ผลกระทบของการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตต่อรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนภาคการเกษตรของไทย การวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนศุภวรรณ กัลยา ณ โสธร |
บทคัดย่อ
การศึกษาในที่นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ด้านรายได้ และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนภาคการเกษตรใน 2 กลุ่ม ที่มีความสามารถในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และไม่มีความสามารถในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต โดยผู้วิจัยได้ใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยย้อนหลัง (SES) ประจำปี 2559 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผ่านการวิเคราะห์โดยสถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistic) ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติแบบ t-test และ One way ANOVA เพื่อทดสอบสมมติฐาน (Hypothesis Testing) จากการศึกษาพบว่าจากครัวเรือนภาคการเกษตรทั้งสิ้น 6,485 คน เป็นเพศหญิง จำนวน 1,727 คน เพศชาย 4,758 คน มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 55.48 ปี ในการวิเคราะห์ปัจจัยส่วนบุคคลพบว่า ตัวแปรที่ส่งผลต่อความสามารถในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ได้แก่ อายุ สถานภาพทางสังคม ภูมิภาคการศึกษา ระดับการศึกษา ประเภทของการทำการเกษตร และขนาดของครัวเรือน โดยจากข้อสังเกตของผู้วิจัยพบว่า ถึงแม้ว่ากลุ่มตัวอย่างจะเป็นครัวเรือนภาคการเกษตรในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด แต่การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติกลับพบว่า ภูมิภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ยังมีสัดส่วนการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของครัวเรือนภาคการเกษตรที่น้อยกว่าร้อยละ 40 นอกจากนี้ ทางด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจ พบว่า แนวโน้มของการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต มีผลต่อรายได้ของครัวเรือนที่แตกต่างกัน และยังส่งผลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของครัวเรือนภาคการเกษตรไทยที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 เช่นกัน แต่ทั้งนี้ไม่สามารถระบุทิศทางของผลกระทบ ว่าเป็นไปในทิศทางใด เป็นไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง เนื่องจากไม่ได้มีการนำแบบจำลองมาใช้ในการศึกษาวิจัยในครั้งนี้
คำสำคัญ : เกษตรกร , อินเตอร์เน็ต