Skip to content
ดินแดนอาทิตย์อุทัยกับการท่องเที่ยวฮาลาล
ผศ.ดร. ศรัณย์ ศานติศาสน์
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
www.econ.nida.ac.th; ssarntisart@hotmail.com
ดินแดนอาทิตย์อุทัยกับการท่องเที่ยวฮาลาล
หลังจากไม่ได้ไปประเทศญี่ปุ่นมาหลายปี เมื่อสองเดือนที่แล้วผมมีโอกาสไปนำเสนองานวิจัยที่กรุงโตเกียว ระหว่างอยู่ที่นั่นสังเกตว่า ไม่ว่าจะที่สนามบิน ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ หรือสถานีรถไฟโตเกียวได้จัดห้องละหมาดสำหรับมุสลิมไว้ นอกจากนี้ หากค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตก็จะพบร้านสะดวกซื้อที่มีผลิตภัณฑ์ฮาลาลหรือร้านอาหารญี่ปุ่นที่มุสลิมสามารถทานได้ไม่ยาก เนื่องจากผมพักอยู่แถวชินจุกุจึงตัดสินใจลองเดินไปทานร้านราเม็งฮาลาลซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พัก ผมไปถึงก่อนหกโมงเย็นจึงมีลูกค้านั่งทานอยู่ไม่กี่โต๊ะ เชฟเป็นคนญี่ปุ่น ส่วนพนักงานคนอื่นเป็นนักศึกษามุสลิมจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย บังคลาเทศ จีน และอุซเบกิสถาน หลังจากนั่งได้ไม่นานก็เริ่มเห็นมีคนมาต่อคิวยาวหน้าร้านทั้งคนญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวมุสลิม น้องพนักงานเล่าให้ฟังว่ากิจการดำเนินไปได้ดีมากจนเจ้าของซึ่งเป็นคนญี่ปุ่นตัดสินใจเปิดสาขาที่สองแล้ว น่าสนใจว่าประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีประชากรประมาณ 128 ล้านคน แต่มุสลิมเพียงหนึ่งแสนคนหรือราวร้อยละ 0.08 ทำไมจึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับมุสลิมที่ค่อนข้างดีเช่นนี้
ภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่โทโฮกุในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งก่อให้เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ขึ้นและผลกระทบต่อเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งรวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปีก่อนเกิดเหตุการณ์ รัฐบาลจึงตัดสินใจยกเลิกหรือลดความเข้มงวดเกณฑ์การขอวีซ่าให้กับหลายประเทศรวมทั้งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
ด้วยเหตุนี้ประจวบกับตลาดการท่องเที่ยวของโลกที่กำลังเติบโตจึงมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย และตะวันออกกลางซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงเดินทางมายังดินแดนอาทิตย์อุทัย หากเปรียบเทียบกับสิบปีที่แล้วจำนวนนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียและอินโดนีเซียได้เพิ่มขึ้นมากกว่าสี่เท่า ด้วยอัตราการเกิดที่สูงกว่าและอายุเฉลี่ยประชากรที่น้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ รวมทั้งจำนวนชนชั้นกลางที่ขยายตัวและมีรายได้สูงขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวมุสลิมหรือการท่องเที่ยวฮาลาล (Halal Tourism) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจฮาลาล (Halal Economy) มีศักยภาพในการเติบโต มูลค่ามหาศาล และเป็นที่จับตามองของหลายประเทศรวมทั้งประเทศญี่ปุ่น
จากรายงานของ Mastercard-Crescentrating จำนวนนักท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลกในปีที่ผ่านมามีจำนวน 131 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 121 ล้านคนในปี พ.ศ. 2559 การใช้จ่ายรวมกว่า 200 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีการคาดการณ์ว่าภายในอีกสองปีข้างหน้าจำนวนนักท่องเที่ยวมุสลิมจะเพิ่มขึ้นเป็น 156 ล้านคนหรือร้อยละ 10 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดทั่วโลก โดยประเทศที่มุสลิมนิยมไปท่องเที่ยวสามอันดับแรก ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
คำว่า ฮาลาล แปลว่าสิ่งที่ศาสนาอนุมัติ นอกจากเรื่องของอาหารแล้ว ฮาลาลยังครอบคลุมไปถึงหลักในการดำเนินชีวิตในด้านต่าง ๆไม่ว่าจะเรื่องของการแต่งกาย การเงินการธนาคาร และการท่องเที่ยว หากประเทศใดต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวมุสลิมหรือได้ชื่อว่าเป็นประเทศซึ่งการท่องเที่ยวเป็นมิตรต่อมุสลิม (Muslim-Friendly Tourism) ประเทศนั้นจึงควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ว่าจะอาหารฮาลาล สถานที่ละหมาด ร้านสะดวกซื้อที่มีผลิตภัณฑ์ฮาลาลขาย หรือแม้แต่โรงแรมฮาลาลที่ไม่เสิร์ฟเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือมีสถานบันเทิงที่ผิดหลักการของศาสนา
รัฐบาลญี่ปุ่นได้เอาจริงกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวฮาลาลโดยดูได้จากการที่ได้รับรางวัลอันดับหนึ่ง Emerging Halal Destination 2016 ญี่ปุ่นยังมีเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวมุสลิมในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่จะเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเป็นหนึ่งล้านคนหรือร้อยละ 4 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดจากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 กว่า รัฐบาลได้จัดให้มีร้านอาหารฮาลาลและห้องละหมาดกว่า 150 แห่งตามสนามบิน สถานีรถไฟและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีการส่งเสริม ให้เงินอุดหนุน และให้ความรู้แก่ภาคธุรกิจเกี่ยวกับหลักการฮาลาลขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมมุสลิม และการขอตราฮาลาล นักธุรกิจญี่ปุ่นเองก็ให้ความสนใจเป็นอย่างดี มีการเปิดทัวร์ฮาลาลที่เมืองโอซาก้า โรงแรมฮาลาลแห่งแรกใกล้ภูเขาไฟฟูจิ และอุตสาหกรรมเนื้อวากิวฮาลาลก็กำลังเริ่ม
เมื่อเร็วๆนี้ได้มีการจัดมัสยิดเคลื่อนที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักกีฬาจากประเทศมุสลิมที่เริ่มเข้ามาซ้อมเพื่อเตรียมตัวสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เมื่อปีที่แล้วได้มีการจัดงาน Halal Expo Japan โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น และองค์กรการค้า เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร แฟชั่น และการท่องเที่ยวฮาลาลของประเทศ นอกจากด้านการท่องเที่ยวแล้วรัฐบาลญี่ปุ่นยังมีเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนนักศึกษามุสลิมที่ในปัจจุบันมีอยู่เกือบหนึ่งหมื่นคนทั่วประเทศ ทำให้มหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งให้ความสำคัญกับการมีสิ่งอำนวยความสะดวกดังที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้
ถึงแม้ประเทศไทยจะค่อนข้างนำหน้าญี่ปุ่นในด้านเศรษฐกิจฮาลาลโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องหมายฮาลาลซึ่งญี่ปุ่นมาเรียนรู้จากเรา แต่ผมคิดว่ามีหลายๆอย่างที่เราสามารถเรียนรู้จากเขาไม่ว่าจะในเรื่องการท่องเที่ยวฮาลาลหรือการส่งเสริมจากภาครัฐ อย่างที่เราทราบกันครับว่าหากญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายอะไรไว้แล้ว เขาจะเอาจริงเพื่อพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมายนั้นครับ