ศาสตราจารย์ ดร. สรศาสตร์ สุขเจริญสิน คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า
ในการดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มักจะทำโครงการเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง เพราะการดำเนินโครงการที่ตอบโจทย์หลายเป้าหมายในเวลาเดียวกันนั้นทำได้ยาก และมีความซับซ้อนสูง จึงต้องอาศัยการถอดบทเรียนจากแนวคิดหรือโครงการที่ประสบความสำเร็จ เพื่อนำมาศึกษารูปแบบการดำเนินโครงการว่ามีความเป็นไปได้เพียงใด บทความนี้ ผู้เขียนจึงได้การถอดบทเรียนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนจากข้อเสนอโครงการ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนแบบหลายมิตินั้นมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ
โครงการหนองย่างทอยโมเดลนี้ ตั้งอยู่ในตำบล หนองย่างทอย (Nong Yang Thoi) อำเภอศรีเทพ อยู่ใต้สุดของจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งได้รับการจัดให้เป็นพื้นที่มีศักยภาพของที่ดินเหมาะสมมากในการปลูกต้นสัก จึงถูกออกแบบมาให้เป็นต้นแบบสวนป่าเศรษฐกิจแบบผสมผสานเพื่อความยั่งยืน โดยสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และแก้ปัญหาความยากจนไปพร้อมๆ กัน
ข้อเสนอนี้พัฒนาขึ้นโดยคณะนักศึกษาของสถาบันวิทยาการตลาดทุนรุ่นที่ 32 พูดง่ายๆ ก็คือโครงการปลูกป่าไม้เศรษฐกิจที่มีค่า เช่น ต้นสัก ต้นพยูง เป็นต้น ไว้บนที่ดินของเศรษฐีที่ดินที่ปล่อยไว้ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร
แน่นอนว่าการปลูกป่าก็จะทำให้เกิดการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยลดโลกร้อนได้ แต่จะปลูกป่ากว่าจะเก็บกินได้ก็ต้องรอไม้โตไม่ต่ำกว่า 10 ปีขึ้นไป จึงไม่มีแรงจูงใจในระยะสั้น ดังนั้น การจะเพิ่มพื้นที่ป่าโดยชวนเกษตรกรรายเล็กรายน้อยมาร่วมด้วยก็คงทำได้ยาก เพราะเกษตรกรต้องการรายได้ระยะสั้นมาจุนเจือครอบครัว นอกจากนี้ การปลูกไม้เศรษฐกิจบนพื้นที่ของเศรษฐีที่ดินก็ไม่มีคนดูแลรักษา ถึงมีก็เป็นแบบลูกจ้างซึ่งก็ไม่ได้พัฒนาพื้นที่ชุมชนรอบข้างแต่อย่างใด ในขณะที่ชุมชนโดยรอบที่มีครัวเรือนซึ่งมีแรงงานแต่ขาดเงินทุนและตลาด จึงเกิดแนวคิดหนองย่างทอยโมเดลขึ้น
แนวคิดหลักของโครงการคือ การจัดตั้งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ปลูกไม้เศรษฐกิจกับพืชสมุนไพรตามความต้องการของตลาดโดยใช้ที่ดินของนายทุนที่ปล่อยไว้ไม่ได้ทำประโยชน์ โดยบริษัทที่ต้องดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการทำ CSR มาลงทุนให้เพื่อจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมแบบไม่แสวงหากำไร (ซึ่งบริษัทที่ลงทุนก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการหักเป็นค่าใช้จ่ายได้เต็มจำนวน) ก็เท่ากับว่าผู้ลงทุนก็ได้ทุนคืนกลับไปแล้วในรูปสิทธิประโยชน์ทางภาษี และสามารถได้คาร์บอนเครดิตตามข้อตกลงอีกด้วย แล้วนำทุนที่ได้มาไปเช่าที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์แล้วลงทุนปลูกไม้เศรษฐกิจที่ตัดขายได้ในระยะยาว แต่ในระยะสั้น ก็ลงทุนปลูกสมุนไพรไว้เพื่อขายแล้วแบ่งกำไรกับชุมชนที่จะเข้ามาดูแลป่าเศรษฐกิจนี้ให้ พอถึงเวลา 10 หรือ 20 ปี ในอนาคตก็ตัดไม้เศรษฐกิจแล้วเอาไปแบ่งให้เกษตรกรในชุมชนที่ร่วมโครงการด้วย ทำอย่างนี้ เกษตรกรในชุมชนรอบข้างก็จะมีรายได้สูงขึ้นจากสมุนไพรและมีเงินออมในรูปไม้เศรษฐกิจในสัดส่วนตามที่ตกลงกันไว้ในอนาคต แถมยังมีโอกาสรับรายได้เพิ่มหากมีองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องมาช่วยให้ความรู้ในการแปรรูปหรือสร้างมูลค่าเพิ่มจากสมุนไพร และหาตลาดเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปอีกด้วย
โดยแนวคิดนี้สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลากหลายมิติ ได้แก่
1. การแก้ปัญหาความยากจนด้วยการปลูกป่าเศรษฐกิจแบบผสมผสานกับการปลูกสมุนไพรที่มีศักยภาพสูง จึงได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าในระยะยาว มีสมุนไพรที่ตรงตามความต้องการของตลาด สามารถสร้างรายได้ทั้งในระยะสั้น โดยมีวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ตั้งขึ้นมาทำหน้าที่เป็น active sponsor ของโครงการ คอยประสานงานช่วยเหลือสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรในโครงการ และสามารถขยายผลไปในพื้นที่รอบๆ โครงการ รวมทั้งส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม (social entrepreneur) โดยเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่เข้ากับโลกธุรกิจ ใช้เครือข่ายบริษัทจดทะเบียนที่มีศักยภาพและรับผิดชอบต่อสังคมเป็นพี่เลี้ยงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แบบนี้ก็จะต่อยอดไปถึงเศรษฐกิจมูลค่าเพิ่มที่มีการเกษตรเป็นฐานได้อย่างไม่ยาก
2. การเพิ่มพื้นที่ป่าในการดูดซับคาร์บอน โดยชุมชนมีส่วนร่วม ดูแลป่าไม้ ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชน โดยส่งเสริมการปลูกสมุนไพรแซมในพื้นที่ป่า สามารถต่อยอดเพื่อขายคาร์บอนเครดิตให้กับภาคธุรกิจ ที่ต้องการนำไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรการ carbon neutrality (ความเป็นการทางคาร์บอน) และตอบสนองความตื่นตัวของบริษัทชั้นนำของโลกที่ตั้งเป้าหมาย net zero emission (การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยการปลูกป่า รวมทั้งการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย เพราะคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากการปลูกป่าบนพื้นที่เอกชน จะสามารถซื้อขายได้ทั้งในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศ
3. ลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ด้วยกลไกวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่ได้มุ่งหวังกำไร โดยเกษตรกรจะไม่ได้รับเพียงค่าแรง แต่มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเหมาะสมในลักษณะ profit sharing (การแบ่งกำไร) ระหว่างกิจการที่ออกทุนกับเกษตรกรที่ร่วมโครงการที่ลงแรง นับเป็นการกระจายรายได้จากวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่มุ่งหวังกำไรไปสู่ชุมชนที่มาร่วมเป็นภาคีนี้ ที่สำคัญ หากทำสำเร็จ ก็สามารถต่อยอดไปยังชุมชนใกล้เคียงแบบลูกข่ายได้อีก โดยเกษตรกรจะได้เห็นต้นแบบความสำเร็จด้วย
ปัจจัยของความสำเร็จจะอยู่ที่ การมีผู้มีส่วนร่วมที่มีความเห็นตรงกัน ที่จะร่วมสร้างเป็นภาคีเครือข่าย ประกอบ ซึ่งประกอบด้วย
- บริษัทเอกชนที่ต้องการทำโครงการ CSR ที่ยั่งยืน สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระยะยาว หรือบริษัทที่ต้องดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- วิสาหกิจเพื่อสังคมที่เป็น active sponsor ของโครงการ
- เจ้าของที่ดินที่ปล่อยรกร้างว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์
- ภาคีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจเพื่อสังคม เช่น สามารถขอรับการส่งเสริม จากกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
- ภาคีที่ช่วยปลูกป่าและให้คำปรึกษา ได้แก่ ส่วนส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ สำนักเศรษฐกิจการป่าไม้ กรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ Care the Wild มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และสถาบันปลูกป่า ปตท.
- ภาคเอกชนและบริษัทจดทะเบียนที่สนใจทำ CSR ที่มีผลกระทบสูง โดยการประสานจากวิสาหกิจเพื่อสังคม สามารถร่วมเป็น active mentor ในรูปแบบ “องค์กรพี่เลี้ยง” เพื่อให้องค์ความรู้ในการทำธุรกิจและหาตลาดให้กับเกษตรกรและชุมชน และสร้างแบรนด์ให้กับสมุนไพรแปรรูปจากชุมชน
- หน่วยงานท้องถิ่น เช่น สาขาของธนาคารออมสิน หรือ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) เป็นต้น ทำหน้าที่เป็นทีมพี่เลี้ยงทางธุรกิจ ที่อยู่ในพื้นที่เพื่อให้ความรู้และวางระบบในการทำธุรกิจร่วมกันให้เหมาะสมกับพื้นที่
- ภาคีภาครัฐที่ช่วยคัดเลือกเกษตรเพื่อเข้าร่วมโครงการและบริเวณใกล้เคียงเพื่อเป็นลูกข่าย เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชน เกษตรอำเภอ เป็นต้น
- ภาคีภาครัฐและเอกชนช่วยเหลือด้านการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อการบริโภคในครัวเรือนของเกษตรกร เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์เพื่อพัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโครงการเลี้ยงไก่ไข่ เป็นต้น
- ภาคีภาคเอกชนและตลาดทุน ในการให้ความรู้ทางการเงินในระดับบุคคล และเฝ้าดูแลกลุ่มเปราะบางที่ยากจน ปรับเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องเงินให้ถูกต้อง และสร้างเสริมพฤติกรรมที่ดีในการออมผ่านกลุ่มการออมและลงทุน โดยจัดตั้งเป็น “กลุ่มนักออม” ที่ดำเนินการโดยกลุ่มเกษตรและอาสาสมัครชุมชนที่ได้รับการอบรมในประเด็นที่เกี่ยวข้องมาแล้วภายใต้ “พี่เลี้ยงทางการเงิน” และปฏิบัติการออมและลงทุนจริงไม่ว่าเงินจะมีจำนวนมากเท่าใดผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงเข้ากับระบบของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต่างๆ ได้ หลังจากการได้รับความรู้ทางการเงินและสร้างเสริมพฤติกรรมที่ดีในการออมผ่านกลุ่มการออมและลงทุน จะยกระดับคุณภาพชีวิตและทำให้ชุมชนนั้นหลุดพ้นจากความยากจนได้ในอนาคตได้
เนื่องจากกฏหมายเกี่ยวกับภาษีที่ดินที่เพิ่งออกใช้เมื่อไม่นานมานี้ หากพื้นที่ใดไม่ได้ใช้ประโยชน์ รกร้างว่างเปล่า ก็จะถูกเก็บภาษีที่ดินในอัตราที่สูงกว่าการทำเกษตรกรรม และปัจจุบันมีที่ตั้งเป้าหมาย net zero จำนวนมากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีในการนำข้อเสนอทางวิชาการของโครงการหนองย่างทอยนี้มาปรับใช้ เพื่อให้เกิดการใช้ที่ดินที่มีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำในด้านรายได้และที่ทำกิน แก้ไขปัญหาความยากจน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ไปพร้อมๆ กับการช่วยลดปัญหาสภาวะโลกร้อน และมีพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นให้กับประเทศไทยอีกด้วย จึงนับเป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนที่น่าสนใจนำไปประยุกต์ใช้อย่างยิ่ง
ที่มา : “โครงการมุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบหลายมิติ” ถอดบทเรียนข้อเสนอโครงการหนองย่างทอยโมเดล – ThaiPublica