รศ.ดร. ศรัณย์ ศานติศาสน์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ดร.สันต์ชัย ยุติกา มหาวิทยาลัยฟาฏอนี
ยะลา หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย มีเศรษฐกิจที่หลากหลายซึ่งเกิดจากการผสมผสานระหว่างแนวปฏิบัติแบบดั้งเดิมและภาคส่วนที่กำลังพัฒนา ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของยะลามีชื่อเสียงทางประวัติศาสตร์ในด้านมรดกทางวัฒนธรรมทั้งไทย มลายู และจีน และยังสะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างเกษตรกรรม การค้า และอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต นอกจากนี้ ผังเมืองยะลายังมีความสวยงามติดอันดับโลก
เกษตรกรรมเป็นกระดูกสันหลังทางเศรษฐกิจของยะลา ด้วยพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการเพาะปลูกพืชผล เช่น ผลไม้นานาชนิดอย่าง ทุเรียน มังคุด กล้วยหิน ส้มโชกุล ลองกอง และส้มโอ ซึ่งสามารถทำเงินให้จังหวัดได้ปีละหลายหมื่นล้าน หรือการส่งออกปลาประจำจังหวัดที่เรียกว่า “ปลากือเลาะห์” หรือปลายพลวงชมพู ซึ่งเป็นที่นิยมในฮ่องกงและมาเลเซีย และมีราคาสูงถึงกิโลละหลายพันบาท ยะลายังมีส่วนสำคัญต่อการผลิตยางพาราของประเทศไทย เป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อการบริโภคในท้องถิ่นและการส่งออก สภาพภูมิอากาศแบบเขตร้อนและดินที่อุดมสมบูรณ์ทำให้ยะลาเอื้อต่อกิจกรรมการเกษตร ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในพื้นที่
การค้าและการพาณิชย์ยังมีบทบาทสำคัญในโครงสร้างเศรษฐกิจของยะลา โดยเป็นศูนย์กลางการค้า เป็นที่ตั้งของตลาดที่คึกคักและกิจกรรมการค้าที่เอื้อต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่น ภาคการค้าปลีกซึ่งประกอบด้วยธุรกิจขนาดกลางและเล็ก จัดหาสินค้าและบริการที่จำเป็นแก่ประชาชน ส่งเสริมความมีชีวิตชีวาทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ด่านพรมแดนเบตง ยังเป็นหนึ่งในด่านสำคัญของภาคใต้ที่เชื่อมโยงการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับประเทศมาเลเซีย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยะลาตระหนักถึงความสำคัญของการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดให้ก้าวไปข้างหน้า Yala Smart Green Growth เพื่อให้เป็นเมืองแห่งนวัตกรรม ส่งเสริม Startup ในพื้นที่ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการเติบโต ความหลากหลายที่นอกเหนือจากภาคส่วนดั้งเดิมแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อความยั่งยืนและความยืดหยุ่นในระยะยาวเมื่อเผชิญกับภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
การท่องเที่ยวเป็นภาคส่วนที่ทำให้เกิดความหลากหลายทางเศรษฐกิจของจังหวัดยะลา ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างสกายวอล์ค ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง บ่อน้ำร้อนเบตง หรือป่าฮาลาบาลา แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ศิลปะ และเอกลักษณ์ท้องถิ่นอย่างการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้มาค้นหาประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์และภูมิประเทศที่หลากหลาย ความพยายามในการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจของจังหวัดยะลาซึ่งนำเสนอช่องทางการเติบโตที่มีศักยภาพ
อำเภอเบตง ถูกกำหนดเป็นหมุดหมายที่สำคัญในการส่งเสริมและการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดยะลา ภายใต้โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีเป้าหมายการพัฒนาในลักษณะพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะ โดยกำหนดให้เบตงเป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยื่น ด้วยแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวครบวงจรและแหล่งท่องเที่ยวใหม่ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพระบบไฟฟ้าและระบบโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ อีกด้วย หากพิจารณาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการ SDGs 2030 ขององค์การสหประชาชาติแล้ว จะเห็นว่า แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยว อ.เบตง จ.ยะลา จะสอดคล้องอย่างน้อย 3 ประการ คือ เป้าหมายที่ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก เป้าหมายที่ 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก และเป้าหมายที่ 17 ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ทรัพยากรที่เป็นต้นทุนด้านการท่องเที่ยวของอำเภอเบตง เอื้อต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนในหลายมิติ อาทิ ต้นทุนทางกายภาพที่โดดเด่นด้วยสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่โอบล้อมด้วยภูเขาสูง ส่งผลให้มีอากาศหนาวเย็นตลอดปี เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ มีเสน่ห์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ รวมถึงวิถีชีวิตของผู้คนเบตง ที่อยู่รวมกันอย่างสันติในสังคมหลากหลายวัฒนธรรม สัมผัสได้ถึงการให้เกียรติ ความร่วมมือ มีอัตลักษณ์และน่าสนใจไม่แพ้กัน กว่า 6 ปี นับตั้งแต่มีการริเริ่มโครงการเมืองต้นแบบดังกล่าวข้างต้น ได้มีหลายภาคส่วนทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องในมิติต่างๆ ที่สำคัญของพื้นที่อำเภอเบตง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ
ความต่อเนื่องของการดำเนินการพัฒนาในพื้นที่จากทุกภาคส่วน ทั้งนโยบายภาครัฐ และความร่วมมือจากภาคประชน นับว่าเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้การผลักดันการท่องเที่ยวเบตง มีพัฒนาการอย่างไม่หยุดนิ่ง กล่าวได้ว่า การผลักดันชุดโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่มีเป้าหมายครอบคลุมการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และ อ.เบตง จ.ยะลา นั้น โครงการพัฒนาอำเภอเบตงให้เป็น “เมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน” ด้วยแนวทางการพัฒนาต่อยอดการท่องเที่ยวจากฐานทรัพยากรที่เด่นอยู่แล้วของเบตง นับเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเชิงประจักษ์มากที่สุด หากเปรียบเทียบกับโครงการในชุดเดียวกัน
การท่องเทียวเบตง จึงถือเป็นเพชรเม็ดงามด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดยะลา ที่ยังสามารถเจียรไนให้โดดเด่นสวยงาม เพื่อเพิ่มมูลค่าได้อีกมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท้าทายและต้องคำนึงในมิติของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับพื้นที่เบตง คือ การขยายโอกาสที่ควรรองรับกลุ่มคนตัวเล็ก รวมถึงหน่วยธุรกิจเล็กๆ ให้มีความเข้มแข็ง และให้การพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ ดำเนินไปโดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จริงๆ
ที่มา: เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของยะลา กับหมุดหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน