ดร.ทองใหญ่ อัยยะวรากูล
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
www.econ.nida.ac.th
เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการลงโทษจำคุกในคดีอาญา
ปรัชญาของการลงโทษนั้นเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์สามประการ ในประการแรกก็เพื่อเป็นการลงโทษให้สาสมกับความผิดที่ได้กระทำ ซึ่งในสมัยก่อนการลงโทษเพื่อให้สาสมจะเป็นไปในลักษณะตาต่อตา ฟันต่อฟัน เช่น ถ้าทำให้ผู้อื่นเสียอวัยวะ ผู้ที่กระทำความผิดนั้นก็ต้องถูกลงโทษในลักษณะเดียวกัน คือ ถูกตัดอวัยวะเช่นเดียวกัน สมัยปัจจุบันแม้จะยังคงมีการลงโทษในลักษณะเช่นนี้อยู่บ้างในบางพื้นที่ แต่ประเทศส่วนใหญ่ก็ได้ปรับมาใช้โทษจำคุกแทน ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างโทษจำคุกของผู้กระทำความผิดกับความเสียหายของเหยื่อจะเป็นเท่าใดนั้นก็แล้วแต่จะกำหนด
ในประการที่สอง การลงโทษเป็นไปเพื่อการยับยั้งไม่ให้เกิดการกระทำความผิดอีก ทั้งโดยผู้กระทำความผิดเองที่เกิดความรู้สึกหลาบจำ ไม่กล้ากระทำความผิดซ้ำ และโดยผู้อื่นที่เมื่อได้เห็นตัวอย่างก็เกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าทำเพราะเกรงกลัวต่อผลที่จะตามมา และในประการสุดท้าย การลงโทษบางอย่าง เช่น การจำคุก หรือการประหารชีวิต เป็นไปเพื่อเอาตัวผู้กระทำความผิดออกจากสังคม ไม่สามารถกระทำความผิดได้ในช่วงระยะเวลาที่ถูกลงโทษได้ในกรณีโทษจำคุก หรือไม่สามารถกระทำความผิดได้อีกต่อไปในกรณีโทษประหารชีวิต
ในปัจจุบัน นานาประเทศถือหลักที่สำคัญประการหนึ่งว่า ไม่ว่ารูปแบบหรือความรุนแรงของการลงโทษที่กำหนดจะเน้นหนักไปที่วัตถุประสงค์ข้อใดข้อหนึ่งในสามข้อที่ได้กล่าวข้างต้นก็ตาม การลงโทษที่ดีนั้นควรตั้งอยู่บนหลักของสิทธิมนุษยชนที่ว่าความรุนแรงของการลงโทษควรจะสอดคล้องกับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นและรัฐต้องถือเป็นหลักปฏิบัติอย่างเคร่งครัดที่จะไม่ไปละเมิดสิทธิในด้านอื่นของนักโทษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของโทษจำคุกนั้น หลายประเทศถือหลักว่า การจำคุกควรเป็นไปเพื่อลิดรอนอิสรภาพในช่วงเวลาที่กำหนดเท่านั้น รัฐไม่สามารถละเมิดสิทธิของนักโทษในด้านอื่น เช่น ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา หรือด้านที่อยู่อาศัยได้ จึงเป็นที่มาของคุกในบางประเทศในทวีปยุโรปที่มีความสะอาดและขนาดห้องขังกว้างขวางไม่ต่างจากโรงแรมระดับ 3 ดาว ที่นักโทษมีสิทธิที่จะเรียนหนังสือหรือสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ดีได้ไม่ต่างจากการอยู่นอกคุก บางประเทศเช่นนอร์เวย์ ถึงขนาดให้เงินเดือนนักโทษประมาณ 10 ดอลลาร์ต่อวัน ซึ่งสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยเสียอีก
เรื่องความสะดวกสบายของนักโทษนี้เป็นที่ถกเถียงกันมากในกลุ่มนักวิชาการมากว่า อาจจะลดพลังของโทษจำคุกในการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำความผิดได้เนื่องจากการเข้าไปอยู่ในคุกไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไป ซ้ำร้ายอาจปัญหาในเชิงที่ว่า คนบางคนอาจตั้งใจกระทำความผิดเพื่อให้เข้าไปอยู่ในคุกเพื่อรับเงินเดือน อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่าง ๆ ที่ว่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากออกแบบกลไก (Mechanism design) ที่ดีที่ช่วยให้ผลที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น เงินเดือนนักโทษในระดับ 10 ดอลลาร์ต่อวันก็ยังน้อยกว่าเงินเดือนที่รัฐให้กับผู้ว่างงาน จึงช่วยป้องกันปัญหาคนว่างงานอยากกระทำความผิดเพื่อต้องการเข้าไปอยู่คุกได้ ส่วนเรื่องความสะดวกสบายของคุกนั้นก็ไม่ได้มากไปกว่าความสะดวกสบายที่นักโทษจะได้รับหากอยู่นอกคุกถึงขนาดที่ทำให้คนอยากเข้าคุก นอกจากนี้ การให้เงินเดือนนักโทษยังช่วยให้นักโทษมีเงิน “เป็นกอบเป็นกำ” เมื่อออกจากคุก จนเป็นทุนรอนพอที่ตั้งตัวเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ ซึ่งช่วยให้ผู้พ้นโทษไม่กระทำความผิดซ้ำอีกและเป็นการประหยัดงบประมาณของรัฐในทางอ้อมในระยะยาว
อีกระบบหนึ่งที่เป็นสุดโต่งอีกด้านของระบบคุกในประเทศนอร์เวย์ก็คือ ระบบคุกในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งบางรัฐได้ริเริ่มให้มีการเอาระบบทุนนิยมเข้าไปใช้ในคุกอย่างเป็นทางการ เช่น ในรัฐโอไฮโอที่แก้ปัญหาค่าใช้จ่ายมหาศาลของการดูแลคุกที่รัฐต้องแบกรับในแต่ละปีด้วยคิดค่า “ที่พัก” ต่อวันจากนักโทษ ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่าสามารถช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณของรัฐได้และมีผลในการยับยั้งการกระทำความผิดได้ในระยะสั้น แต่มีผลค่อนข้างคลุมเครือในระยะยาวเนื่องจากนักโทษหลายคนตกอยู่ในภาวะที่ต้องแบกรับหนี้สินล้นตัวและถูกบีบบังคับให้หวนกลับไปกระทำความผิดอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์หรือการค้ายาเสพติด
หรือในรัฐแคลิฟอร์เนียที่อนุญาตให้นักโทษสามารถจ่ายเงินเพื่อ “อัพเกรด” สภาพความเป็นอยู่ของตัวเองในคุกให้สะดวกสบายขึ้น หรือปลอดภัยขึ้นได้ ซึ่งดูจะเป็นที่ชื่นชอบของนักเศรษฐศาสตร์บางท่าน เนื่องจากเป็นระบบการจัดสรรทรัพยากรในคุกอย่างมีประสิทธิภาพ จากการจัดสรรด้วยพละกำลังที่ของดี ๆ จะตกเป็นของ “ขาใหญ่” ในคุกเป็นการจัดสรรด้วยกลไกตลาดไม่ต่างจากนอกคุก และรัฐเองก็ได้เงินบางส่วนที่นำไปแบ่งเบาภาระทางการคลังได้ แต่เป็นที่ต่อต้านจากนักวิชาการหลายกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักกฎหมายที่มีความเห็นว่าเงินไม่ควรซื้อได้ทุกอย่าง
สำหรับระบบของประเทศไทยซึ่งอยู่ตรงกลางคือนักโทษได้ที่พักฟรีอาหารฟรี ไม่ได้รับเงินเดือน และไม่ต้องจ่ายค่าที่พัก ในประเด็นที่ว่าโทษจำคุกมีความสาสมกับความผิดที่ได้กระทำหรือไม่อย่างไรนั้น เป็นประเด็นทางกฎหมายที่ควรปรับปรุงเป็นระยะ ๆ ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เป็นปัจจุบัน ส่วนในประเด็นเรื่องการลงโทษจำคุกและการยับยั้งการกระทำความผิด จากงานวิจัยของผมเมื่อราวสองปีที่แล้วพบว่า การจำคุกช่วยยับยั้งความผิดที่จะกระทำความผิดของผู้ที่อยู่นอกคุก โดยเฉพาะคนรวยได้ แต่ไม่มีผลต่อคนจนมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับสามัญสำนึกง่าย ๆ ที่ว่าใครที่สภาพบ้านดีกว่าคุกก็ไม่อยากเข้าคุก แต่ใครที่สภาพบ้านไม่ต่างจากคุกก็ไม่ค่อยจะกลัวการเข้าคุก
ผลจากการวิจัยอีกข้อที่น่าสนใจกว่าก็คือ โทษจำคุกนอกจากจะไม่ยับยั้งการกระทำความผิดซ้ำของคนที่ติดคุกแล้ว ยังช่วยเสริมให้ผู้พ้นโทษหลายรายกระทำความผิดซ้ำอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดียาเสพติดที่การเข้าคุกเป็นการพัฒนาเครือข่ายการค้ายาเสพติดให้ผู้ขายรายย่อยผันตัวเป็นผู้ขายรายใหญ่อย่างรวดเร็ว โครงการฝึกงานและพัฒนาอาชีพของนักโทษก็เป็นโครงการที่สร้างรายได้ที่น้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้จากการค้ายาเสพติด จึงไม่ได้มีส่วนช่วยในการจูงใจให้ผู้พ้นโทษเปลี่ยนอาชีพแต่อย่างใด คุกซึ่งอาจจะเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความผิดบางประเภท เช่น ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือร่างกาย จึงไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหายาเสพติดซึ่งเป็นคดีที่นักโทษส่วนใหญ่ต้องโทษครับ