ผศ.ดร. สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า
Santi_nida@yahoo.com
www.econ.nida.ac.th
ในฐานะที่เป็นสมาชิกของคณะพัฒนาการเศรษฐกิจที่นิด้า ได้มีโอกาสได้เรียนรู้ทั้งในทางวิชาการและจากประสบการณ์งานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา (Development Economics) มาพอสมควร ซึ่งคณะเราก็ถูกก่อตั้งขึ้นมาจากเหตุผลความจำเป็นของประเทศไทยที่จะต้องมีการพัฒนาย้อนหลังกลับไปตั้งแต่เมื่อ 50-60 ปีก่อน (หรืออาจจะนานกว่านั้น) จึงได้เห็นว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Economic Development) มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ที่เห็นได้ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ ในปัจจุบัน เมื่อพูดถึงการพัฒนา เราก็จะต้องไม่ลืมที่จะต้องครอบคลุมไปถึง “ความทั่วถึง” (Inclusive) เรียกว่า การพัฒนาอย่างทั่วถึง (Inclusive Growth หรือ Inclusive Development) และ “ความยั่งยืน” (Sustainability) เรียกว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) หรือหลายคนก็อาจจะบอกว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นก็รวมไปถึงประเด็นเรื่องความทั่วถึงอยู่แล้ว เพราะถ้าพัฒนาโดยไม่ทั่วถึง ก็คงจะเป็นการยากที่จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ที่กล่าวมานั้น ไม่ได้หมายความว่า แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม (Traditional Economic Development) (ผู้เขียนขออนุญาตใช้คำนี้เพื่อให้สามารถสื่อสารและเข้าใจได้ง่าย) ไม่มีประโยชน์หรือใช้ไม่ได้แล้ว แต่การพัฒนาเศรษฐกิจมีเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไป มีขอบเขตที่ครอบคลุมกว้างขวางมากกว่าเดิม การเรียนรู้เพียงสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาก็มีความจำเป็น เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยสามารถก้าวหน้าต่อไปได้โดยไม่ติดขัด หรือต้องล่าช้าออกไป
สิ่งหนึ่งที่มักจะเห็นเกิดขึ้นในกระบวนการพัฒนาที่ผ่านมาคือ เมื่อประเทศหรือสังคมหนึ่งได้รับการพัฒนาโดยเฉพาะการพัฒนาที่เน้นให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือการเติบโตของรายได้เป็นเป้าหมายหลัก (Growth as a priority goal) พยายามขจัดความยากจนให้หมดไปโดยอาศัยการใช้ทรัพยากรที่ว่างเปล่ายังไม่ได้ถูกนำมาใช้มากขึ้น ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ และคนในระบบเศรษฐกิจที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตก็จะได้รับผลตอบแทนหรือรายได้ที่สูงขึ้น เช่น เจ้าของแรงงานมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น เจ้่าของทุนได้รับผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยมากขึ้น เจ้าของที่ดินได้รับผลตอบแทนในรูปค่าเช่าที่สูงขึ้น ฯลฯ ในขณะเดียวกัน เมื่อพัฒนาขึ้นมาได้ถึงระดับหนึ่งก็มักจะพบว่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้น ช่วยยกระดับคนจนให้มีน้อยลง หรือขจัดคนจนให้หมดไป แต่การกระจายของผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการพัฒนามีความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้นเป็นลำดับจนกลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ (Inequality) ที่นับวันจะเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นไม่เพียงแต่ในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วด้วยเช่นกันดังที่เรามักจะเห็นภาพของคนไร้บ้านตามเมืองใหญ่อย่างเช่น นิวยอร์ค โตเกียว ฯลฯ ถ้าจะพิจารณาให้ลึกลงไปอีกก็จะพบว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้หรือความมั่งคั่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความเหลื่อมล้ำในอีกหลากหลายมิติที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกัน และเป็นสาเหตุพื้นฐานหนึ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ทำให้สังคมไม่สามารถหาจุดร่วมของการพัฒนา (Development Consensus) ได้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้น ครอบคลุมไปถึงความขัดแย้งในแง่มุมทางเศรษฐกิจระหว่างรุ่นของคนในชาติ (Economic conflict across generations) ซึ่งก็หมายถึงว่า การพัฒนาจะต้องให้น้ำหนักความสำคัญกับการจัดสรรและถ่ายโอนทรัพยากรทางเศรษฐกิจข้ามช่วงเวลาด้วย ทฤษฎีหรือองค์ความรู้ทางด้านการพัฒนาก็จำเป็นต้องมีความเป็นพลวัตร (Dynamics) มากขึ้น ยกตัวอย่างแค่เรื่องที่ดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย ๆ (แต่ถ้าคิดให้ดี ก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนอยู่พอสมควร) เช่น เรื่องที่เราตัดสินใจจัดเก็บภาษีมรดกด้วยเหตุผลสนับสนุนหลายประการด้วยกันโดยหนึ่งในนั้นให้เหตุผลว่า จะเป็นการลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ยังไม่ได้ศึกษาวิเคราะห์ให้ถ่องแท้ด้วยว่า ผลจากการมีภาษีมรดกทำให้เกิดผลประโยชน์และมีต้นทุนอย่างไรกันบ้าง? ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือ? หรือแท้จริงแล้ว การจัดเก็บภาษีมรดกอาจจะเป็นหรือไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาหรือไม่? ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งที่อยากจะชี้ให้เห็นว่า “โจทย์” หรือเป้าหมายของการพัฒนาได้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตพอสมควรแล้ว เราบอกไม่ได้ว่าเพียงแค่ทำให้คนในสังคมหนึ่งหรือประเทศหนึ่ง มีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างรายได้ได้มากขึ้น ก็จะสามารถยกระดับให้มีคุณภาพชีวิต (Quality of living) ที่ดีขึ้นได้
การยกระดับรายได้เป็นเพียงเงื่อนไขที่จำเป็น (Necessary condition) สำหรับการพัฒนา แต่ยังมีความท้าทายอื่นอีกหลายอย่างที่เราจะต้องเผชิญหน้าด้วยเพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพให้ดีขึ้นได้ เพราะความท้าทายเหล่านั้นถ้าไม่ได้รับความสนใจ ก็จะย้อนกลับมาสร้างปัญหาต่อการพัฒนาของสังคมนั้นได้ ตัวอย่างเช่น สังคมต้องเผชิญกับสภาวะความยากจนอดอยากแม้ว่าจะมีระดับรายได้สูงขึ้นแล้ว แต่ค่าครองชีพที่แพงขึ้นกลับทำให้คนจำนวนหนึ่ง (มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของผลกระทบจากปัญหา) ไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยในการดำรงชีพได้อย่างเพียงพอและมีคุณภาพที่ดี จึงต้องมีคุณภาพชีวิตที่ไม่แตกต่าจากสภาสะที่เรียกว่า “คนจน” แม้ว่าค่าเฉลี่ยของรายได้จะสูงขึ้น คำถามที่น่าสนใจคือ เรามีองค์ความรู้ทางด้านการพัฒนาเพียงพอหรือยังที่จะตอบโจทย์ (หรือเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้) ซึ่งหลายองค์ความรู้ที่จำเป็นก็อาจจะต้องเป็นองค์ความรู้ที่จะใช้ตอบโจทย์ของสังคมไทยเป็นการเฉพาะ
ขอบคุณรูปภาพจาก: Brand Inside
นอกจากนี้ ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย (ติดกับดับประเทศรายได้กลางกลางด้วย) ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่รุนแรงจากในอดีตที่ผ่านมาและที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างน้อยในประเด็นใหญ่ ๆ เช่น (1) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ด้วยโครงสร้างประชากรที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทิศทางที่จะเป็นสังคมผู้สูงอายุ แนวทางการพัฒนาของประเทศควรจะเป็นอย่างไร? (2) การที่ประเทศต่างต่างมีสถานะการเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้นมาก (กว่าแนวโน้มการเพิ่มขึ้นปกติ) ทั้งหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะ กาาพัฒนาภายใต้เงื่อนไขที่คนในสังคมมีหนี้ ทรัพยากรการผลิตถูกดึงออกมาใช้มากแล้ว แนวทางการพัฒนาควรจะเป็นอย่างไร? (3) การถูก Disrupted จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้ประเทศน่าจะต้องมีแบบจำลองใหม่สำหรับการพัฒนา (New or Modern Economic Development Model) อย่างน้อยสำหรับในช่วง 10 ปีข้างหน้า จะเห็นได้ว่า นอกจากโจทย์และเงื่อนไขของการพัฒนานั้นได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว ทางเลือกของกระบวนการหรือจะเรียกว่าวิธีการของการพัฒนา (Development Approach) ก็น่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ในอดีตเรามักจะพบว่าสาเหตุสำคัญของการขาดการพัฒนาของประเทศมาจากการที่ประเทศที่พัฒนาน้อยโดยส่วนใหญ่ขาดแคลนทุนที่จะใช้ร่วมกับทรัพยากรการผลิตอื่น (ส่วนใหญ่มักจะหมายถึงแรงงาน และเป็นแรงงานทักษะต่ำราคาถูก) เพื่อให้เกิดการขยายตัวกิจกรรมทางเศรษฐกิจในการสร้างมูลค่าเพิ่ม แนวทางในการพัฒนาหนึ่งที่มักจะมีการดำเนินการ (ในรูปแบบของนโยบายหรือมาตรการ) จึงเป็นการเร่งให้มีการเข้าถึงแหล่งทุน ให้มีการสะสมทุนผ่านการออม (Saving) โดยมีข้อสมมุติว่าเมื่อเข้าถึงแหล่งทุนได้ ก็จะเกิดการใช้ประโยชน์จากทุนโดยการลงทุน (Investment) และผลผลิตจากการลงทุนก็จะทำให้เกิดการสร้างมูลค่าในระบบเศรษฐกิจที่เราจะวัดได้จากการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP growth) แต่วันนี้เราคงต้องกลับมาทบทวนกันอีกทีว่า กลไกเหล่านี้จะสามารถขับเคลื้อนได้เองเป็นอัตโนมัติอย่างที่เรามีสมมติฐานกันเพียงใด ภายใต้เงื่อนไขใด? และเงื่อนไขเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรแล้วบ้าง? เพราะที่ผ่านมาเราก็มักจะพบเห็นว่า วิกฤติทางด้านเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางในหลายครั้งที่ผ่านมา ล้วนแต่เกิดขึ้นจากการที่กลไกการพัฒนาไม่สามารถทำงานได้อย่างที่คาดหวัง ความผิดพลาดจากการตัดสินใจในการเข้าถึงทุนทำให้เกิดการพอกพูนขึ้นของหนี้ (ทั้งหนี้ภายในประเทศและหนี้ต่างประเทศ) และการตัดสินใจลงทุนที่ผิดพลาด หรือการทำงานที่ผิดพลาดของกลไกการจัดสรรทรัพยากรทุนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของปัญหาการผิดนัดชำระหนี้หรือการเป็นหนี้เสีย (NPL) ที่เป็นสาเหตุของวิฤติต้มยำกุ้งในปี 2540
สภาพโดยรวมของเศรษฐกิจไทยที่ปรากฎอยู่ในขณะนี้ทั้งมีอัตราการเติบโตต่ำ (ตามศักยภาพ) (Low Growth) มีหนี้มาก (High Debt) สังคมอายุสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (Aging Fast) มีความเหลื่อมล้ำและเพิ่มมากขึ้น (Growing Inequality) มีปัญหาความไม่โปร่งใสและไม่มีธรรมาภิบาล (Lack of Transparency) คนรุ่นใหม่มองไม่เห็นอนาคตตัวเอง (No Hope) ภาคธุรกิจต้องดิ้นรนเพียงเพื่อให้มีทางอยู่รอดมากกว่าการคิดสร้างธุรกิจ (Innovation Scarcity) สังคมอ่อนแอต่อภัยคุกคามใหม่ (Vulnerable Society) ต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแต่บ่งชี้ว่าประเทศไทยมีความต้องการแนวทางใหม่ องค์ความรู้ใหม่ที่จะใช้เพื่อการพัฒนา แตกต่างจากแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ที่เราต้องยืดถือปฏิบัติอยู่ตามกฎหมาย) แต่จะต้องเป็นศาสตร์ของการพัฒนาที่บอกถึงหลักพื้นฐานของการพัฒนาในยุคใหม่ได้ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้เหล่านี้และเผยแพร่ให้เกิดความเข้าใจในวงกว้างต่อไป