ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
www.econ.nida.ac.th; santi_nida@yahoo.com
ต้นทุนการเคลื่อนย้ายของแรงงานกับปัญหาความเหลื่อมล้ำและการกระจายความเจริญ
แรงงานถือเป็นปัจจัยการผลิตที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน (หมายถึง ไม่ได้คำนึงถึงแต่เพียงการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่หมายถึงการเติบโตตามศักยภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย)โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาให้ครอบคลุมทั้งแรงงานทักษะสูง (Skilled Labor) และแรงงานทักษะต่ำ (Unskilled Labor)1 โดยกลไกการทำงานของตลาด (ในที่นี้หมายถึง ตลาดแรงงาน) แรงงานสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีอย่างน้อยที่สุดภายในประเทศ (การเคลื่อนย้ายของแรงงานระหว่างประเทศในหลายภูมิภาคของโลกรวมทั้งอาเซียนและประเทศไทยด้วย ยังคงมีการจำกัดและควบคุม โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นการเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายของแรงงานทักษะ หรือแรงงานวิชาชีพมากกว่า) ซึ่งการเปิดให้แรงงานสามารถเคลื่อนย้ายกันได้อย่างเสรีภายในประเทศก็จะเป็นเงื่อนไขหลักของการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรแรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานจากความชำนาญเฉพาะด้าน (Specialization) ทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาและเป็นการเพิ่มสวัสดิการสังคม (Welfare) ของประเทศโดยรวม
อย่างไรก็ตามพบว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่ผ่านมาหลายกรณีเกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานที่ไม่ได้เป็นไปตามกลไกของตลาดด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน ทำให้การเคลื่อนย้ายของแรงงานมีต้นทุนที่สูงขึ้น และในหลายกรณี ต้นทุนบางส่วนไม่ได้รับการชดเชยด้วยค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสม เป็นเหตุให้แรงงานที่เคลื่อนย้ายไปต้องแบกรับต้นทุนไว้เอง จนกลายเป็นต้นเหตุของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัญหาความยากจนเมือง (City Poverty) หรือเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ความรุนแรงของปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น
การโยกย้ายของแรงงานโดยปกติมักจะเกิดขึ้นจากเหตุจูงใจในเรื่องค่าตอบแทน หรือค่าจ้างแรงงาน เพียงแต่ค่าจ้างแรงงานที่ควรจะถูกนำมาพิจารณานั้น ควรจะต้องเป็นค่าจ้างแรงงานที่แท้จริง (Real Wage) กล่าวคือ น่าจะเป็นค่าจ้างแรงงานที่ถูกปรับด้วยค่าครองชีพ เพื่อให้การตัดสินใจของแรงงานเป็นไปอย่างถูกต้องและสอดคล้องกับความเป็นจริง ดังนั้น ปัญหาอุปสรรคแรกที่แรงงานต้องเผชิญคือ แรงงานจำเป็นต้องประเมินให้ได้ว่าเมื่อโยกย้ายไปทำงานในอีกที่หนึ่ง อัตราค่าครองชีพในที่ใหม่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเทียบกับที่เดิม มากน้อยเพียงใด ถ้าประเมินผิด แทนที่จะได้ค่าตอบแทนมากขึ้น อาจกลับกลายเป็นได้รับค่าตอบแทนน้อยลง ที่ตั้งความหวังไว้ว่าจะเสียสละทิ้งถิ่นฐานและครอบครัวเพื่อไปแสวงหาโอกาสในการสร้างรายได้ให้มากขึ้นเพื่อส่งกลับมาให้ครอบครัวก็จะทำไม่ได้
แรงงานบางคนเมื่อต้องเผชิญกับสภาพที่มารู้ว่าตัดสินใจผิดก็เมื่อย้ายไปทำงานในที่ใหม่แล้ว (ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นการโยกย้ายเข้ามาหางานทำในเมือง หรือในพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนามากกว่า) ครอบครัวที่รออยู่ข้างหลังก็รอคอยเงินที่จะส่งกลับไปให้ ถ้าเกิดขัดสนขึ้นมา ทั้งตัวแรงงานเองและครอบครัวที่อยู่ข้างหลังก็ต้องหันไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ด้วยหวังว่าเมื่อมีรายได้จากงานใหม่ที่น่าจะสร้างรายได้ได้มากกว่าเดิมก็จะสามารถจ่ายคืนเงินที่ไปกู้ยืมมาใช้จ่ายเพราะมีความจำเป็นได้ แต่ถ้ารายได้ที่คาดหวังว่าจะได้รับนั้นไม่เพียงพอกับค่าครองชีพใน
เมืองที่ย้ายเข้าไปทำงาน หนี้สินก็พอกพูนจนไม่มีปัญญาจ่ายคืนได้ ครั้นคิดอยากจะกลับ ก็ทำไม่ได้ เพราะถ้ากลับไป โอกาสที่จะสร้างรายได้ให้เพียงพอก็แทบจะไม่มี ก็จำเป็นต้องดิ้นรนทำงานหนักขึ้น (ทำหลายชั่วโมงมากขึ้น รับงานหลายงานหรือต้องมีงานเสริม) นานเข้าร่างกายก็รับไม่ไหวต้องเจ็บป่วยไม่สบาย คราวนี้ชีวิตก็ยิ่งลำบาก บางคนถึงกับต้องพิการ หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต
วงจรที่กล่าวถึงนี้ในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็นต้นทุนของสังคมที่เกิดขึ้นเพราะแรงงานมีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนเพื่อประกอบการตัดสินใจ หรือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด สวัสดิการสังคมเพื่อรองรับการตัดสินใจที่ผิดพลาดของไทยยังมีอยู่น้อยมาก ในขณะที่แนวทางการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจไม่ได้เน้นการสร้างงานให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง กระจายในครอบคลุมพื้นที่ให้ได้มากที่สุด แต่เป็นการเน้นการพัฒนาในพื้นที่ที่คิดว่ามีศักยภาพเป็นหลัก (เพื่อให้มีความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณ) แล้วปล่อยให้แรงงานโยกย้ายเข้าไปแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาด้วยต้นทุนและความเสี่ยงที่แรงงานต้องแบกรับเอง
ในระบบเศรษฐกิจที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำมาก ๆ ต้นทุนและความเสี่ยงที่แรงงานต้องเผชิญจะยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น เพราะแรงงาน (ไร้ทักษะ) เหล่านี้แทบจะถูกปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาทักษะของตนเองจนการโยกย้ายของแรงงานไม่ได้เป็นทางเลือกของแรงงานอีกต่อไป แต่แรงงานถูกบังคับด้วยสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าครองชีพ ให้ต้องทิ้งถิ่นฐานเพื่อไปแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ในพื้นที่ที่แรงงานทิ้งถิ่นฐานมานั้นก็ถูกบั่นทอนศักยภาพทางเศรษฐกิจลงไปด้วยจากการต้องสูญเสียทรัพยากรการผลิตไป พื้นที่ก็ยิ่งถูกปล่อยปะละเลยจนเกิดเป็นความแตกต่าง หรือความเหลื่อมล้ำในหลายพื้นที่ของประเทศ
ภาพของแรงงานที่เดินทางออกจากรุงเทพเพื่อกลับภูมิลำเนาเป็นตัวสะท้อนอย่างดีถึงสภาพของการเคลื่อนย้ายของแรงงาน ดังนั้น การสร้างหรือคำนวณดัชนีชี้วัดค่าครองชีพรายพื้นที่ และเป็นดัชนีชี้วัดค่าครองชีพที่สะท้อนสภาพการดำเนินชีวิตของคนในแต่ละกลุ่ม (เช่น แบ่งตามกลุ่มอายุ แบ่งตามระดับรายได้ แบ่งตามพฤติกรรมการใช้ชีวิต ฯลฯ) ซึ่งมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่แตกต่างกันไป จึงกลายเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญทางเศรษฐกิจที่น่าจะได้มีการพัฒนาขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อการตัดสินใจทางเศรษฐกิจของหน่วยเศรษฐกิจในประเทศ
นอกจากต้นทุนที่ได้กล่าวถึงข้างต้นแล้ว แรงงานที่โยกย้ายถิ่นฐานยังต้องแบกรับต้นทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการที่ครอบครัว (พ่อ แม่ ลูก) ต้องแยกกันอยู่ พ่อกับแม่ต้องย้ายเข้าไปทำงานในเมืองโดยทิ้งลูกไว้กับปู่ย่าให้ดูแลให้ งานศึกษาทางด้านสังคมศาสตร์ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของเด็กที่ไม่ได้มีเวลาที่เพียงพอกับพ่อแม่อย่างมากมายทั้งเรื่องพัฒนาการของเด็กเอง ไปจนถึงเรื่องคุณภาพของเด็กเมื่อเติบโตขึ้น
ศิลปินเพลงลูกทุ่งถ่ายทอดปัญหาเหล่านี้ออกมาในรูปของเนื้อเพลงที่แสดงถึงปัญหาครอบครัวที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี โครงสร้างของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เป็นสังคมที่ประกอบด้วยครอบครัวใหญ่ คนในครอบครัวที่อยู่ในวัยแรงงานไม่เพียงแต่ดูแลเด็ก แต่ก็ดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวด้วย แต่ในระบบเศรษฐกิจที่แรงงานต้องอพยพย้ายถิ่นมาก ๆ คนที่อยู่ในวัยแรงงานจะไม่สามารถทำหน้าที่เหล่านี้ได้ จำเป็นต้องให้คนอื่นช่วยทำหน้าที่เหล่านี้แทน ซึ่งก็หมายความว่า แรงงานเหล่านั้นจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งก็แน่นอนถ้าแรงงานไม่สามารถสร้างรายได้ให้ครอบคลุมหรือไม่ได้คำนึงถึง (เข้าใจว่าแรงงานส่วนใหญ่เป็นกรณีนี้) ว่าเป็นต้นทุนในการตัดสินใจโยกย้ายถิ่นฐานการทำงาน ก็จะเป็นการสร้างปัญหาทางสังคมซึ่งเป็นต้นทุนที่หนักมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่สังคมต้องแบกรับ
ปัญหาที่กล่าวถึงเหล่านี้ เป็นอุปสรรคบางส่วนของแรงงานในการพัฒนาผลิตภาพการผลิตของแรงงาน (Labor Productivity) ทั้งในปัจจุบัน (Current Generation) ในอนาคต (Next Generation) ทั้ง ๆ ที่การเพิ่มผลิตภาพการผลิตเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน และการยกระดับการพัฒนาของประเทศให้พ้นกับดับประเทศ
รายได้ปานกลาง ดังนั้น ลำดับความสำคัญของการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของไทยจึงน่าจะเป็นนโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อการลดความเหลื่อมล้ำ การกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค มากกว่าเป้าหมายการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตที่อาศัยการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นการสนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้แรงงานโยกย้ายถิ่นมากกว่าการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและโอกาสทางเศรษฐกิจในภูมิภาค