การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินค้าเกษตรกับปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)นายกฤษณ์ คณิตนนท์ |
บทคัดย่อ
การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าสินเชื่อของ ธ.ก.ส. นั้นมีมากมายหลายโครงการ ซึ่งมีหลายโครงการที่เน้นไปที่การเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร เช่น การรับจำนำข้าวเปลือก การประกันราคาผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรลดลง ดังนั้น การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินค้าเกษตร กับปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ของ ธ.ก.ส. ด้วยข้อมูล Panel Data จำนวน 288 จุดข้อมูล โดยแบ่งพื้นที่ในการเก็บข้อมูลตามเขตการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ทั้งหมด 9 ภูมิภาค ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2551 ถึงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 รวม 32 ไตรมาส โดยผลการศึกษาจากสมการที่มีตัวแปรตามคือ ปริมาณของหนี้ NPLs ของเกษตรกร และตัวแปรอิสระ ได้แก่ สัดส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรของผลิตผลหลักของเกษตรกร คือ ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ปริมาณของสินเชื่อของเกษตรกรในปีที่ผ่านมา และผลิตภัณฑ์มวลรวมระดับภูมิภาคที่แท้จริง ที่ถูกประมาณการด้วยวิธี Random effect model แสดงให้เห็นว่าราคายางพาราและมันสำปะหลังมีความสัมพันธ์กันในทิศทางเดียวกัน ส่วนราคาข้าวไม่มีนัยสำคัญทางสถิติในการศึกษาครั้งนี้ โดยตัวแปรหุ่นที่ระบุไว้ในสมการเพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคของประเทศไทยนั้น พบว่า ภาคตะวันออกและภาคใต้มีผลกระทบต่อปริมาณหนี้ NPLs ของเกษตรกรมากที่สุด ในทิศทางตรงกันข้าม
คำสำคัญ: หนี้สินเกษตรกร, NPLs, ราคาข้าว, ราคายางพารา, ราคามันสำปะหลัง, ธ.ก.ส.