ลอตเตอรี่แบบใหม่ 6 หลัก กับเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท นโยบายที่น่าสนใจปี ’66 …ว้าวุ่นเลย เราจะใช้ยังไงดี

รองศาสตราจารย์ ดร.อภิรดา ชิณประทีป คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
apirada.ch@gmail.com; apirada.c@nida.ac.th

สวัสดีค่ะ ขอบคุณทุกท่านที่ให้โอกาสแลกเปลี่ยนความเห็น ก่อนหน้านี้เราได้พูดเรื่องหนักๆ และภาคเศรษฐกิจต่างๆ ภาพรวมเป็นระยะๆ แล้ว เช่น บทความฉบับวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา นโยบายรัฐบาลที่น่าสนใจสำหรับปี 2566? & ปีกระต่ายท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนเศรษฐกิจ (ภาค3) หรือบทความฉบับวันที่ 8 พฤศจิกายน 2022 ความยั่งยืนของธุรกิจ และประเด็นเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้าย 2565

ครั้งนี้ เราจะมาพูดแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องเบาๆ ส่วนบุคคลกันบ้าง ซึ่งตอนนี้ทางรัฐบาลได้มีแคมเปญใหม่ๆ ออกมา ที่น่าสนใจในช่วงนี้คงจะไม่พ้นเรื่องของสลากกินแบ่งรัฐบาลรูปแบบใหม่ 6 หลัก และในเรื่องของเงินดิจิทัล 10,000 บาทที่คาดว่าจะได้เร็วๆ นี้ ข่าวว่าไม่เกินต้นปีหน้า มีหลากหลายท่านได้ให้ความเห็นมากมายแล้วเราก็เชื่อมั่น เราคงจะไม่พูดถึงว่าที่มาของเงินได้มาจากแหล่งไหน ต้องกู้หรือไม่ เพียงพอหรือไม่ จะเกิดฟองสบู่หรือไม่ จะถึงผู้รับในระบบเศรษฐกิจฐานรากจริงๆ หรือไม่ หรือจะเป็นการเกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสหรือทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า opportunity cost ของการนำเงินจำนวนเดียวกันนี้ไปใช้ในนโยบายอื่นๆ หรือในรูปแบบอื่นที่โดยเปรียบเทียบอย่างไร เราคงจะขอละไว้ในโอกาสอื่นต่อๆ ไป แต่ครั้งนี้เราจะมาเน้นเรื่องของการใช้แทนค่ะ ท่านผู้อ่านจะได้เตรียมแผนการใช้จ่ายไว้ในใจแต่เนิ่นๆ ไม่ฉุกละหุก (ยิ้ม) ซึ่งมีคนบอกว่าสามารถลุ้นในจำนวนที่มากขึ้นได้เมื่อเปรียบเทียบกับรูปแบบเก่า

1. สลากกินแบ่งรัฐบาลหกหลัก (Lottery 6: L6) เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2566 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเกี่ยวกับการกำหนดประเภท รูปแบบ การออกสลาก รวมถึงการจัดจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลหกหลัก สาระสำคัญโดยการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก วิธีการจำหน่ายและการซื้อสลากยังเป็นรูปแบบเดิม โดยปรับกระบวนการทำงานให้คล่องตัวขึ้นเพื่อรองรับการจำหน่ายสลากดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นในระยะต่อไป โดยไม่มีกรอบดำเนินการ 100 ล้านใบเป็นตัวกำหนด ไม่ต้องไปรอลดสัดส่วนสลากแบบใบ และคาดว่าจะจำหน่ายได้ไม่น้อยกว่า 25-30 ล้านใบต่องวด จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 19 -20 ล้านฉบับ เป็นต้น

2. กระเป๋าเงินดิจิทัล หรือ digital wallet 10,000 บาท เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนของพรรคเพื่อไทยที่ใช้หาเสียงในช่วงเลือกตั้งปี 2566 โดยมีเป้าหมายกระจายรายได้สู่ชุมชนเพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ สำหรับประชาชนทุกคนอายุ 16 ปีขึ้นไป โดยในขณะนั้นได้สรุปรายละเอียดว่า จำนวนคนที่จะได้รับทั้งหมด ขั้นต่ำประมาณ 50 ล้านคน และจะโอนเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้ประชาชนโดยตรงผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยไม่ต้องลงทะเบียน เนื่องจากเชื่อมต่อกับบัตรประชาชน

ถ้าเราได้แล้ว ไม่ว่าจะถูกลอตเตอรี่ หรือได้เงินดิจิทัลแล้ว เราจะใช้อย่างไรดี ท่านผู้อ่านได้คิดอะไรไว้ในใจบ้างหรือยังคะ แล้วถ้าเราอยากให้สอดคล้องกับความยั่งยืนล่ะ

การใช้จ่ายอย่างยั่งยืนมีความน่าสนใจ ซึ่งในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเรามักจะมีอ้างอิงจากสหประชาชาติ คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย (goals) ภายใต้หนึ่งเป้าหมายจะประกอบไปด้วยเป้าหมายย่อยๆ ที่เรียกว่า เป้าประสงค์ (targets) ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 169 เป้าประสงค์ และพัฒนา ตัวชี้วัด (indicators) จำนวน 232 ตัวชี้วัด (ทั้งหมด 244 ตัวชี้วัดแต่มีตัวที่ซ้ำ 12 ตัว) เพื่อติดตามความก้าวหน้าของเป้าประสงค์ดังกล่าว

และการใช้จ่ายอย่างยั่งยืนจะตรงกับเป้าหมายที่ 12 แผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (SDG 12: Ensure responsible consumption and production) ซึ่งสาระสำคัญโดยย่อคือการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน เพื่อสนองความต้องการที่จำเป็นต่อชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการบริโภคอย่างพอดีและให้เหลือทิ้งน้อยที่สุด การลดผลกระทบเชิงลบทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยไม่กระทบต่อความสามารถในการสนองความต้องการบริโภคสิ่งที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป ด้วยการเปลี่ยนแปลงการผลิตและการบริโภคสินค้าและทรัพยากร การจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และวิธีการกำจัดขยะที่เป็นพิษและมลพิษในอุตสาหกรรม ธุรกิจและผู้บริโภคเพื่อก้าวเข้าสู่แผนการบริโภคที่ยั่งยืนภายในปี 2573 ดังแสดงในรูปที่ 1

เป้าหมายที่ 12 แผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (SDG 12: Ensure responsible consumption and production) ที่มาภาพ : Goal 12 infographic, source: https://unstats.un.org/sdgs/report/2023/

ดังนั้น หากจะให้มีการใช้จ่ายอย่างยั่งยืน นั่นหมายความว่าเราอาจจะใช้ประโยชน์จากเงินจำนวนนี้ไปกับกิจกรรมหรือสินค้าที่สามารถพัฒนาต่อยอดการผลิต การพัฒนาทักษะซึ่งเราอาจจะมองถึงในแง่ของการทำให้เราเกิดความสุขในระยะยาวมากกว่าเพียงฉาบฉวย ซึ่งก็อาจจะลองวางแผนดู ไม่ว่าจะเป็นในเชิงของสินค้าที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาตัวเอง หรืออาจจะนำไปใช้ในสิ่งที่ช่วยเหลือกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคม ต่อเศรษฐกิจ ต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในท้องถิ่นและในประเทศ ซึ่งข้อสังเกตที่ผู้เขียนอยากให้เล็กน้อยคือจะต้องใช้ภายใน 6 เดือน ดังนั้น ไว้เราอาจจะวิเคราะห์ในรายละเอียดในโอกาสต่อไป

ในแง่มุมของการใช้จ่าย บริโภค หรือกระแสความอย่างยั่งยืนนี้ ต่างประเทศมองอย่างไร

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเชิญและได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นในฐานะวิทยากรงานสัมมนาแบบเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทยในความร่วมมือระหว่างประเทศอังกฤษและภูมิภาคอาเซียน โดยมีวิทยากรเก่งๆ และผู้ร่วมประชุมจากประเทศต่างๆ มาเข้าร่วม ซึ่งจากการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ เราพบว่าประเทศอาเซียนด้วยกันเองก็ยังมีปัญหาและต้องการความร่วมมือด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเราจะสร้างการรับรู้ แรงกระตุ้น และให้เกิดประโยชน์ทั้งในแง่ของสังคมโดยรวมและเศรษฐกิจไปพร้อมกันได้อย่างไร ซึ่งในกรณีแบบนี้ นอกเหนือจากการปลูกจิตสำนึกทั่วไปแล้ว การมีนโยบายที่เหมาะสมควบคู่กันไปก็จะเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน

ผู้เขียนได้รับเชิญในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2566 ทางหน่วยงานของสำนักงานสหประชาชาติที่กรุงบอนน์ เยอรมนี มีประเด็นเกี่ยวกับสัญญาประชาคม ที่จะช่วยกระตุ้นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ที่ประชุมได้ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ควรคำนึงถึงหลายประการ ได้แก่ การพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและควรเป็นไปอย่างยั่งยืน การปฏิรูปปรับปรุงข้อตกลงของสังคมร่วมกันโดยพิจารณาอย่างรอบด้าน และจากประสบการณ์ทั่วโลก นอกจากนี้ ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละประเทศ การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ยุค 1970 ซึ่งมีทั้งเรื่องนโยบาย และได้ให้ความสำคัญกับความแตกต่างในด้านต่างๆ ความเหลื่อมล้ำ และโอกาสแก่สตรี อย่างไรก็ตาม เรื่องข้อมูล การวิเคราะห์และวิจัยเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การกำหนดทิศทางได้ถูกต้องสำหรับประเทศและการรณรงค์ประชาชน ตลอดจนมีนโยบายไปยังทิศทางที่เราต้องการ

วันที่ 29 กันยายน 2566 ตรงกับวันแห่งการตระหนักรู้ถึงการสูญเสียอาหารและขยะสากล ซึ่งผู้เขียนได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นโดยหน่วยงานของสหประชาชาติประเทศอิตาลี มีผู้เข้าร่วมจากหลายประเทศหลายร้อยคน แสดงให้เห็นถึงการให้ความสนใจในประเด็นนี้จากหลากหลายประเทศ วิทยากรซึ่งมาจากหน่วยงานสำคัญๆ ทั้งในสหประชาชาติและผู้นำของหลายประเทศได้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมอง

โดยสรุปว่าการผลิตและการบริโภคอาหารจากทั่วโลก ยังมีหลายส่วนที่เกิดการสูญเสียและเป็นการทิ้งขว้าง ทั้งหลังการเก็บเกี่ยว ก่อนจะมาถึงร้านค้า และในระหว่างทางของการบริโภคจนหลังการบริโภคก็ยังมีเรื่องของขยะและส่วนเหลือทิ้งอีก จากข้อมูลพบว่าราวร้อยละ 13 เกิดการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว และอีกร้อยละ 17 เกิดการสูญเสียระหว่างทางในการบริโภค รวมถึงการจัดจำหน่ายอีกด้วย

ทั้งหมดนี้ ถ้าหากเราสามารถช่วยกันลดการสูญเสียเหล่านี้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของการบริโภคอาหารทั่วโลกได้ ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าควรมีความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ซึ่งปัจจุบันทางสหประชาชาติเองได้มีแผนของการลดการสูญเสียให้ได้ร้อย 25 ภายในปีค.ศ.2030 จากข้อมูลปัจจุบันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 12 ซึ่งข้อเสียของการบริโภคอาหารเหลือทิ้งอย่างเปล่าประโยชน์นี้ยังเป็นผลกระทบเชิงลบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และรวมไปถึงระบบการเกษตรภาพรวมด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เป้าหมายของสหประชาชาติเป้าที่ 12 นี้ยังได้รวมถึงการลดผลจากมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมของระบบนิเวศ การใช้สารเคมี การใช้ยาฆ่าแมลง ความสูญเสียด้านอาหารและขยะอาหาร รวมไปถึงการสูญเสียทางชีวภาพ

นอกจากนี้ การสูญเสียทางด้านอาหารยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย ปัจจุบันการสูญเสียอาหารและขยะรวมทั้งโลกแล้วอยู่ที่ประมาณ 400,000 ล้านสหรัฐดอลลาร์ต่อปี ภาพรวมของการลดความสูญเสียทางอาหารและการลดขยะนี้ควรจะต้องพิจารณาในหลายภาคส่วนด้วยกัน ทั้งผู้บริโภคเอง ทั้งเกษตรกรเอง รวมไปถึงภาคผู้ผลิตและภาคการเงินด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสามารถช่วยลดความรุนแรงของวิกฤติอาหารในอนาคต รวมไปถึงช่วยลดผลกระทบทางด้านภูมิอากาศ (climate crisis) ได้ด้วย

ผู้เข้าประชุมมีความเห็นว่านโยบายทางสังคมมีความสำคัญอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อหาทางเลือกในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและประเด็นต่างๆ ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ เว้นแต่เราจะมีการเคลื่อนไหวและนโยบายทางสังคมไปด้วย ด้านตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจรวมถึงความตื่นตัวทางการเมืองนั้น สัญญาทางสังคมและนโยบายมีความสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาประเทศให้ลุล่วงได้ราบรื่น และการพัฒนาอย่างยั่งยืนยังคงเป็นหัวใจสำคัญที่ทั่วโลกยังเห็นพ้องกัน

ท้ายที่สุด ผู้เขียนมองว่าปี 2566 นี้ยังมีประเด็นปัญหาของเศรษฐกิจโลกไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป สงครามยูเครน-รัสเซียที่ยังต่อเนื่อง หรือแม้แต่ประเทศจีนเองในปัจจุบันก็ยังมีเรื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังมีปัญหาอยู่บ้าง ดังนั้น ปีนี้จึงเป็นปีที่ท้าทายสำหรับประเทศไทย ยังคงมีปัญหาด้านการส่งออก ความเหลื่อมล้ำ และอื่นๆ ด้วย

โอกาสหน้าเราคงจะได้มาพูดถึงประเด็นที่น่าสนใจทางเศรษฐกิจสำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจ โปรดติดตามในคอลัมน์ไทยพับลิก้านี้ ส่วนเรื่องโควิดและลองโควิด ผู้เขียนมองว่าทุกท่านอาจจะระวังอยู่ต่อเนื่องอย่างที่มีประสบการณ์อยู่แล้วแต่ไม่ตระหนก ร่วมด้วยการระมัดระวังเผื่อไว้อีกสักนิดสำหรับผู้สูงอายุที่เราห่วงใยในสุขภาพเปราะบาง และหากมีประเด็นเพิ่มเติม อาจจะนำเสนอแลกเปลี่ยนในบทความครั้งต่อไปให้ผู้อ่านที่สนใจทุกท่าน ส่งกำลังใจให้ประเทศไทยในการพัฒนาอย่างยั่งยืนรอบด้านต่อไป

(หมายเหตุ: ทั้งนี้ ความเห็นและบทวิเคราะห์ต่างๆ เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนโดยเป็นความเห็นส่วนตัวเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องตรงกับหน่วยงานที่กล่าวถึงในบทความ หากมีข้อเสนอแนะหรือแลกเปลี่ยน สามารถแนะนำได้ที่ email: apiradach@gmail.com ขอบคุณยิ่ง)

อ้างอิง

อภิรดา ชิณประทีป “ท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนเศรษฐกิจปีกระต่าย 2566 ประเด็นอะไรที่ควรติดตามบ้าง?” สำนักพิมพ์ไทยพับลิก้า ฉบับวันที่ 10 มกราคม 2023

อภิรดา ชิณประทีป ความยั่งยืนของธุรกิจ และประเด็นเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้าย 2565 สำนักพิมพ์ไทยพับลิก้า ฉบับวันที่ 8 พฤศจิกายน 2022 (https://thaipublica.org/2022/11/nida-sustainable-move06/)

อภิรดา ชิณประทีปและคณะ (forthcoming) การวิเคราะห์สถานการณ์โควิด-19 และการเสนอแนะมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมสำหรับประเทศไทย ปี 2565-2566 สนับสนุนโดย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อภิรดา ชิณประทีป “ผลกระทบโควิด กับเศรษฐกิจ ทองคำ น้ำมัน ตลาดหุ้น” หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 29 มิ.ย. 2564
อภิรดา ชิณประทีป “โควิด-19 (Covid-19) ต่อเศรษฐกิจไทย มีโอกาสทางเศรษฐกิจบ้างไหม?” โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 11 พฤษภาคม 2564
อภิรดา ชิณประทีป เสนอร่างความคิดเพื่อการรับมือโควิด-19 (covid-19) ณ พ.ค. 65 และเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 – 2565 เราควรระวังอะไรบ้าง? + ส่วนประกอบร่างความคิด “ก่อน” เป็นร่างภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 10 พฤษภาคม 2565
รายการช่วยคิดช่วยทำ 19 กันยายน 2560 ครอบครัวข่าวเช้า ไทยทีวีสีช่อง3 https://youtu.be/m_aSfF0rqcY
รายการช่วยคิดช่วยทำ 1 พฤษภาคม 2560 (ตอน 1) เกี่ยวกับผู้อพยพในยุโรปและการกีดกันการค้าของอเมริกา ไทยทีวีสีช่อง3 https://youtu.be/siCnL4VNSOw
รายการช่วยคิดช่วยทำ (ตอน 2) เกี่ยวกับแนวโน้ม aging ของประชากรและแลกเปลี่ยนแนวความคิดข้อเสนอเพื่อการจัดการ ไทยทีวีสีช่อง3 https://youtu.be/OA5B4byhbF0
รายการ ASEAN UPDATE อาเซียนอัพเดท ตอนที่ 2 วันที่ 25 เมษายน 2559 (สัมภาษณ์สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยกับอาเซียน) มันนี่ชาแนล (ประมาณการฟื้นตัวระเบิดราชประสงค์ได้ถูกต้องเมื่อหลายเดือนก่อนหน้าที่นาทีที่ 5.15 และพูดเรื่องการ contributionจ้างงานไว้ประมาณนาทีที่ 8.45)

ประเด็นสั้นๆ ตลอดจนคำถามแลกเปลี่ยนมุมมองทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจเป็นระยะๆ https://web.facebook.com/apiradach/owner_reels

ที่มา : ลอตเตอรี่แบบใหม่ 6 หลัก กับเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท นโยบายที่น่าสนใจปี ’66 …ว้าวุ่นเลย เราจะใช้ยังไงดี – ThaiPublica