รศ.ดร. ณดา จันทร์สม ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Email: nada@nida.ac.th
สวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่านทุกท่าน เพิ่งผ่านช่วงเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองปีใหม่ไปไม่นาน การส่งความสุขระหว่างกัน การให้ของขวัญ การจัดงานเลี้ยงเพื่อความสนุกสนาน การท่องเที่ยวงานเฉลิมฉลองที่จัดในพื้นที่ต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นกิจกรรมแห่งความสุขที่ทำให้เกิดความรื่นรมย์ระหว่างผู้ให้และผู้รับ สร้างความสุขภายในครอบครัว และระหว่างเพื่อนฝูง
แต่อย่างไรก็ดี ผลกระทบของเทศกาลที่ไม่อาจละเลยและมองข้ามไปได้เลย คือ ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ ปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล สถิติด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงเทศกาลปีใหม่พบว่า หลายประเทศทั่วโลกมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นถึง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่นๆ ของปี ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ทุกเทศกาลจะนำไปสู่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น[1] ในเทศกาลปีใหม่ การใช้พลุ (Fireworks) ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านมลพิษทางอากาศ พลุปล่อยสารอนุภาคขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและหัวใจ อีกทั้งยังมีการปล่อยก๊าซพิษ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ และไนตริกออกไซด์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งคน สัตว์ และพืช นอกจากนี้ พลุยังก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำและดินจากสารเคมีอย่างเพอร์คลอเรต (Perchlorate) ที่สามารถซึมเข้าสู่ดินและน้ำใต้ดิน รวมถึงมลพิษในรูปของกระดาษและพลาสติกที่เหลือทิ้งหลังการใช้ กระดาษห่อของขวัญ โบว์ตกแต่ง รายงานจากสำนักข่าว The Independent ได้รวบรวมข้อมูลปริมาณขยะแต่ละชนิดในเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ ประเทศอังกฤษในปี 2012 พบว่า กระดาษห่อของขวัญ คิดเป็น 300,000 ตันต่อปี (เทียบแล้วสามารถห่อนาฬิกาบิ๊กเบนได้ถึง 260,000 ครั้ง)[2] กระดาษโปรย (Confetti) ซึ่งจากข้อมูลประชาสัมพันธ์จะพบว่าในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์กซิตี้ การเฉลิมฉลองปีใหม่ในไทม์สแควร์สร้างขยะกระดาษโปรยถึง 1.5 ตัน[3] ในเทศกาลฮาโลวีน ปริมาณฟักทองที่ถูกทิ้งหลังเทศกาลฮาโลวีนในสหราชอาณาจักร คิดเป็นนำหนัก 18,000 ตันของขยะอาหารเหลือทิ้ง (ประมาณการว่าสามารถใช้ทำพายฟักทองได้มากถึง 360 ล้านชิ้น)[4] หรือแม้แต่ในเทศกาลลอยกระทง ของไทย ก็มีการสร้างขยะจำนวนมหาศาล ที่เกิดขึ้นจากการลอยกระทงทั้งที่เป็นวัสดุธรรมชาติ และวัสดุกระทงโฟม เป็นต้น
[1] อ้างอิงจาก Emma Dendler. 2024, Dec 19. The Environmental Impact of New York’s Eve: Just how much waste does it create?” https://www.thesimpleenvironmentalist.com/blog-1/the-environmental-impact-of-new-years-eve-just-how-much-waste-do
[2] อ้างอิงข้อมูลจาก WWF-Thailand. 2019. 24 Dec. ภูเขาขยะ สถิติตกค้างจากเทศกาลรืนเริง. https://today.line.me/th/v2/article/o38yxN
[3] อ้างอิงจาก Wes Stenzel. 2022. 3,300 pounds of confetti gets wasted each year during the Time Square Ball Drop — and then there’s the trash. https://www.thecooldown.com/green-home/confetti-new-years-eve-times-square-trash/
[4] อ้างแล้ว WWF-Thailand. 2019.
นอกจากประเด็นขยะที่เกิดขึ้นจาการทำกิจกรรมของเทศกาลโดยตรง ยังมีขยะจากอาหาร (Food Waste) ที่เป็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก จากรายงานของ UNEP (2024) Food Waste Index 2024[1] รายงานว่า ค่าเฉลี่ยของ Food Waste ของโลกเพิ่มมากขึ้นถึง 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี (จากเดิม 74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เทียบกับการประเมินของครั้งล่าสุดที่ผ่านมาใน Food Waste Index 2021) ในขณะที่ประเทศไทย มีค่าเฉลี่ยของ Food Waste อยู่ที่ 86 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยต่อคนของโลก นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้มีการรายงานสถานการณ์ขยะและสถานการณ์มลพิษในไทย ปี 2566 พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยพุ่งสูงถึง 26.95 ล้านตัน โดย “Food Waste” ถือเป็นสัดส่วนหลักของขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น ซึ่งมีปริมาณมากกว่า 10.24 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 38 จากสถิติตัวเลข “Food Waste” ดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของปริมาณ Food Waste ที่เกิดขึ้นทั้งในไทยและทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลายด้าน โดยเฉพาะการก่อให้เกิดก๊าซมีเทน (CH4) ที่มีความรุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ มากกว่า 80 เท่า ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจก และปัญหาโลกร้อนตามมา
[1] UNEP. 2024. Food Waste Index Report 2024. https://www.unep.org/resources/publication/food-waste-index-report-2024
การเพิ่มความตระหนักต่อประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องใกล้ตัวที่พวกเราคงต้องช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจในทุกระดับ เพื่อให้เกิดการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน การผลักดันนโยบายและมาตรการการจัดการขยะอย่างเป็นระบบเป็นเรื่องที่ต่อเร่งผลักดันให้เกิดผล การใช้ นโยบายการคัดแยกขยะจากต้นทาง จะช่วยลดต้นทุนในการจัดการขยะได้ ในปี 2568 กรุงเทพมหานคร จะเริ่มใช้ค่าธรรมเนียมขยะในอัตราใหม่ที่อิงกับพฤติกรรมการคัดแยกขยะของครัวเรือน แต่ทั้งนี้ คงต้องมีการให้ความรู้ในการคัดแยกขยะให้ถูกวิธี เพื่อขยะที่เกิดขึ้นสามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หรือจัดการได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นขยะจากอาหาร โดยหากผู้บริโภคสามารถลดปริมาณขยะจากอาหาร โดยเริ่มจากการบริโภคในระดับพอดี เพื่อลดของเหลือทิ้ง และจัดการแยกขยะจากอาหารให้สามารถนำไปสู่กระบวนการจัดการที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการนำเศษอาหารไปเลี้ยงสัตว์ เช่น เศษผักและผลไม้ แยกขยะอินทรีย์ (Organic Waste) สำหรับนำไปหมักเป็นปุ๋ย หรือ การผลิตพลังงานชีวมวล จากเศษอาหาร เช่น การผลิตก๊าซชีวภาพ
นอกจากนั้น ขยะที่สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เช่น พลาสติก แก้ว กระดาษ โลหะ หากสามารถแยกแยะอย่างถูกต้อง จะเพิ่มมูลค่าจากการจัดการขยะเหล่านี้ได้ และขยะอันตรายต่าง ๆ เช่น ขยะติดเชื้อ เศษแก้ว/กระเบื้องแตก ถ่านไฟฉาย/แบตเตอรี่ อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ ยาหมดอายุ ฯลฯ จำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ด้วยขยะอันตรายเหล่านี้ส่งผลกระทบสูงกับสิ่งแวดล้อม และเพื่อความปลอดภัยตลอดกระบวนการจัดการ
การขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการเพื่อลดขยะทางด้านการผลิต เน้นการจัดการตั้งแต่ต้นทางในกระบวนการผลิต เพื่อลดของเสียและทรัพยากรที่ใช้โดยเปล่าประโยชน์ มาตรการที่สำคัญตั้งแต่ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (Sustainable Product Design) ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานยาวนาน เพื่อลดความจำเป็นในการผลิตใหม่ ใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้หรือรีไซเคิลได้ง่าย เช่น พลาสติกชีวภาพ หรือโลหะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ลดการใช้วัสดุที่ไม่จำเป็น ในการบรรจุภัณฑ์และตัวผลิตภัณฑ์ การพัฒนากระบวนการผลิตที่ลดขยะ ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ลดของเสีย เช่น การผลิตแบบ Lean Manufacturing นำขยะจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่ (Waste-to-Resource) เช่น การนำเศษวัตถุดิบกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงาน การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบทดแทน (Alternative Materials) ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า นำของเหลือใช้ในกระบวนการผลิตไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น การนำเศษไม้ไปทำเฟอร์นิเจอร์ ลดการใช้น้ำและพลังงานในกระบวนการผลิต ด้วยการวิเคราะห์กระบวนการเพื่อลดการสูญเปล่า การจัดการบรรจุภัณฑ์ ลดขนาดและน้ำหนักของบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ใช้ระบบบรรจุภัณฑ์แบบหมุนเวียน (Circular Packaging) เช่น การใช้ขวดแก้วที่สามารถคืนและนำกลับมาใช้ใหม่ เปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ เช่น บรรจุภัณฑ์จากพืช หรือวัสดุชีวภาพ การสร้างห่วงโซ่การผลิตที่ยั่งยืน ร่วมมือกับซัพพลายเออร์ เพื่อจัดหาวัตถุดิบที่ผลิตอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เช่น การรีไซเคิลวัตถุดิบในห่วงโซ่การผลิต พัฒนาระบบขนส่งที่ลดการปล่อยของเสีย เช่น การจัดการเส้นทางโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ รวมถึง การสร้างจิตสำนึกและฝึกอบรมสร้างความรู้ เกี่ยวกับการลดขยะในกระบวนการผลิต สร้างแรงจูงใจในการลดของเสีย เผยแพร่แนวคิด “Zero Waste” ภายในองค์กร
การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อลดปริมาณขยะทั้งจากภาคการผลิตและภาคการบริโภค ต้องมีมาตรการทั้งการสร้างแรงจูงใจและมาตรการบังคับและกึ่งบังคับ เพื่อทุกกระบวนการสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ การสร้างความยั่งยืนให้กับโลกของเราไม่ใช่เรื่องที่ภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งต้องรับผิดชอบเป็นหลัก แต่เป็นภารกิจที่ทุกคนบนโลกใบนี้ต้องร่วมมือกันเพื่อให้การเปลี่ยนแปลง และนำไปสู่การสร้างโลกน่าอยู่สำหรับทุกคน และส่งต่อความยั่งยืนไปสู่คนรุ่นต่อไปได้ อย่ารอที่จะเปลี่ยนจนถึงวันที่มันจะสายเกินไป