กองทุนรวมที่เน้นความยั่งยืนให้ผลตอบแทนดีกว่ากองทุนรวมปกติหรือไม่

การลงทุนเน้นความยั่งยืน (Sustainable investing) หรือที่เรียกกว่าการลงทุนที่เน้นความรับผิดชอบต่อสังคม (Socially responsible investing) เป็นการลงทุนที่คำนึงถึงผลต่อสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) (ESG) เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการคัดเลือกบริษัทหรือกิจการที่จะจัดสรรเงินลงทุน โดยมุ่งหวังให้การจัดสรรเงินลงทุนนี้กระตุ้นให้เกิดการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง

ที่ผ่านมาแนวคิดการลงทุนเน้นความยั่งยืนได้รับการส่งเสริมในตลาดทุนของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น กลุ่มประเทศยุโรป หรือ สหรัฐฯ และในกรณีประเทศไทยการลงทุนเน้นความยั่งยืนได้รับการส่งเสริมโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผ่านการจัดทำรายชื่อ “หุ้นยั่งยืน” หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) และการให้สิทธิลดหย่อนภาษีสูงสุด 100,000 บาทสำหรับการลงทุนระยะยาวในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG fund) ตั่งแต่เดือนมกราคมปี 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งการส่งเสริมเหล่านี้ก่อให้เกิดความสนใจในการลงทุนกองทุนรวมที่เน้นความยั่งยืนเพิ่มขึ้นในประเทศไทย

อย่างไรก็ตามในการลงทุนกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน สิ่งที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญนอกเหนือจากผลประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับ ก็คือความความหวังเกี่ยวกับผลตอบแทนและความเสี่ยงของกองทุนกลุ่มนี้ เทียบกับกองทุนปกติ ว่ามีความแตกต่างกันในแง่มุมไหนบ้าง เนื่องจากที่ผ่านมาการลงทุนโดยเน้นความยั่งยืนยังเป็นเรื่องที่ใหม่ในประเทศไทยทำให้ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวลักษณะของผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุนที่เน้นความยั่งยืนอย่างชัดเจน

โดยจากผลการศึกษาจากตลาดทุนต่างประเทศ ยังให้ผลการศึกษาที่ขัดแย้งกันอยู่โดยในกรณีของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ และยุโรป เช่น การศึกษาของ Goncalves et al. (2021), Fang and Parida (2022) พบว่า การลงทุนในกองทุนที่เน้นความยั่งยืนจะให้ผลตอบแทนที่ปรับความเสี่ยงที่ดีกว่ากองทุนปกติในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวหรืออยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การศึกษาในภาวะปกติ หลายกรณีพบว่ากองทุนที่มีการลงทุนเน้นความยั่งยืน จะมีผลตอบแทนที่ต่ำกว่ากองทุนปกติ ซึ่งเกิดจากข้อจำกัดของการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน (Guenster 2012) หรือในการศึกษาล่าสุด Gantev et al. (2024) พบว่ากองทุนที่มีระดับความยั่งยืนสูงวัดโดยระดับลูกโลกของ Morningstar globe rating มีแนวโน้มจะสร้างผลตอบแทนที่ต่ำกว่ากองทุนรวมที่ได้ระดับลูกโลกที่ต่ำกว่า แต่พบว่าผู้จัดการองทุนมีแนวโน้มจะจัดสรรเงินลงทุนในหุ้นกลุ่มยั่งยืน เพื่อให้ได้การจัดระดับลูกโลกจาก Morningstar ที่ดีขึ้นเพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุนที่ต้องการลงทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ และความยั่งยืน

ส่วนการศึกษาในกรณีประเทศไทย ผู้เขียนได้ทำการศึกษาแนวโน้มของผลตอบแทนและความเสี่ยงของกองทุนรวมที่มีระดับลูกโลกของ Morningstar ที่ต่างกัน ผลการวิเคราะห์พบว่า ระดับกองทุนที่มีระดับลูกโลกสูงขึ้นจะมีผลตอบแทนที่ต่ำลง แต่มีความเสี่ยงที่วัดโดยความส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) ที่น้อยลงด้วย ส่วนการวิเคราะห์ผลตอบแทนในช่วงวิกฤต พบว่าไม่มีความแตกต่างในผลตอบแทนและความเสี่ยงระหว่างกองทุนรวมที่มีระดับลูกโลกต่างกัน ดังนั้น ผลการวิเคราะห์โดยใช้ระดับลูกโลกของ Morningstar เป็นตัวแทนในการวัดการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของกองทุนรวม พบว่า การลงทุนที่เน้นความยั่งยืน นักลงทุนไม่ได้ไปด้วยกันกับผลตอบแทนเฉลี่ยที่นักลงทุนได้รับ โดยนักลงทุนมีแนวโน้มจะลงทุนในกองทุนเพื่อความยั่งยืน เพื่อหวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแต่สังคมโดยรวมมากกว่าการคาดหวังผลตอบแทน แต่อย่างไรก็ตามประโยชน์ที่ได้รับคือความเสี่ยงในการลงทุนที่ลดลง และอาจช่วยลดความเสี่ยงสำหรับการลงทุนในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ นอกจากนี้ในกรณีประเทศไทยผลประโยชน์ทางภาษีเป็นมาตรการที่ช่วยเพิ่มผลตอบแทนการลงทุน ซึ่งน่าจะช่วยจูงใจนักลงทุนในช่วงแรกที่เริ่มมีการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืนได้ และในช่วงต่อ ๆ ไป การศึกษาในต่างประเทศพบว่า นักลงทุนยินดีลงทุนในหุ้นเพื่อความยั่งยืนแม้ว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ลดลงก็ตาม ดังนั้น สิทธิประโยชน์ทาภาษีจึงสามารถลดหรือยกเลิกได้ในระยะยาว โดยมาตรการในระยะยาวควรปรับเป็นการส่งเสริมให้นักลงทุนเห็นความสำคัญของการใช้เครื่องมือการลงทุนในบริษัทหรือกองทุนรวม เพื่อจูงใจให้ผู้บริหารบริษัท หรือ ผู้จัดการกองทุน คำนึงปัจจัยด้านความยั่งยืนในการบริหารบริษัท หรือการบริหารกองทุนในอนาคตครับ

รศ.ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์

คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาศาสตร์

รศ.ดร.สุธาวัลย์ พฤกษ์อำไพ

คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์