ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
http://piriya.pholphirul.blogspot.com
ในสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสินได้สนับสนุนนโยบายการใช้ Soft Power เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2566 เพื่อขับเคลื่อน Soft Power ภายในประเทศโดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ในด้านต่าง ๆ นำเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่อีกด้วย โดยคณะกรรมการได้กำหนด 11 อุตสาหกรรม Soft Power เป้าหมาย (ซึ่งขยายจาก 5 กลุ่มอุตสาหกรรม 5F เดิมโดยเพิ่มมาอีก 6 อุตสาหกรรม) ซึ่งได้แก่ 1) อาหาร, 2) แฟชั่น, 3) ภาพยนตร์, 4) ออกแบบ, 5) เฟสติวัล, 6) หนังสือ, 7) กีฬา, 8) ท่องเที่ยว, 9) ดนตรี, 10) เกม, และ 11) ศิลปะ พร้อมทั้งดำเนินนโยบายส่งเสริมตั้งแต่ ด้านต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
แต่ทว่า ภายหลังจากที่ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลแพรทองทา นโยบายการขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศก็ดูจะซาๆ ลง ซึ่งสำหรับคนนอกอย่างเราๆ ท่านๆ เองก็ไม่ทราบว่าตอนนี้นโยบายเรือธงดังกล่าวนี้ยังคงเป็นอยู่ดีอยู่หรือไม่
โดยส่วนตัวผมเองได้มีโอกาสทำงานวิจัยเรื่องขอ Soft Power โดยได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อศึกษาแนวทางในการยกระดับอุตสาหกรรม Soft Power ของไทย โดยงานศึกษาได้ทำทั้งการเก็บข้อมูลวิเคราะห์และการสัมภาษณ์จากผู้เกี่ยวข้อง ทำให้ได้รับทราบถึงปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่อุตสาหกรรมเรือธงทั้ง 11 สาขาล้วนต้องประสบพบเจอ ซึ่งนับได้เป็นเป็น “จุดเจ็บปวด (หรือ Pain Points) ร่วมที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขให้ตรงจุด โดยสามารถจำแนกจุดเจ็บปวดได้ทั้งหมด 5 ด้านดังนี้
1. ข้อจำกัดจากการสนับสนุนจากภาครัฐ (Limited Government Supports) โดยปัญหาแรกเป็นเรื่องของข้อจำกัดจากการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งทางด้านการเงินและไม่ใช่ด้านการเงิน ในส่วนของด้านการเงินพบว่า อุตสาหกรรม Soft Power ยังได้รับงบประมาณที่มีไม่เพียงพอ ยกตัวเช่นงบประมาณในด้านการสร้างทุนทางวัฒนธรรมที่ถูกจัดสรรเพียงแค่ประมาณ 8,506 ล้านบาทหรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 19 ของงบประมาณทั้งหมดซึ่งถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับงบประมาณด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 45,480 ล้านบาทต่อปี (ปี พ.ศ.2563) ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง Soft Power และเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยตรงอย่างเช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้รับงบประมาณเพียงประมาณ 300 ล้านบาทเท่านั้น
นอกจากการสนับสนุนทางด้านการเงินแล้ว ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ยังต้องการให้ภาครัฐให้การสนับสนุนในด้านการหาตลาด การสร้างเวทีสำหรับการแสดงสินค้า และอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเข้าใจถึงปัญหาของแต่ละอุตสาหกรรมอย่างถ่องแท้ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของการผลิตภาพยนตร์ที่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินทุนจากนักลงทุนเอกชนเป็นสำคัญ แต่เกิดปัญหาที่ประเทศไทยยังมีจำนวนผู้สร้างภาพยนตร์ไม่มากเท่าที่ควรจึงส่งผลทำให้มีภาพยนตร์ออกมาเพียงไม่เกินปีละ 60 เรื่องเท่านั้นทำให้เกิดความหลากหลายของผลงานและการสร้างรายได้ ผู้สร้างรายใหม่เกิดปัญหาการกีดกันการเข้าสู่ตลาดแข่งขัน (entry barrier) จากการเข้าไม่ถึงวัสดุอุปกรณ์/โปรแกรมที่ใช้งานที่มักมีราคาสูง และยังมีภาษีนำเข้า ทำให้เกิดงานที่มีจำนวนน้อย มีการผลิตที่มีต้นทุนต่อหน่วยสูง และยังไม่ได้คุณภาพตามศักยภาพของตลาด รวมไปถึงการเปลี่ยนบทบาทของภาครัฐจากการเป็นผู้ขับเคลื่อนมาสู่ผู้ให้กับสนับสนุน
2. ข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) – ซึ่งได้แก่ด้านการศึกษา สวัสดิการแรงงาน และช่องว่างทักษะ – โดยแรงงานสร้างสรรค์ของไทยที่มีส่วนสำคัญในการผลิต Soft Power ของประเทศมีจำนวนสูงถึงประมาณ 826,026 คน (พ.ศ.2560) ยังไม่รวมแรงงานในสาขา Soft Power อื่นๆ เช่น อาหาร การท่องเที่ยว แฟชั่น กีฬา หรือเฟสติวัลที่จะมีจำนวนที่สูงกว่านี้มาก โดยถึงแม้ว่า แรงงานในอุตสาหกรรม Soft Power และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ถือว่ามีจำนวนมากในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ดียังมีมิติให้พิจารณาได้แก่ 1) แรงงานเหล่านี้เริ่มมีจำนวนลดลงในบางสาขา ยกตัวอย่างเช่น งานฝีมือและหัตถกรรมและกลุ่มงานด้านออกแบบ 2) ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยังไม่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะของแรงงานสร้างสรรค์ เช่น การยังไม่มีการระบุทักษะสร้างสรรค์เหล่านี้มากเท่าทักษะทางวิชาการในโรงเรียน และ 3) แรงงานสร้างสรรค์ในประเทศไทยยังคงมีระดับของความมั่นคงในชีวิตต่ำเพราะส่วนใหญ่ยังมีสถานะของการเป็นแรงงานนอกระบบ (Informal Sector) ที่เป็นการจ้างงานในลักษณะของการจ้างรายชิ้น (Piece Rate) หรือการจ้างรายจ๊อบ (job/Gig Rate) แรงงานกลุ่มนี้จะไม่มีสวัสดิการรองรับ หากวันใดหยุดงานก็เสี่ยงต่อการขาดรายได้ นอกจากนั้นยังเป็นการทำงานไม่เป็นเวลาอันส่งผลต่อการเสื่อมโทรมต่อสุขภาพ และ 4) แรงงานในอุตสาหกรรม Soft Power เหล่านี้ยังมีช่องว่างของทักษะ (Skill Gap) อยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะหลังจากยุคโควิด-19 ที่ความต้องการทักษะแรงงานเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงไป
3. ข้อจำกัดจากกฎระเบียบและข้อบังคับ (Regulatory Barriers) – ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการยกระดับ Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศก็คือการมีกฎระเบียบหรือข้อบังคับต่างๆ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการผลิต การพัฒนา และต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถยกตัวอย่างได้เช่น 1) กฎหมายเซ็นเซอร์ (Censorship), 2) การขอใบอนุญาต (Licensing and Permits) ที่ล่าช้าและซับซ้อน ซึ่งรวมไปถึงการขอใบอนุมัติในการถ่ายทำภาพยนตร์, การขอใบอนุมัติจากจัดกิจกรรม, การทับซ้อนของข้อกำหนดทางกฎหมาย, งานด้านเอกสาร เป็นต้น, และ 3) กฎหมายการจ้างแรงงานต่างด้าว (Works Permits for Foreigner)
4. ข้อจำกัดจากระบบทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Rights) – ระบบทรัพย์สินทางปัญญาเป็นการสนับสนุนให้ความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่เกิดจากสติปัญญาของมนุษย์มาใช้ในการผลิตสินค้า/บริการ ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของสินค้า/บริการที่ถูกผลิตจากองค์ความรู้นั้นจะได้รับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Right) อันที่กฎหมายจะให้ความคุ้มครองแต่เพียงผู้เดียว (Exclusive Rights) ในชั่วระยะเวลาหนึ่ง การคุ้มครองทางด้านทรัพย์สินทางปัญญามีวัตถุประสงค์เพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าของสิทธิจะมีอำนาจในการนำทรัพย์สินทางปัญญานั้นมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์โดยจะได้รับประโยชน์จากการเป็นเจ้าของสิทธิอย่างชอบธรรม ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจและหลักค้ำประกันให้เกิดแรงจูงใจในการคิดค้นงานใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น เพลงหรือภาพยนตร์ที่สามารถส่งออก Soft Power ของประเทศจากการขายลิขสิทธิ์ให้กับต่างประเทศเพื่อทำการผลิตซ้ำหรือนำไปรีเม็ค
นอกจากนั้นยังมีประเด็นในเรื่องของการจัดสรรผลประโยชน์ของเจ้าของสิทธิ์ เช่น ในกรณีของลิขสิทธิ์เพลง ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง เป็นที่กล่าวถึงในวงกว้าง โดยเฉพาะเมื่อศิลปินนักร้อง นักดนตรีที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากผลงานเพลงในอดีต เมื่อย้ายสังกัดหรือเป็นศิลปินอิสระ จะไม่สามารถนำเพลงที่เคยโด่งดังในอดีตกลับมาร้องได้อีก เพราะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของค่ายเพลงหรือนักแต่งเพลงนั้นๆ โดยที่ผ่านมามีศิลปินหลายคนได้รับผลกระทบจากปัญหาลิขสิทธิ์เพลง
ทั้งนี้กฎหมายลิขสิทธิ์ครอบคลุมและให้ประโยชน์เพียงแต่ผู้ประกอบการที่ถือลิขสิทธิ์ไว้ นั่นก็คือเจ้าของค่ายเพลง โดยไม่มีการจัดสรรปันส่วนอย่างเป็นธรรมให้กับผู้ประพันธ์เพลงและยังมีปัญหาเรื่องการทับซ้อนของลิขสิทธิ์ว่าลิขสิทธิ์จริง ๆ ควรเป็นใครบ้างที่ถืออยู่
5. ข้อจำกัดจากการส่งออกทางวัฒนธรรมและการยกระดับให้เป็น Soft Power – การส่งออกทางวัฒนธรรมเป็นวิธีที่สำคัญในการเผยแพร่และส่งเสริมวัฒนธรรมไทยให้กับโลกและเพื่อให้คนในทุกมุมโลกได้รับรู้และเข้าใจวัฒนธรรมไทยได้มากขึ้น และยังเป็นการช่วยสร้างรายได้และสร้างโอกาสให้กับชุมชนท้องถิ่น โดยการส่งออกวัฒนธรรมดังกล่าวสามารถทำได้หลากหลายวิธี ได้แก่
- การส่งออกผ่านสื่อบันเทิงไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ โทรทัศน์ ดนตรีที่สะท้อนถึงสังคมและสภาพแวดล้อมที่ดีของประเทศไทย รวมไปถึงลักษณะพื้นเมือง การเต้นรำไทย การแสดงศิลปะการแสดง การแสดงโบราณคดี เป็นต้น เพื่อให้ผู้ชมในต่างประเทศได้รับรู้และเข้าใจวัฒนธรรมไทยได้มากขึ้น
- การจัดงานเทศกาลทางวัฒนธรรม เช่น เทศกาลสงกรานต์ เทศกาลลอยกระทง เพื่อให้ชาวต่างชาติได้สัมผัสและเข้าใจวัฒนธรรมไทย
- การนำเสนอการแสดง: การแสดงวัฒนธรรมไทย เช่น การแสดงการละครที่มีลักษณะพื้นเมือง การเต้นรำไทย การแสดงศิลปะการแสดง การแสดงโบราณคดี เป็นต้น เพื่อให้ผู้ชมในต่างประเทศได้รับรู้และเข้าใจวัฒนธรรมไทยได้มากขึ้น
- การส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เช่น การเสนอแพคเกจทัวร์ที่เน้นการเยี่ยมชมสถานที่ประวัติศาสตร์ วัด พิพิธภัณฑ์ และงานศิลปะ ที่มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมไทย หรือ
- การส่งออกสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ศิลปะชนิดต่างๆ เครื่องประดับที่ทำจากวัสดุท้องถิ่น เสื้อผ้าที่มีลายลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย และสินค้าอื่นๆ ที่สร้างจากวัสดุและกระบวนการผลิตที่มีต้นทางจากวัฒนธรรมไทย
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรม Soft Power ของไทยมี “จุดที่เจ็บปวด” หรือ “Pain Point” อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านแรงงาน (ทั้งในด้านสวัสดิการการทำงานและด้านคุณภาพทักษะฝีมือแรงงาน), ปัญหาด้านกฎหมายที่มีความซับซ้อนและกีดกันการคิดสร้างสรรค์และการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่, ปัญหาทางด้านองค์ความรู่ โดยเฉพาะด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์, ปัญหาด้านความซับซ้อนของหน่วยงานภาครัฐในการยื่นขอใบอนุญาต รวมไปถึงขั้นตอนในการยื่นขอ, ปัญหาทรัพย์สินทางปัญญาและการถือสิทธิ์ครอบครอง, ปัญหาการไม่มีระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ที่ช่วยเอื้อต่อการพัฒนา Soft Power รวมไปถึงปัญหาที่รัฐบาลเองก็ยังไม่เข้าใจจริงและไม่ได้มองไปที่เป้าหมายเดียวกันอันส่งผลทำให้โครงการที่เกี่ยวข้องกับ Soft Power ของภาครัฐได้ถูกทำมาเป็นสะเปะสะปะ ต่างคนต่างทำ และไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และในที่สุด นโยบายด้าน Soft Power นี้ก็มีโอกาสที่จะหายไปตามวัฎจักรทางการเมือง ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาลของประเทศที่เราเอาเป็นต้นแบบด้าน Soft Power อย่างประเทศเกาหลีใต้ที่เริ่มขับเคลื่อนนโยบายการส่งออกวัฒนธรรมของประเทศมาตั้งแต่สมัยวิกฤตการปี 2540 และไม่ว่าจะเปลี่ยนมากี่รัฐบาล นโยบาย Korean Wave นี้ก็ยังถูกส่งต่อจากรัฐบาลหนึ่งไปสู่อีกรัฐบาลหนึ่งอย่างต่อเนื่อง