การวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางการเงิน และเศรษฐกิจ ของโครงการผลิตไฟฟ้า เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ จากระบบบำบัดน้ำเสียในฟาร์มสุกร ด้วยระบบ Hybrid Covered Lagoon

การวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางการเงิน และเศรษฐกิจของโครงการผลิตไฟฟ้า เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ
จากระบบบำบัดน้ำเสียในฟาร์มสุกร ด้วยระบบ Hybrid Covered Lagoon

การวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางการเงิน และเศรษฐกิจของโครงการผลิตไฟฟ้า เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ
จากระบบบำบัดน้ำเสียในฟาร์มสุกร ด้วยระบบ Hybrid Covered Lagoon

ประวิทย์ สุแก้ว

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาความคุ้มค่าของการลงทุน และผลตอบแทนทางด้านการเงิน และเศรษฐกิจ ของโครงการก๊าซชีวภาพในฟาร์มสุกร ขนาดต่างๆ ในประเทศไทย ด้วยระบบ Hybrid Covered Lagoon เปรียบเทียบกันใน 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 เป็นการศึกษาโครงการที่ให้ผลตอบแทนในรูปของกระแสไฟฟ้าที่ประหยัดได้ และปุ๋ยชีวภาพ รูปแบบที่ 2 เป็นการศึกษาโครงการที่ให้ผลตอบแทนในรูปของการเทียบเท่าน้ำมันเตาที่ประหยัดได้ และปุ๋ยชีวภาพ และรูปแบบที่ 3 เป็นการศึกษาโครงการที่ให้ผลตอบแทนในรูปของกระแสไฟฟ้าที่ประหยัดได้, ปุ๋ยชีวภาพ และค่ากำจัดก๊าซเรือนกระจก (CDM) ใน 3 ขนาด ซึ่งวัดตามจำนวนสุกรขุน ได้แก่ขนาด 1,000 ตัว, 5,000 ตัว และ 10,000 ตัว โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติงานในฐานะวิศวกรออกแบบ และที่ปรึกษาโครงการให้กับลูกค้าของผู้วิจัยเอง ก่อนที่จะนำมาคำนวณทางวิศวกรรม ร่วมกับการคำนวณทางการเงิน และเศรษฐศาสตร์ เพื่อจัดทำงบการเงินต่างๆ เช่น งบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด และทำให้ได้ทราบถึงต้นทุนของกิจการ อันเกิดจากค่าใช้จ่ายประเภทต่างๆ ไปจนถึงผลตอบแทนที่ได้รับ ในรูปของงบกระแสเงินสด หลังจากนั้นจึงนำมาวิเคราะห์ตัวชี้วัดทางการเงินต่างๆ ได้แก่ มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value ; NPV), อัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุน (Benefit-Cost Ratio ; BCR), ระยะเวลาคืนทุน (Discount Payback Period ; DPB) และอัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return ; IRR) รวมทั้งการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ การวิเคราะห์ความอ่อนไหว โดยการทดสอบการแปรเปลี่ยนทั้งด้านต้นทุน และผลตอบแทน (Switching Value Test) รวมไปถึงการวิเคราะห์ผลของการเปลี่ยนแปลงตัวแปรภายนอก ที่มีต่อตัวชี้วัดทางการเงินต่างๆ ข้างต้น ซึ่งผลการวิเคราะห์ทางการเงินในภาพรวม บ่งชี้ว่า โครงการทุกขนาด มีความเป็นไปได้ หรือเหมาะสมต่อการลงทุน โดยระดับความคุ้มค่าจะแปรผันโดยตรงตามขนาดของโครงการ กล่าวคือ ฟาร์มขนาดใหญ่ จะมีความคุ้มค่ามากกว่าฟาร์มที่มีขนาดเล็กกว่า (ดังที่แสดงในตารางสรุปผลการวิเคราะห์ทางการเงิน และเศรษฐกิจ ในภาคผนวก) อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจนี้ ทำให้ทราบเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีโครงการที่ให้ผลตอบแทนในรูปของกระแสไฟฟ้าที่ประหยัดได้ และปุ๋ยชีวภาพ ที่มีจำนวนสุกรขุนไม่เกิน 1,000 ตัว พบว่า หากค่ากระแสไฟฟ้าต่ำกว่า 2 บาท/Unit และราคาปุ๋ยชีวภาพต่ำกว่า 51 บาท โดยประมาณ จะทำให้โครงการไม่น่าลงทุน เนื่องจากมีค่า NPV ที่เป็นลบ (-18,298 บาท) ในขณะที่มีระยะเวลาคืนทุน มากกว่า 15 ปี ซึ่งนานกว่าอายุโครงการ รวมทั้งมีค่า IRR เท่ากับ 5.19% ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนเงินทุนของโครงการ

ผลการศึกษาจากงานวิจัยนี้ น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ลงทุน หรือผู้ร่วมลงทุน ทั้งที่เป็นเจ้าของ และไม่ได้เป็นเจ้าของโดยตรง สำหรับกิจการฟาร์มสุกร หรือฟาร์มปศุสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่มีคุณลักษณะ และปริมาณน้ำเสียที่ใกล้เคียงกัน ในการนำไปพิจารณาในแง่เศรษฐศาสตร์ ประกอบการตัดสินใจลงทุนทำระบบก๊าซชีวภาพนี้ต่อไป