ระบบขนส่งมวลชนกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของเทคโนโลยี (Technology Disruption)

ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

www.econ.nida.ac.th; santi_nida@yahoo.com

ระบบขนส่งมวลชนกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของเทคโนโลยี (Technology Disruption)

คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงของเทคโนโลยี นำไปสู่การคิดค้นและการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งหลายอย่างหรือโดยส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของคนในสังคม เรียกว่า เป็นชีวิตที่มีความทันสมัยมากขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น หรือจะบอกว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็คงจะปฏิเสธได้ยากเช่นกันว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีนั้นมีผลกระทบกับผู้คนแตกต่างกัน รวมทั้งแต่ละคนก็มีขีดความสามารถในการรับมือ หรือใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ได้แตกต่างกัน ซึ่งคงจะได้หาโอกาสมาชวนคุยในประเด็นเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางด้านเทคโนโลยีในครั้งต่อ ๆ ไป
ในบทความนี้ อยากจะหยิบยกประเด็นการเดินทางของคนในเขตเมือง (ซึ่งในที่นี่หมายถึงเมืองใหญ่) ซึ่งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีระบบการบริการขนส่งมวลชน คือ ขนส่งผู้โดยสารได้คราวละมาก ๆ และมีต้นทุนค่าขนส่งต่ำ (ค่าโดยสารของระบบการขนส่งมวลชนก็ควรจะต่ำด้วย หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ควรจะแพงกว่าการเดินทางด้วยรูปแบบอื่น) การพัฒนาระบบการขนส่งมวลชนนั้น มีมิติทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมหลายมิติด้วยกันที่จะต้องคำนึงถึง และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีขึ้น ก็เป็นเหตุให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบการขนส่งมวลชนต้องปรับตัว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสถานการณ์การขนส่งมวลชนของ กทม ในปัจจุบัน จำเป็นต้องมีการบูรณาการระบบการขนส่งมวลชนเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ มีความสะดวก และลดปัญหาการจราจรที่คับคั่งลง

ระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานครมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากทั้งทางด้านอุปสงค์ คือ ความต้องการเดินทางของผู้คนที่อยู่ในเขตเมือง ซึ่งไม่ใช่มีแต่เพียงประชากรที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึง “ผู้มาเยี่ยมเยือน” (คือ ไม่ได้อยู่อาศัยใน กทม)  โดยในเชิงปริมาณมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตมาก และระยะทางของการเดินทางโดยเฉลี่ยของคนใน กทม ก็เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตมากด้วย ความคับคั่งของการจรจารในเขตเมืองทำให้เกิดความเสียหายหลักอย่างน้อย 2 ประการ คือ 1) ต้นทุน (ทั้งเงินและเวลา) ของผู้เดินทางใน กทม เพิ่มขึ้น และ 2) ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจากมลพิษที่เกิดขึ้นจากการเดินทาง ขนาดของความเสียหายเมื่อคำนวณออกมาในรูปตัวเงินเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการตัดสินใจพัฒนาระบบการขนส่งมวลชนของเมืองอย่าง กทม

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางด้านอุปสงค์ของการเดินทางยังแปรเปลี่ยนไปตามรูปแบบทางเลือกของการเดินทางด้วย (Mode of transportation) โดยในส่วนนี้ก็จะมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านอุปทานของการเดินทางในเขตเมือง ซึ่งหมายถึง ปริมาณและรูปแบบการให้บริการการขนส่งในเขตเมือง (ต่อไปในอนาคต การพิจารณาเรื่องการขนส่งในเขตเมืองอาจจะต้องพิจารณาแยกกันระหว่างการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสิ่งของ แต่สำหรับบทความนี้จะมุ่งเน้นในส่วนของการขนส่งผู้โดยสารเท่านั้น)

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีส่งผลกระทบทั้งต่อทางด้านอุปสงค์และอุปทานของการขนส่งมวลชนใน กทม จนเป็นเหตุให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการขนส่งมวลชนของ กทม ที่จะต้องมีการวางแผนกันในเชิงบูรณาการ และต้องมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลในการกำหนดแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของ กทม เช่น ถ้าจะถามว่ามองไปข้างหน้าอีก 10 ปี ระบบขนส่งมวลชนของ กทม น่าจะ หรือควรจะต้องมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างไปจากในปัจจุบันอย่างไร? บทบาท หน้าที่ ของระบบการขนส่ง ได้แก่ ระบบราง ถนน (หรือระบบรถประจำทาง รถตู้ วินมอเตอร์ไซด์ รวมทั้งรถบริการสาธารณะอื่นๆ) ควรจะเป็นอย่างไร? ระบบการขนส่งทางเรือ (แม่น้ำ และคลอง) ควรจะเป็นอย่างไร? เหล่านี้เป็นคำถามพื้นฐานสำหรับการกำหนดวิสัยทัศน์เพื่อการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของ กทม ซึ่งการกำหนดวิสัยทัศน์นี้ ก็จะเป็นกรอบโครงสร้าง (Framework) สำหรับการตัดสินใจในส่วนอื่น ๆ ต่อไปที่สำคัญ อาทิเช่น การเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางด้านการจัดหาพาหนะ (รถ รถเมล์ เรือ ฯลฯ) การวางระบบการขนส่งมวลชนให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของเมือง ซึ่งอาจจะช่วยบรรเทาปัญหาทางด้านการจราจรใน กทม ลงไปได้บ้าง (ผู้เขียนมีความเชื่อโดยส่วนตัวว่าควจะไม่สามารถแก้ หรือขจัดปัญหาการจราจรของ กทม ให้หมดไปได้ เพราะ กทม เป็นเมืองขนาดใหญ่ที่อย่างไรเสียก็คงต้องปัญหาการจรจาจร้ป็นปกติอยู่แล้ว) ฯลฯ

ถ้าจะยกตัวอย่างให้เฉพาะเจาะจงลงไปอีกก็อย่างเช่น กรณีการให้บริการเดินรถประจำทางของ ขสมก ที่ไม่แน่ใจว่ามีการวางแผนกันอย่างไรว่าระบบรถเมล์นั้นจะยังคงเป็นช่องทางการให้บริการขนส่งมวลชนเป็นช่องทางหลักเหมือนเดิมหรือไม่ หรือจะมีการปรับเปลี่ยนบทบาทไปทำหน้าที่อื่นมากขึ้นเมื่อมีระบบรางที่กำลังสร้าง กำลังขยายเส้นทางให้ครอบคลุมมากขึ้น รถเมล์อาจควรจะหันมาให้ความสนใจกับการเป็นผู้บริการเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อของระบบรางมากกว่า (Feeder) ถ้าเป็นอย่างนั้น ประเภทของรถเมล์ที่เหมาะสมเพื่อกาสให้บริการในลักษณะนี้ควรจะเป็นอย่างไร? ระบบการเดินรถควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่? ควรจะเปลี่ยนไปกำหนดเส้นทางเดินรถให้สั้นลง เพื่อให้สามารถกำหนดตารางการเดินทางของรถได้ ผู้ใช้บริการทราบได้ว่ารถเมล์ในเส้นทางสายใดจะมาถึงป้ายจอดรถเมล์เวลาเท่าไหร่ และจะเดินทางถึงจุดหมายปลายทางเมื่อไหร่?

ประเด็นปัญหาเหล่านี้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ผู้เดินทางตัดสินใจเลือกที่จะไม่ใช้บริการขนส่งมวลชน (ถ้าไม่จำเป็น) แม้ว่ารัฐจะพยายามอุดหนุนให้ค่าบริการต่ำเพียงใด จนเป็นการสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาเพิ่มเติมโดยไม่มีความจำเป็นจากการพยายามไปกำหนดราคา และบังคับให้ราคาต่ำ หน่วยงานอย่าง ขสมก ก็อึดอัด บริหารงานลำบาก หนักเข้ายังต้องเผชิญกับภาระความเป็นหนี้ที่นับวันจะพอกพูนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนแทบจะไม่เห็นทางว่าหนี้นั้นจะลดลงได้อย่างไร รัฐจะโอบอุ้มไปได้อีกนานแค่ไหน จะเห็นได้ว่า เรื่องการพัฒนาและบริหารจัดการระบบขนส่งของ กทม นั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่มีประเด็นหลากหลาย ในหลายประเด็นยังจำเป็นต้องอาศัยการศึกษา วิจัย ค้นคว้าเพื่อให้คำตอบที่เหมาะสมอีกมาก มากกว่าเพียงแค่ว่าจะจัดซื้อรถเมล์อีกกี่คัน จะต้องทำการจัดซื้อจัดจ้างให้ได้โดยเร็วเพียงเท่านั้น

ในขณะที่เราวนเวียนอยู่กับเรื่องว่าจะจัดซื้อรถเมล์อีกกี่คันให้ได้เนื่องจากเกิดความล่าช้า โดยตัวของมันเองก็มีปัญหา เช่น มีความพยายามจะจัดซื้อรถเมล์ที่ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงมาใช้ ซึ่งก็วิเคราะห์ศึกษากันมาตั้งแต่เมื่อครั้งจะทำโครงการ ซึ่งราคาน้ำมันแพง (ราคาน้ำมันแพงกว่าราคาแก๊ส) เอาเข้าจริงไม่รู้ว่าจริงเท็จแค่ไหนที่รถเมล์ใช้แก๊สจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่ารถเมล์ใช้น้ำมัน ก็เปรียบเทียบกันมาแบบนั้น แต่เมื่อมันมีปัญหาจนทำให้เกิดความล่าช้า โครงการก็ควรจะได้มีการรวิเคราะห์ใหม่ ด้วยสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและรูปแบบการใช้งานของการให้บริการรถประจำทางเปลี่ยนแปลงไป อย่างน้อยที่สุด เทคโนโลยีในปัจจุบันได้นำเสนอทางเลือกในการใช้รถเมล์ไฟฟ้ามาอีก 1 ช่องทาง ซึ่งก็น่าจะได้มีการนำมาทบทวนประกอบการตัดสินใจ ดีกว่าทำแยกกัน ส่วนที่จะจัดซื้อจัดจ้างรถเมล์ตามโครงการเดิมก็ทำไปเพราะได้ดำเนินการมาแล้ว ถ้าจะพิจารณารถเมล์ไฟฟ้า ก็ทำเป็นโครงการใหม่ขึ้นมาอีก ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันคือ เป็นการจัดซื้อรถเมล์เพิ่มขึ้น

เมื่อเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนอาจทำให้เกิดความแปรปรวน (Disruption) ขึ้นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งมวลชน เงื่อนไขประการหนึ่งที่คิดว่าเป็นเงื่อนไขที่มีความสำคัญและเป็นหลักของการพิจารณาในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งมวลชน แต่มักจะถึงละเลยไป คือ การให้ความสนใจกับปัญหาของผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการขนส่งมวลชน การตัดสินใจเกี่ยวกับการให้บริการขนส่งมวลชนมักจะไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับผู้ใช้บริการ อะไรเป็นปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้คนตัดสินใจเลือกไม่ใช้บริการขนส่งมวลชน แท้จริงแล้ว การตัดสินใจเลือกใช้บริการขนส่งมวลชนคงจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงแค่ราคาค่าบริการ ซึ่งก็คิดอยู่แต่เพียงแค่ว่าจะต้องราคาถูก การกระตุ้นให้คนหันมาใช้ขนส่งมวลชนได้จึงเป็นแนวทางที่สำคัญแนวทางหนึ่งของการลดปัญหาความแออัดคับคลั่งของการจราจรใน กทม แนวทางอื่นๆ อาทิเช่น การจัดเก็บภาษีเมืองสำหรับประชาชนชาว กทม และผู้มาเยี่ยมเยือน กทม แล้วนำเงินภาษีนี้ไปใช้เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการระบบการขนส่งมวลชนของ กทม ก็อาจจะทำได้ในเมื่อการจัดเก็บภาษีนั้นเพื่อเป็นการสะท้อนถึงความสะดวกสบายของผู้ที่จะได้ใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งมวลชนที่รัฐ (ในบางกรณีเป็นการร่วมกับภาคเอกชนในรูปแบบต่างๆ) คงจะมีอีกหลายเรื่อง หลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของ กทม เอาไว้โอกาสหน้าจะได้หยิบขึ้นมาพูดคุยกันอีกครับ