การกำหนดค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวสำหรับการใช้ประโยชน์จากอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย จังหวัดสระบุรี
[MBE,2552]
การกำหนดค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวสำหรับการใช้ประโยชน์จากอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย จังหวัดสระบุรี ศิริพร ริ้วไพโรจน์ |
บทคัดย่อ
อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ในจังหวัดสระบุรี ที่มีสถิติ
นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวสูงทุกปี อุทยานแห่งนี้ยังไม่มีการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติอย่างเป็น
ทางการ จึงไม่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแต่อย่างใด ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการมาจาก
งบประมาณที่ทางภาครัฐจัดสรรให้ น้ำตกเจ็ดสาวน้อยมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำกว้าง ไม่สูงชัน มีน้ำให้เล่น
ตลอดปี การเดินทางสะดวก ถนนใหญ่ตัดผ่านหน้าอุทยาน ปัจจุบันน้ำตกแห่งนี้กำลังประสบปัญหาแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม ด้วยสาเหตุหลายประการ ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าไปอย่างไม่มีขีดจำกัดก่อให้เกิดความแออัด กฎระเบียบของอุทยานถึงแม้จะมีป้ายประกาศข้อห้าม ข้อพึงปฏิบัติ และบทกำหนดโทษต่างๆ ประกาศไว้อย่างชัดเจนแต่ก็ถูกละเลย ดังจะเห็นว่านักท่องเที่ยวนำภาชนะโฟมเข้าไปในเขตอุทยาน นำอาหารลงไปรับประทานบริเวณโดยรอบน้ำตก มีการดื่มสุราจำนวนมาก และนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปบริเวณน้ำตก มูลสัตว์และเศษอาหารตกหล่นตามพื้นดินทำให้มีแมลงวันมาตอมเป็นที่มาของเชื้อโรคและมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ เศษแก้วและถุงพลาสติกลอยปะปนในแอ่งน้ำตก พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักท่องเที่ยวเหล่านี้ประกอบกับไม่มีการจัดระเบียบสถานที่ท่องเที่ยวที่ดี จึงส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและทำให้น้ำตกเจ็ดสาวน้อยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความแออัดและไม่สะอาด การศึกษาครั้งนี้จึงต้องการศึกษาการกำหนดค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวสำหรับการใช้ประโยชน์จากอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย จังหวัดสระบุรี โดยทำการประเมินมูลค่าใช้ประโยชน์ (Use Value)ของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวภายในอุทยาน (User) จำนวน 400 ตัวอย่าง โดยใช้วิธีสมมติสถานการณ์ให้ประเมินค่า (Contingent Valuation Method : CVM) ซึ่งเป็นวิธีประเมินมูลค่าสินค้าที่ไม่ได้ผ่านระบบตลาด เป็นการประเมินมูลค่าในรูปของตัวเงิน (Monetary Value) ของความเต็มใจจะจ่าย(Willingness to Pay) ในรูปของค่าธรรมเนียมเข้าอุทยาน ผลการศึกษาพบว่าระดับการศึกษาและรายได้ที่สูงขึ้นจะมีความสัมพันธ์ต่อความเต็มใจจะจ่ายเพื่อนำเงินรายได้มาทำนุบำรุงอุทยาน ผลการประมาณค่าความเต็มใจจะจ่ายเฉลี่ย (Mean WTP) ด้วยเทคนิคคำถามแบบปลายปิด (Closed Ended) แบบถามครั้งเดียว (Single Bounded) นักท่องเที่ยวมีความเต็มใจจะจ่ายเฉลี่ย เท่ากับ 32.42 บาทต่อคนต่อครั้ง มูลค่ารวมทางเศรษฐศาสตร์เท่ากับ 18.13 ล้านบาทต่อปี และความเต็มใจจะจ่ายสูงสุด (Maximum Willingness to Pay) ด้วยเทคนิคคำถามแบบปลายเปิด (Opened Ended) ได้เท่ากับ 25.83 บาทต่อคนต่อครั้ง มูลค่ารวมทางเศรษฐศาสตร์เท่ากับ 14.44 ล้านบาทต่อปี ค่าความเต็มใจจะจ่ายที่ได้นี้สามารถนำไปกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสูงสุดและต่ำสุดจากนักท่องเที่ยว โดยแบ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวออกเป็น 2 กลุ่ม 2 ราคา คือค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ใหญ่ 25 บาท สำหรับเด็ก 10 บาท การเก็บค่าธรรมเนียมอาจลดจำนวนนักท่องเที่ยวได้ส่วนหนึ่ง และทำให้อุทยานมีรายได้เป็นของตัวเองสำหรับบริหารจัดการ โดยไม่ต้องรองบประมาณภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว