การศึกษาอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงของกองทุนรวมอิสลาม
|
บทคัดย่อ
กองทุนอิสลามเป็นกองทุนรวมที่มีการลงทุนในกิจการที่อยู่ในกรอบชะรีอะฮ์ ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ของศาสนาอิสลาม ถือเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ออมทุกคนไม่ใช่เพียงแต่ชาวมุสลิมเท่านั้น การศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงของกองทุนรวมอิสลามตามนโยบายตราสารทุนในภูมิภาคอาเซียนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งเป็นวิกฤตที่ได้รับผลกระทบทั่วโลก เพื่อเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจสำหรับผู้ที่สนใจออมเงินผ่านกองทุนรวมอิสลาม นอกจากนี้ยังได้ทำการศึกษาผลการดำเนินงานตามมาตรวัดของ Sharpe, Treynor และ Jensen โดยนำมาเปรียบเทียบกับกองทุนรวมทั่วไปตามนโยบายเดียวกัน, FTSE Shariah Asean Index และ FTSE All World Asean Index (Benchmark) ทั้งนี้ขอบเขตของกองทุนรวมที่นำมาศึกษาเป็นกองทุนรวมที่จดทะเบียนและลงทุนในภูมิภาคอาเซียนทั้งหมด 48 กองทุน ผลการศึกษา พบว่า ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจฯ กองทุนรวมอิสลามมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่ากองทุนรวมทั่วไปตามนโยบายเดียวกัน และ FTSE AW Asean Index โดยกองทุนรวมอิสลามมีค่าความเสี่ยงรวมและความเสี่ยงที่เป็นระบบต่ำกว่ากองทุนรวมทั่วไป และ Benchmark หากพิจารณาด้านผลการดำเนินงานด้วยมาตรวัดทั้ง 3 มาตรวัด พบว่า กองทุนรวมอิสลามมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่ากองทุนรวมทั่วไป โดยมีเพียงมาตรวัด Treynor เท่านั้นที่มีค่าต่ำกว่า Benchmark แสดงให้เห็นว่า ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจกองทุนรวมอิสลามเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ออมทุกคน โดยผู้ออมสามารถเลือกกระจายความเสี่ยงได้โดยการออมผ่านกองทุนรวมอิสลามในพอร์ตการออม เพื่อลดความเสี่ยงทั้งในด้านของความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบและความเสี่ยงที่เป็นระบบ อย่างไรก็ตามการศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาเพียงวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ควรมีการศึกษาวิกฤตเศรษฐกิจอื่นเพิ่มเติม และเป็นการศึกษากองทุนรวมอิสลามตามโนบายตราสารทุนในภูมิภาคอาเซียนเท่านั้น อาจมีข้อมูลไม่เพียงต่อความต้องการของผู้ออมทุกคน หากมีการศึกษาหลากหลายนโยบายและภูมิภาคจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจออมผ่านกองทุนรวมอิสลามมากยิ่งขึ้น
คำสำคัญ: กองทุนรวมอิสลาม ภูมิภาคอาเซียน ผลตอบแทนและความเสี่ยง