ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์
อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
ในที่สุด การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Olympic Game) ซึ่งเป็นมหกรรมการแข่งขันกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติที่มีประเทศฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพก็ได้เสร็จสิ้นลง ในแง่มุมของนักกีฬา การได้รับเหรียญรางวัลจากการแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกนั้นถือได้ว่าเป็น “จุดสูงสุด” ของการเป็นนักกีฬา ซึ่งไม่เฉพาะนำมาสู่ชื่อเสียงและเงินทองของนักกีฬาคนนั้น ๆ เท่านั้น แต่ยังนำภาคภูมิใจมาสู่คนในประเทศ
ท่านผู้อ่านเคยคิดไหมครับว่า ปัจจัยอะไรบ้างจะเป็นตัวกำหนดว่า ทำไมประเทศหนึ่งถึงได้รับเหรียญรางวัลมากกว่าอีกประเทศ และปัจจัยใดที่มีความสำคัญที่สุดต่อการเป็นจ้าวเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาระดับโลก อย่างเช่นกีฬาโอลิมปิกนี้
นักวิชาการจาก Nottingham University (Malaysia Campus) อันได้แก่ Robert Hoffman, Lee Chew Ging, และ Bala Ramasamy ได้เก็บรวมรวมข้อมูลรายประเทศและจำนวนเหรียญรางวัลในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศออสเตรเลียในปี ค.ศ.2000 และได้กำหนดสมมติฐานที่จะส่งผลต่อความสำเร็จในการได้รับเหรียญรางวัลในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่มีอยู่ทั้งหมด 5 สมมติฐานได้แก่
สมมติฐานที่ 1– สมมติฐานทางด้านประชากร (Demographic Hypothesis) – ประเทศที่มีประชากรมากจะมีโอกาสได้รับเหรียญรางวัลมากกว่าประเทศที่มีประชากรน้อย เนื่องจากความสำเร็จจากการแข่งขันกีฬาจะเกิดขึ้นเมื่อประเทศนั้นมีผู้มีพรสวรรค์และทักษะทางด้านการกีฬาอยู่เป็นจำนวนมาก โดยประเทศที่มีประชากรมากจะมีโอกาสที่จะค้นหานักกีฬาที่มีพรสวรรค์ได้มากกว่าประเทศที่มีประชากรน้อย โดยผลจากการศึกษาพบว่า ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอย่างประเทศจีน จะมีแนวโน้มได้รับเหรียญรางวัลมากกว่าประเทศอื่น ๆ อยู่ประมาณ 16 เหรียญ
สมมติฐานที่ 2 – สมมติฐานทางด้านภูมิศาสตร์ (Geographic Hypotheses) – ประเทศที่มาจากภูมิภาคเขตหนาวเย็นจะมีโอกาสได้รับเหรียญรางวัลมากกว่าประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ เนื่องจากการเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีการฝึกฝนในสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม ประเทศที่มีอากาศร้อนเกินไปและมีระดับของความชื้นที่มากเกินไปจะไม่เอื้ออำนวยต่อการฝึกซ้อม เพราะจะฝึกซ้อมไม่ได้นานจากการสูญเสียเหงื่อ ซึ่งจะส่งผลทำให้ประเทศที่มีอากาศร้อนและความชื้นสูงจะเสียเปรียบประเทศที่มีอากาศที่เหมาะสมกว่า โดยผลจากการศึกษาพบว่า ประเทศที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นจะมีโอกาสได้รับเหรียญรางวัลมากกว่าประเทศในเขตอากาศอื่น ๆ ประมาณ 5 เหรียญ
สมมติฐานที่ 3 – สมมติฐานทางด้านเศรษฐกิจ (Economic Hypotheses) – ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะมีโอกาสได้รับเหรียญรางวัลมากกว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก เนื่องจากการสร้างนักกีฬาที่มีความสามารถจำเป็นต้องพึ่งพางบประมาณและค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ซึ่งนักกีฬาจากประเทศที่มีระดับของการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูง (หรือมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่) จึงมีแนวโน้มที่จะชนะในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมากกว่า โดยจากการศึกษาพบว่าประเทศที่มีสัดส่วนของ GNP (ต่อค่า GNP ของโลก) สูงก็มีแนวโน้มที่จะได้รับเหรียญรางวัลมากกว่าประเทศขนาดเล็กที่มีสัดส่วนของ GNP ต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา (โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 19 ของเศรษฐกิจโลก) จะมีแนวโน้มที่จะได้รับเหรียญรางวัลจากการแข่งขันมากกว่าประมาณอื่น ๆ ประมาณ 152 เหรียญ
สมมติฐานที่ 4 – สมมติฐานทางด้านการเมือง (Political Hypotheses) – ประเทศที่มีการปกครองแบบสังคมนิยมจะมีโอกาสได้รับเหรียญรางวัลมากกว่าประเทศที่มีการปกครองแบบอื่น เนื่องจากประเทศที่มีลักษณะของการปกครองแบบสังคมนิยมจะมีความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรในด้านการกีฬาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าประเทศที่มีการปกครองแบบอื่นๆ ซึ่งผลจากการศึกษาพบว่า ประเทศที่มีลักษณะของการเป็นสังคมนิยมจะมีโอกาสในการได้รับเหรียญรางวัลมากกว่าประเทศที่ไม่ใช่สังคมนิยมประมาณ 10 เหรียญ
สมมติฐานที่ 5 – สมมติฐานทางด้านวัฒนธรรม (Cultural Hypotheses) ประเทศที่มีวัฒนธรรมที่เอื้อไปกับการแข่งขันกีฬามีแนวโน้มที่จะได้รับเหรียญรางวัลมากกว่าประเทศที่ไม่มีวัฒนธรรมในลักษณะดังกล่าว ซึ่งวัฒนธรรมในที่นี้จะรวมไปถึงการเป็นแฟนกีฬา และสัดส่วนในการชมกีฬาของคนในประเทศ โดยถ้าคนในประเทศมีลักษณะของการชื่นชอบการแข่งขันกีฬามาก ก็จะมีแนวโน้มที่คนในประเทศดังกล่าวจะสนับสนุนในการที่ประเทศของตนจะเป็นเจ้าภาพ (Host Country) ในการเป็นผู้จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โดยจากการศึกษาในกรณีของประเทศออสเตรเลียที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปี ค.ศ.2000 ซึ่งประเทศที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันจะมีโอกาสได้รับเหรียญรางวัลมากกว่าประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นเจ้าภาพอยู่ประมาณ 42 เหรียญ โดยประเทศที่เคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในอดีตต่างก็มีศักยภาพในการได้รับเหรียญรางวัลมากกว่าประเทศที่ไม่เคยเป็นเจ้าภาพเลยด้วยเช่นเดียวกัน (ในงานศึกษายกตัวอย่างของประเทศเกาหลีใต้)
งานศึกษาดังกล่าวยังพยายามใช้แบบจำลองมาคาดการณ์โอกาสความสำเร็จของประเทศในกลุ่มอาเซียน (ASEAN Countries) ในการได้รับเหรียญรางวัลในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โดยในกรณีของประเทศไทย แบบจำลองได้คาดการณ์ไว้ตั้งแต่เมื่อ 24 ปีก่อนว่า ประเทศไทยจะได้รับเหรียญรางวัลจำนวน 5 เหรียญในปี ค.ศ. 2024 (ซึ่งคลาดเคลื่อนเล็กน้อยจากความเป็นจริงที่เราได้ 6 เหรียญ) และจำนวน 7 เหรียญในปี ค.ศ. 2050
ที่มา – Hoffman, Robert, Ging, Lee Chew, Ramasamy, Bala (2004) “Olympic Success and ASEAN Countries: Economic Analysis and Policy Implications”, Journal of Sport Economics, 5(3): 262-276