พัฒนาการท่องเที่ยวไปสู่เป้าหมายเพื่อ “ลดความยากจน” (Pro-Poor Tourism)

ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์


ประเทศไทยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยส่งผลทำให้ประเทศไทยสามารถยกระดับจากประเทศด้อยพัฒนามาสู่การเป็นประเทศกำลังพัฒนาได้ นอกจากนั้น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าวยังมีส่วนช่วยในการลดอัตราส่วนของประชากรที่ตกอยู่ในภาวะยากจน (จากการวัดโดยอาศัยเส้นความยากจน) ซึ่งการลดความยากจนนี้เป็นเป้าหมายอันดับแรกของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (United Nations’s Sustainable Development Goals หรือ SDGs)

และเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหัวจักรสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน องค์กรเพื่อการพัฒนา และองค์กรไม่แสวงหากำไรเกือบทั้งหมดถึงให้ความสำคัญกับการพยายามยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มีบทบาทต่อ “สนับสนุนไปสู่การลดความยากจน (Pro-Poor Tourism)

การท่องเที่ยวเพื่อสนับสนุนคนยากจน นิยามโดยทั่วไปคือ การท่องเที่ยวที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุทธิแก่คนจน ซึ่งหมายถึงประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับสูงกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้น แต่กลไกที่ทำให้คนยากจนได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวได้นั้นมีด้วยกัน 7 ช่องทาง (UNWTO, 2004) หากช่องทางเหล่านี้ไม่เกิดขึ้น คนยากจนก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของการท่องเที่ยวดังนี้

1.การจ้างคนยากจนเข้ามาทำงานในภาคธุรกิจที่ประกอบกิจการท่องเที่ยว (Employment of the poor in tourism enterprise) – โดยเกิดจากการการจ้างงานในภาคธุรกิจที่ประกอบกิจการการท่องเที่ยว (Tourism Enterprise) ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้างอาหาร หรือธุรกิจนำเที่ยว โดยในการที่คนยากจนจะได้ประโยชน์จากช่องทางในการจ้างงานนี้ การพัฒนาด้านการศึกษาและการฝึกอบรม (Education and Training) จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะสร้างโอกาสให้กับผู้มีฐานะยากจน รวมไปถึงยังสามารถทลายกำแพงทางสังคมและวัฒนธรรมของแรงงานในบางกลุ่มหรือบางพื้นที่ได้

2.การจัดหาสินค้าหรือบริการทางการท่องเที่ยวที่ดำเนินการโดยคนยากจน (Supply of goods and services to tourism enterprises by the poor or by enterprises employing the poor) – โดยนอกจากจะเป็นการจ้างงานแล้ว คนยากจนยังเป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการเพื่อป้อนให้กับธุรกิจท่องเที่ยวผ่านห่วงโซ่มูลค่าในแต่ละขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการที่ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นผู้รับซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นจากในท้องถิ่น รวมไปถึงการที่คนยากจนในท้องถิ่นได้มีโอกาสในการเป็นผู้ให้การเข้าร่วมดำเนินการกิจกรรมสนับสนุน (Supporting Services) ต่างๆ ของภาคธุรกิจที่ประกอบกิจการท่องเที่ยว ดังนั้นประโยชน์ที่คนยากจนจะได้รับในส่วนนี้จะมากหรือน้อยจึงขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจที่ประกอบกิจการท่องเที่ยวนั้นจะมีสัดส่วนในการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ผลิตขึ้นจากท้องถิ่นมากน้อยเพียงใด โดยนอกจากรายได้ทางตรงที่จะตกกับคนยากจนแล้ว การใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ผลิตขึ้นจากท้องถิ่นยังสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมทางธุรกิจต่อเนื่องในชุมชน ส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาทักษะ (Skill Development) และเป็นการเพิ่มคุณค่าและอัตลักษณ์ของท้องถิ่น

3.การขายสินค้าและบริการแก่นักท่องเที่ยวจากคนยากจนโดยตรงผ่านเศรษฐกิจนอกระบบ (Direct Sales of goods and services to visitors by the poor in informal economy) – โดยช่องทางนี้เป็นอีกทางหนึ่งที่คนยากจนสามารถแสวงหาโอกาสในการหารายได้จากนักท่องเที่ยว เช่นการขายของชำร่วย งานประดิษฐ์ และการขายอาหารแก่นักท่องเที่ยวในบริเวณนั้น เป็นต้น ซึ่งการขายสินค้าและบริการผ่านเศรษฐกิจนอกระบบนี้จะเป็นช่องทางทางตรงที่คนยากจนจะได้รับรายได้จากนักท่องเที่ยว ซึ่งในการที่จะใช้ประโยชน์จากช่องทางนี้ ภาครัฐ (หรือชุมชน) จำเป็นต้องจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก (Facilities) และนำเสนอข้อมูลข่าวสารแก่นักท่องเที่ยวในการซื้อสินค้าและบริการผ่านคนยากจนดังกล่าว นอกจากนี้ต้องให้แน่ใจว่าสิ่งที่นำเสนอแก่นักท่องเที่ยวนั้นเป็นสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน

4.การจัดตั้งวิสาหกิจที่ดำเนินการบริหารโดยคนยากจน/การดำเนินการผ่านวิสาหกิจชุมชน (Establishment and running tourism enterprises by the poor or community-based enterprises) – โดยในช่องทางนี้จะแตกต่างจากช่องทางที่ 3 ข้างต้นตรงที่ว่าช่องทางการจัดตั้งวิสาหกิจที่ดำเนินการบริหารโดยคนยากจนหรือการดำเนินการผ่านวิสาหกิจชุมชนจะดำเนินการอยู่ในเศรษฐกิจในระบบ (Formal Economy) ซึ่งจะเป็นต้องเป็นวิสาหกิจที่จัดตั้งและดำเนินการโดยคนยากจน (ทั้งในระดับบุคคลหรือในระดับชุมชน) ซึ่งรวมไปถึง ที่พักอาศัย อาหาร การขนส่ง หรือร้านขายสินค้าแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งประโยชน์ที่ได้จากการจัดตั้งองค์กรประเภทนี้ก็คือการที่การดำเนินการจะกระทำโดยชุมชนเพื่อประโยชน์แก่คนในชุมชนเป็นสำคัญ

5.จัดสรรรายได้ภาษีอากรหรือเงินที่เรียกเก็บจากนักท่องเที่ยวกลับไปสู่คนยากจน (Tax or levy on tourism income or profits with proceeds benefiting the poor) – ช่องทางนี้เป็นหนึ่งในช่องทางของการแทรกแซงจากภาครัฐ (Government Intervention) โดยเป็นการใช้เงินรายได้ที่ประเทศหรือท้องถิ่นได้รับการจาก การท่องเที่ยว เช่น การเก็บภาษีกับนักท่องเที่ยว การเก็บค่าผ่านทางเข้าสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญๆ รวมไปถึงการเก็บค่าเข้าใช้สาธารณูปโภค เป็นต้น โดยภาครัฐหรือท้องถิ่นจะนำรายได้ในส่วนนี้มาจัดสรรให้กับผู้มีฐานะยากจนอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยตรง ซึ่งทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญของประเทศว่าจะมุ่งเน้นในด้านการลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ในการที่จะสามารถใช้ช่องทางนี้ได้อย่างประสบผลสำเร็จจึงจำเป็นที่รูปแบบการหารายได้และการจัดสรรรายได้ไปสู่คนยากจนดังกล่าวจะมีความโปร่งใส (Transparency) มากน้อยเพียงใด ซึ่งความโปร่งใสในการจัดสรรรายได้ส่วนนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อความยั่งยืนในการใช้ช่องทางนี้

6.การให้การช่วยเหลือผู้มีฐานะยากจนจากวิสาหกิจท่องเที่ยวผ่านรูปแบบเงินบริจาค (Voluntary giving/support by tourism enterprises) – ช่องทางนี้เกิดจากการที่นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมีความสมัครใจในการช่วยเหลือชุมชนและท้องถิ่นของตนธุรกิจที่ประกอบกิจการท่องเที่ยวจำนวนมากมีนโยบายในการให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ภาคธุรกิจนั้นตั้งอยู่ นอกจากนี้ภาคองค์กรไม่แสวงหากำไรในแต่ละท้องถิ่นยังเป็นผู้มีบทบาทต่อการนำเงินบริจาคการนักท่องเที่ยวมาจัดสรรในรูปแบบของเงินบริจาคให้กับคนยากจน

7.การลงทุนทางด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวที่สร้างประโยชน์แก่คนยากจนโดยตรง (Investment in infrastructure stimulated by tourism) – เนื่องจากคนที่มีฐานะยากจนมักอาศัยอยู่ห่างไกล ซึ่งยังไม่มีระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เช่นระบบน้ำประปา ไฟฟ้า พลังงาน การติดต่อสื่อสาร และระบบการเดินทางและระบบโลจิสติกที่จะเป็นการอำนวยความสะดวกต่อนักท่องเที่ยว โดยการลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวนี้นอกจากจะช่วยสร้างโอกาสให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงประชาชนในท้องถิ่นได้มากขึ้นแล้ว โครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นยังส่งผลต่อสวัสดิการความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึงสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวนี้ก็คือ ต้องให้แน่ใจว่าจะไม่ไปเบียดบังการบริโภคของประชาชนในท้องถิ่นเอง

แต่ทว่า ในการเข้าใจถึงบทบาทของภาคการท่องเที่ยวที่จะมีส่วนช่วยในการลดความยากจนได้นั้น ผู้กำหนด นโยบายการท่องเที่ยวจึงควรให้ความสนใจไม่ใช่เฉพาะแค่รายได้สุทธิที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง (หรือในระดับพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง) จะได้รับจากการท่องเที่ยวแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ควรพยายามเข้าใจถึงกระบวนการที่รายได้ที่จะถูกส่งผ่านเพื่อไปตกอยู่กับผู้มีฐานะยากจนอย่างแท้จริง ซึ่งในการที่จะส่งเสริมให้แต่ละช่องทางเกิดการส่งผ่านของรายได้จากการท่องเที่ยวไปสู่คนยากจนได้จริงนั้น จำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเข้ามากำหนดนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะในด้านการเพิ่มรายได้ที่การท่องเที่ยวจะตกอยู่ในพื้นที่ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการท่องเที่ยว ซึ่งจะขออธิบายในบทความครั้งต่อไป

ที่มา : พัฒนาการท่องเที่ยวไปสู่เป้าหมายเพื่อ “ลดความยากจน” (Pro-Poor Tourism) – ThaiPublica