การประเมินและเปรียบเทียบต้นทุนการพัฒนาบุคลากรจากการให้ทุนการศึกษากับการจ้างพนักงานใหม่: กรณีศึกษาหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านการเงินทัศน์โฉม สวิง |
บทคัดย่อ
ทุกองค์กรให้ความสำคัญกับการพัฒนาและบริหารจัดการทุนมนุษย์ (human capital) เพื่อรองรับธุรกิจ
ในอนาคตและทดแทนอัตรากำลังแบบคู่ขนาน (dual modes human capital planning) จึงได้มีการทบทวนและปรับปรุงระบบการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและสร้างความได้เปรียบในเชิงแข่งขันแต่ยังไม่เคยมีการศึกษาและสำรวจในเชิงต้นทุนมาก่อน และจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันมีความผันผวนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยองค์กรจึงมีนโยบายที่มุ่งเน้นการให้บริการในยุคดิจิทัล ประกอบกับการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย เพื่อรักษาผลประกอบการขององค์กรจึงต้องคำนึงถึงต้นทุนที่องค์กรลงทุนไปในกระบวนการต่าง ๆ ผู้ศึกษาจึงได้ทำการศึกษาต้นทุนที่ใช้ในการพัฒนาบุคลากรจากการให้ทุนการศึกษาพนักงานปัจจุบันและการจ้างพนักงานใหม่จนมีความพร้อมในการปฏิบัติงานเพื่อเป็นกำลังสำคัญและทันต่อการแข่งขัน โดยกำหนดให้ผลตอบแทนที่ได้รับจากพนักงานสองกลุ่มนี้เท่ากัน คือสามารถปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ว่างนั้นได้ด้วยวุฒิการศึกษาปริญญาโทในสายงานที่องค์กรต้องการ งานวิจัยแบ่งต้นทุนออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) ต้นทุนทางตรง 2) ต้นทุนทางอ้อม 3) ต้นทุนรวม ที่ปรับให้เป็นมูลค่าปัจจุบันเพื่อตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด จากนั้นจึงนำมาเปรียบเทียบกันด้วยการวิเคราะห์ต้นทุนสัมฤทธิ์ผล (cost-effectiveness analysis) ซึ่งใช้สำหรับวิเคราะห์ผลตอบแทนที่ไม่สามารถตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้โดยง่ายผลการศึกษาพบว่า ต้นทุนรวมของการจ้างพนักงานใหม่มีต้นทุนที่ต่ำสุด คือ 600,785.91 บาทต่อคนรองลงมาการพัฒนาบุคลากรจากการให้ทุนการศึกษาในหลักสูตรด้านการจัดการ 755,565.34 บาทต่อคนหลักสูตรด้านการเงิน 774,312.33 บาทต่อคน และหลักสูตรด้านการตลาด 779,874.35 บาทต่อคน ตามลำดับ จากนั้นจึงวิเคราะห์ความอ่อนไหวของการลงทุน (sensitivity analysis) ด้วยการปรับค่าประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง (productivity loss) ของทั้งสองแนวทาง โดยให้ต้นทุนอื่นคงที่ พบว่า การปรับค่า productivity loss ลดลงส่งผลให้ต้นทุนรวมลดลงสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน และจากการปรับหลักเกณฑ์การให้ทุนการศึกษาพนักงาน เพื่อให้องค์กรมีบุคลากรที่มีทุนมนุษย์พร้อมตอบสนองต่อสภาวการณ์ได้อย่างทันท่วงที ส่งผลให้ต้นทุนทางตรงด้านเงินเดือน/โบนัสลดลง อีกทั้งการปรับค่า productivity loss ของพนักงานทุนที่ปรับหลักเกณฑ์ใหม่ทุกหลักสูตร พบว่า หลักสูตรด้านการจัดการหากปรับลดค่า productivity loss= 0 สามารถทำให้ต้นทุนการพัฒนาบุคลากรจากการให้ทุนการศึกษาลดลงเหลือ 593,898.38 บาทต่อคน ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการจ้างพนักงานใหม่ 600,785.91 บาทต่อคนได้
สมมติฐานสำคัญของงานวิจัย คือการกำหนดให้ผลตอบแทนพนักงานทั้งสองแนวทางเหมือนกันและแม้ว่าการจ้างพนักงานใหม่จะมีต้นทุนรวมที่ต่ำกว่าการพัฒนาบุคลากรจากการให้ทุนการศึกษาแต่งานวิจัยนี้ยังไม่ได้ศึกษาถึงผลตอบแทนอื่น ๆ โดยเฉพาะการพิจารณาถึงความก้าวหน้าในอาชีพที่บางองค์กรอาจพิจารณาจากผลงานและอายุงานที่มากกว่าเพื่อเลื่อนตำแหน่ง ทุนมนุษย์ ประสบการณ์การทำงาน รวมถึงความรัก ความผูกพันที่พนักงานมีต่อองค์กร ซึ่งมีความได้เปรียบมากกว่าพนักงานที่จ้างใหม่ ในทางกลับกันองค์กรจะได้รับผลตอบแทนอื่น ๆ จากพนักงานใหม่ได้ คือ กระบวนการทำงาน และแนวความคิดใหม่ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะตีมูลค่าได้ยากหรือที่เรียกว่า ต้นทุนและผลตอบแทนแฝง (implicit costs and benefits)ที่ต้องวัดมูลค่าโดยอ้อม ไม่สามารถวัดมูลค่าโดยตรง งานวิจัยนี้ผู้ศึกษาจึงไม่ได้นำมารวมคำนวณ แต่เป็นสิ่งที่องค์กรต้องคำนึง ดังนั้นหากนำผลตอบแทนดังกล่าวมาพิจารณาด้วยแล้ว การให้ทุนการศึกษาพนักงานอาจจะคุ้มค่ามากกว่าการจ้างพนักงานใหม่ก็เป็นไปได้เช่นกัน
คำสำคัญ: ต้นทุน, การวิเคราะห์ต้นทุนสัมฤทธิ์ผล, การวิเคราะห์ความอ่อนไหว, ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง