบายการจัดการดังกล่าว