ผศ. ดร.อัธกฤตย์ เทพมงคล คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
“ในช่วงชีวิตพ่อ พ่อไม่นึกเลยว่าจะต้องกลับมาเห็นการปฏิวัตรัฐประหารอีก” คำพูดของพ่อที่เอ่ยขึ้นมาด้วยหน้าเจื่อนๆ พร้อมถอนหายใจเบาๆ ขณะที่นั่งอยู่หน้าทีวีในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ยังคงติดตาติดหูผู้เขียนจนถึงทุกวันนี้ ในวันนั้นผู้เขียนเองยังไม่เข้าใจเรื่องวังวนประชาธิปไตยไทยกับการรัฐประหารมากนัก เคยเรียนเคยอ่านมาบ้าง แต่ก็สู้ชีวิตที่ได้สัมผัสมันมาจริงๆ แบบคนรุ่นพ่อไม่ได้ ในวันนี้ที่ 9 ปีผ่านไปอย่างเสียเปล่าทำให้ผู้เขียนเข้าใจความเจื่อนของพ่อในวันนั้นได้อย่างลึกซึ้ง
คนจำนวนมากอยู่ด้วยกันย่อมเห็นแตกต่างหลากหลาย ทำอย่างไรถึงจะได้มาซึ่งการตัดสินใจเชิงกลุ่ม บางกลุ่มใช้วิธีการเสาะหาคนที่ฉลาดและมีความสามารถที่สุดในกลุ่มเป็นผู้ตัดสินใจแทน บางกลุ่มเชื่อว่ามีคนที่สูงส่งกว่าไม่ว่าในแบบองค์เทพอวตาร หรือเชิงบารมีจากคุณธรรมจรรยาที่สั่งสมมา จนทุกคนต้องศิโรราบแก่ทุกการตัดสินใจของเขา แต่วิถีประชาธิปไตยนั้นแตกต่างออกไป ประชาธิปไตยให้คุณค่ากับการตัดสินใจของทุกคน และทุกคนต้องเคารพการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่ในสังคมนั้น
ดังนั้น ประชาธิปไตยไม่ได้นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เป็นเลิศ แต่ “มัก” จะให้ผลลัพธ์กลางๆ ที่ประสานความเห็นของหลายๆ ฝ่าย ต่างจากการปกครองโดยจอหงวนหรือสมมติเทพที่ผลลัพธ์ออกได้ “ทุกหน้า” อย่างคาดเดาไม่ได้ จอหงวนที่ฝักใฝ่ผลประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริงจะใช้ความสามารถส่วนบุคคลนั้นคิดแทนทุกคนและนำสังคมไปสู่ความเป็นเลิศได้ ในทางกลับกัน ถ้าคนที่ได้ปกครองเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัวหรือเป็นคนที่ไร้ความสามารถ เขาก็อาจพาสังคมย่อยยับได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะประชาธิปไตยตัดสินใจตามเสียงส่วนใหญ่ของสังคม ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงเป็นเลิศได้แค่เท่ากับ “ความเป็นเลิศของสังคม” หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนก็คือ ได้แค่เท่ากับคนส่วนใหญ่ของสังคมนั้นๆ
จะเห็นได้ว่าประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่มุ่ง “ผลลัพธ์” แต่มันเป็น “กระบวนการ” ที่ฟังเสียงคนในสังคมเพื่อตัดสินใจ ด้วย “กระบวนการ” นี้ อย่างน้อยที่สุดทุกคนจะมีสิทธิแม้สักเสี้ยวเดียวในทุกการตัดสินใจของสังคม และการตัดสินใจนั้นๆ ส่วนมากแล้วก็จะไม่สุดโต่ง มักจะเป็นการตัดสินใจแบบกลางๆ ที่ไม่หวือหวา มีความเสถียรข้ามเวลา หรือเราอาจจะใช้คำว่า “ยั่งยืน” ก็คงจะไม่ผิดนัก ส่วนผลลัพธ์นั้นก็จะ “เป็นเลิศเท่ากับระดับที่สังคมนั้นเป็น” นั่นแหละ อย่าไปหวังอะไรมากกว่านั้น
ประชาธิปไตยกับศีลธรรมไปด้วยกันได้แต่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นของกันและกัน ผลลัพธ์ของประชาธิปไตยไม่ได้ยึดติดอยู่กับคุณความดีใดๆ ไม่ว่าจะใช้บรรทัดฐานศีลธรรมอันไหนก็ตาม ถ้าคนส่วนใหญ่บอกว่าเราควรตัดไม้ทำลายป่า ประชาธิปไตยก็จะตัดไม้ทำลายป่า มันเป็นเช่นนั้น เช่นเดียวกับความเป็นเลิศ ประชาธิปไตยจะดีงามได้แค่เท่ากับ “ความดีงามของสังคม” นั้น ดังนั้นถ้าเราอยากให้ประชาธิปไตยมีคุณธรรมจรรยาที่ดีงาม เราก็ต้องไปพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสังคมนั้นให้ดีงามก่อนนั่นเอง
ถึงจุดนี้จงถามตัวเองว่า ลึกๆ ในใจเรายึดติดกับผลลัพธ์อันเป็นเลิศหรือเปล่า ยึดติดกับผลลัพธ์ที่ดีงามหรือไม่ ยึดติดแค่ไหน ถ้าคำตอบคือยึดติดอย่างมาก ประชาธิปไตยจะต้องให้รัฐบาลที่ถูกใจ ต้องได้ผู้นำที่เป็นคนดี ต้องมีความสามารถสูง บริหารประเทศต้องปังในทุกๆ ด้าน จงรู้ตัวไว้ว่าลึกๆ ในใจเราอาจจะไม่ได้โหยหาประชาธิปไตยอย่างที่พูดกันอย่างติดปาก ลึกๆ แล้วเราเป็น “กบในบึง” ที่อยากให้ฟ้าส่ง เทพ วีรบุรุษ ขอนไม้ หรือนกกระสา มาปกครอง
ประชาธิปไตยโดยตรงที่ทุกคนมานั่งเรียงกันแล้วยกมือโหวตกันในทุกการตัดสินใจนั้นไม่สามารถปฏิบัติได้จริงในสังคมขนาดใหญ่ เราจึงต้องใช้ประชาธิปไตยแบบผ่านตัวแทนแทน นั่นคือประชาชนเลือกตั้งเลือก สส. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ไปทำหน้าที่โหวตแทนเราในสภาฯ จนกว่าจะหมดวาระ หน้าที่ของเราในช่วงเวลานั้นคือการติดตามผลงานทางการเมืองของทุกฝ่ายว่าใครทำถูกใจเราใครทำไม่ถูกใจเรา ตัวแทนที่เราเลือกไปทำงานอย่างน่าพอใจรึเปล่า ถ้าสิ่งใดไม่ถูกจิตถูกใจเรา สิ่งที่เราทำได้คือการแสดงออกทางความคิดอย่างสงบ แล้วรอเลือกตั้งครั้งต่อไป ถ้ารัฐบาลชั่วร้าย ความชั่วร้ายจะสร้างความเดือดร้อนให้คนในสังคม เลือกตั้งครั้งหน้าคนที่เดือดร้อนก็จะไปเลือกคนอื่นแทน มันก็แค่นั้น
ด้วยกลไกที่ปล่อยให้ทำงานแล้วให้รางวัลหรือลงโทษในทุกๆ การเลือกตั้งแบบนี้ ประชาธิปไตยจึงเป็นระบอบการปกครองที่เนิบนาบและใช้ระยะเวลาในการเติบโต ไม่สามารถใจร้อนได้
นักรัฐศาสตร์หลายๆ ท่านพยายามยัดเยียดการเมืองบนท้องถนนให้เป็นส่วนหนึ่งในระบบประชาธิปไตยด้วย ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วย การประท้วงบนท้องถนนโดยนิยามของมันเองไม่สามารถสงบได้ เพราะจุดมุ่งหมายที่เอาคนมารวมตัวกันปิดถนนเมืองก็เพื่อจะสร้างความเดือดร้อนในบริเวณนั้นเพื่อต่อรองให้รัฐบาลหันมาสนใจ เป็นหนึ่งในความใจร้อนที่สามารถเป็นประกายไฟเล็กๆ ที่นำไปสู่การสะดุดล้มของประชาธิปไตยได้
รัฐประหารปี 57 เป็นตัวอย่างชั้นดี คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจการเมือง ณ ขณะนั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่าใจร้อน หรือคิดว่าเลือกตั้งมา “ผลลัพธ์” ก็ไม่ได้ดั่งใจอยู่ดี ออกมาเป่านกหวีดไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วตบมือให้ทหารเข้ามารัฐประหาร สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย ที่ปล่อยให้การยก “ผลลัพธ์” อยู่เหนือ “กระบวนการ” ครั้งนั้นผลักให้ประชาธิปไตยของประเทศไทยสะดุดล้มและกลิ้งถอยหลังไปอย่างน้อย 9 ปี
แต่ก็นั่นแหละ ประชาธิปไตยมันเป็นเลิศและดีงามได้แค่เท่ากับความเป็นเลิศและดีงามของสังคม นี่คงเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และเติบโตร่วมกันระหว่างคนไทยกับประชาธิปไตยของเรา
ที่มา : ประชาธิปไตยไทยคือความยั่งยืนที่ยังยืนไม่ยั่ง – ThaiPublica