สุขภาพดี: คนจนมีสิทธิไหม

ความมั่งคั่ง ความอุดมสมบูรณ์ หรือ ความร่ำรวย (wealth) มิได้จำกัดเฉพาะทรัพย์สินเงินทองเท่านั้น แต่ยังมีในรูปแบบอื่นด้วย และความมั่งคั่งที่ผู้เขียนคิดว่าสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือ “การมีสุขภาพดี” เพราะนั่นหมายถึงเราสามารถใช้ร่างกายในการหารายได้ และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข แต่น่าสังเกตว่า สุขภาพกลับไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร เรามักได้ยินว่า มีคนทุ่มเททำงานจนร่ำรวย แต่ต้องแลกมาด้วยสุขภาพ และสุดท้ายต้องใช้เงินที่สะสมมาทั้งชีวิตในการรักษาโรค หรือ การมีความคิดว่าตอนนี้ยังสุขภาพดีอยู่ จึงควรเอาเวลาไปหาเงินก่อน และที่หลายคนถกเถียงกัน คือ การรักษาสุขภาพให้ดีต้องใช้เวลาและเงิน ซึ่งคนจนไม่มีโอกาสทำได้ ผู้เขียนขอบอกว่า คนจนมีสิทธิร่ำรวยสุขภาพได้ หากให้ความสำคัญ โดยการใส่ใจและมุ่งมั่นในการรักษาสุขภาพมากพอ และต้องเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้  

          เมื่อเปรียบเทียบกับคนกลุ่มอื่น ๆ คนจนมักมีเพียงร่างกายเป็นต้นทุนในการหาเลี้ยงชีพ จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการบำรุงรักษาสุขภาพให้ดีเพื่อให้สามารถใช้งานได้ยาวนาน อีกทั้งเรามักลืมไปว่า เมื่อป่วยไข้เรายังต้องมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเอง (แม้ภาครัฐจะรับภาระส่วนใหญ่ของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล) เช่น ค่ายาที่อยู่นอกบัญชี ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าเสียโอกาสในการทำงาน และความทุกข์ทั้งกายและใจ ที่ประเมินค่าได้ยาก

ข้อมูลจากงานวิจัยในด้านสุขภาพมากมาย ชี้ว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิต เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรค NCDs สำหรับคนไทยนั้น โอกาสเกิดโรคเพิ่มสูงมากในช่วงอายุ 30-44 ปี [1] กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า คนไทยมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ดังเช่น ผู้มีรายได้สูงมักรับประทานอาหารไขมันสูงและน้ำหวาน ในขณะที่ ผู้มีรายได้น้อยรับประทานอาหารสัตว์แปรรูปและอาหารกึ่งสำเร็จรูป และที่สำคัญคือคนไทยส่วนใหญ่ รับประทานผักและผลไม้ไม่เพียงพอต่อวัน [2]  นอกจากนี้ งานวิจัย ยังพบว่า คนไทยวัยกลางคนออกกำลังกายน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น และยังมีพฤติกรรมอื่น ๆ ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ไม่อ่านฉลากอาหาร และยังคงรับประทานอาหารตามใจปาก แม้จะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องผลของอาหารต่อสุขภาพ [3] อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถช่วยลดโอกาสการเกิดโรค NCDs ได้ และผู้เขียนขอเสนอแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่ทุกคน ไม่ว่าจนหรือรวย สามารถทำได้ ด้วยหลัก 3 อ. (อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์) และ 2 ส. (ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มสุรา)

อาหาร: ให้คิดถึงหลัก “ลบสองเด้ง” ทุกครั้งที่เรารับประทานอาหารไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะเรากำลังเพิ่มโทษให้กับร่างกาย และในขณะเดียวกันนั้น เราลดโอกาสรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพื่อบำรุงรักษาร่างกาย ผู้เขียนมีข้อเสนอในเรื่องการรับประทานอาหาร ดังนี้ (1) ลดอาหารแปรรูปสูง (Ultra-processed food) ซึ่งเป็นอาหารที่ผ่านการผลิตทางอุตสาหกรรมหลายขั้นตอน มีการใส่สารเติมแต่ง และสารเคมีที่มิได้ใช้กันในครัวเรือนเป็นส่วนผสม เพื่อเพิ่มสีสีน รูปลักษณ์ และรสชาติ ให้น่ารับประทานมากขึ้น ตัวอย่างของอาหารประเภทนี้ที่เราเห็นกันทั่วไป ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมเค้ก และน้ำอัดลม เป็นต้น ซึ่งวิธีการสังเกตว่าเรากำลังบริโภคอาหารประเภทนี้อยู่หรือไม่ ทำได้โดยการอ่านฉลากอาหาร ซึ่งจะพบว่าอาหารประเภทนี้มีส่วนผสมอย่างน้อย 5 ชนิด [4] และมักมีส่วนผสมที่เราอ่านแล้วไม่รู้จัก อาหารแปรรูปสูงมาพร้อมความ หวาน มัน เค็ม และให้พลังงานสูง และมักต้องรับประทานในปริมาณมากจึงอิ่ม (2) เพิ่มผักผลไม้ตามฤดูกาล ซึ่งมักมีราคาถูก และที่สำคัญคือ ให้เริ่มต้นการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อด้วยผักผลไม้ ซึ่งจะช่วยให้อิ่มเร็วขึ้นและลดโอกาสในการรับประทานอาหารที่เป็นโทษต่อร่างกาย และ (3) หยุดรับประทานอาหารเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน หรือประมาณ 18.00 น. เพราะร่างกายใช้พลังงานน้อยลงในช่วงเวลาหลังจากนี้

ออกกำลังกาย: ข้อค้นพบที่สำคัญประการหนึ่งจากกลุ่มประชากรที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่หนาแน่นตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก หรือที่เรียกว่า Blue Zones คือ คนกลุ่มนี้มิได้มีการออกกำลังกายในแบบปกติ แต่ใช้ชีวิตที่กระฉับกระเฉงและมีการขยับร่างร่างกายทุกๆ 20 นาที ในการทำกิจกรรมประจำวันต่างๆ ได้แก่ ทำงานบ้าน ทำสวน ทำอาหาร และที่สำคัญคือใช้การเดินเป็นหลักเมื่อออกจากบ้าน [5] ดังนั้นสำหรับผู้ไม่มีเวลาในการออกกำลังกายแบบปกติ ให้อาศัยหลักการเดียวกันนี้คือ เพิ่มกิจกรรมทางกายให้มากขึ้นเท่าที่ทำได้ เช่น ใช้บันไดแทนการขึ้นลิฟท์ หรือเดินแทนการนั่งรถจักรยานยนต์ นอกจากนี้ควรขยับร่างกายและลุกเดิน หากต้องนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตามหากงานประจำที่ทำเป็นการใช้แรงกายมากอยู่แล้ว ให้เพิ่มการยืดเหยียดร่างกายด้วย คล้ายกับการเติมน้ำมันให้เครื่องจักรไม่ฝืดหรือติดขัด

อารมณ์: การมีอารมณ์ดี จิตแจ่มใส จะช่วยให้สามารถรับมือกับปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้เป็นอย่างดี นักวิทยาศาสตร์พบว่าร่างกายและจิตใจมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก ถ้าอารมณ์ดี สุขภาพร่างกายจะดีตาม และในทางกลับกันถ้าเรามีความเครียด จะส่งผลกระทบไม่ดีต่อสุขภาพร่างกายด้วย ผู้เขียนขอเสนอแนวทางที่จะช่วยให้จิตใจแจ่มใสได้แบบง่าย ๆ และไม่มีค่าใช้จ่าย นั่นคือ การนอนหลับให้เพียงพอโดยการเข้านอนให้เร็วตั้งแต่หัวค่ำอย่างสม่ำเสมอ เพราะการนอนลักษณะนี้เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตตามนาฬิกาชีวภาพ หรือ Circadian rhythm ซึ่งขึ้นอยู่กับพระอาทิตย์ เนื่องจากแสงแดดในแต่ละช่วงเวลา ส่งผลให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนและสารสื่อประสาทที่เหมาะสมในช่วงเวลานั้น ๆ เช่น ในช่วงเช้า แสงแดดกระตุ้นร่างกายสร้าง Serotonin ช่วยให้เรากระฉับกระเฉง แจ่มใส  (หากมีสารนี้น้อยเกินไป จะเพิ่มโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้) และในช่วงเย็น ร่างกายจะสร้าง Melatonin ช่วยให้นอนหลับได้ดีในเวลากลางคืน ดังนั้น เราควรตื่นเช้าและใช้เวลาอยู่กลางแจ้งระหว่างวันให้มากขึ้น และที่สำคัญ ต้องไม่จ้องจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ก่อนนอน เพราะแสงจากอุปกรณ์เหล่านั้น จะลดการสร้าง Melatonin ทำให้นอนหลับได้ยาก (หากติดซีรีส์ให้ดูหลังตื่นนอนแทน) นอกจากนี้งานวิจัย [6] ยังชี้ว่าการใช้ชีวิตตามนาฬิกาชีวภาพนั้น ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็ง และโรคความจำเสื่อมอีกด้วย 

สูบบุหรี่และดื่มสุรา: สองสิ่งนี้ผู้อ่านทุกท่านคงทราบกันเป็นอย่างดีอยู่แล้วว่า เราควร ลด ละ เลิก หากทำได้จะ “บวกสองเด้ง” เพราะเป็นการลดรายจ่ายและทำให้สุขภาพดีขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงเรากำลังดำเนินชีวิตไปในทางที่ดีขึ้น พร้อมที่จะสร้างความมั่งคั่งทางสุขภาพและการเงิน 

หวังว่าที่ผู้เขียนเสนอมาทั้งหมดนี้ จะช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นหลากหลายแนวทางในการดูแลสุขภาพให้ดีขึ้น ผู้เขียนขอย้ำว่า เราสามารถร่ำรวยสุขภาพได้ หากเรามุ่งมั่นมากพอ

“Our bodies are our gardens – our wills are our gardeners.” – William Shakespeare

รองศาสตราจารย์ ดร. ประสพโชค มั่งสวัสดิ์

คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า