การเงินเพื่อความยั่งยืน: กระแสหลักหรือทางเลือก?

รองศาสตราจารย์ ดร. ณดา จันทร์สม ผู้อำนวยการหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเงิน คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ nada@nida.ac.th

เมื่อกล่าวถึงการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) หลายคนอาจยังไม่คุ้นหู เนื่องจากเป็นเรื่องที่กล่าวถึงกันในช่วงเวลาไม่นานนัก แต่ต้องยอมรับว่า เป็นกระแสที่พูดถึงอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ปี 2015 ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทุกภาคส่วนต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ลงมือช่วยลดผลกระทบของภาวะโลกร้อน เนื่องด้วยภาวะภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอันมีต้นเหตุมาจากอุณหภูมิของโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบรุนแรงมากยิ่งขึ้น

เป้าหมายในระดับสากลที่ส่งผลต่อความพยายามในเรื่องยั่งยืนที่สำคัญ ได้แก่ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย ซึ่งกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาร่วมกันใน 5 มิติที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาคน (People) การดูแลโลก (Planet) ซึ่งเป็นมิติหลักทางด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ (Prosperity) การพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน (Partnership) และการพัฒนาอันนำไปสู่สันติภาพ (Peace) รวมถึง “ความตกลงปารีส” ที่มุ่งเน้นให้ประเทศภาคีร่วมกันตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ครอบคลุมในเรื่องของการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation)

การมีโครงสร้างทางการเงินที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) กลไกการสร้างความโปร่งใส (Transparency) โดยให้มีการทบทวนการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake) และการให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านการพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เสริมสร้างศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงทางการเงิน โดยประเทศภาคีต้องมีข้อเสนอการดำเนินการที่เรียกว่า Nationally Determined Contribution (NDC) ของประเทศทุก ๆ 5 ปี

แม้ว่าจะมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศในการช่วยกันรักษาระดับอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นเร็วเกินไป แต่จากรายงานล่าสุดของ UNEP Emissions Gap Report 2022 พบว่า ด้วยนโยบายการพัฒนาที่เป็นอยู่ในสภาพปัจจุบัน อุณหภูมิของโลกอาจเพิ่มสูงขึ้นเข้าสู่ระดับ 2.8 องศาเซลเซียลในปี 2100 ได้ นอกจากนั้นจากรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Report 2023 โดย SDSN พบว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับโลก ยังคงอยู่ห่างไกลจากเป้าหมาย และมีแนวโน้มสูงมากที่จะไม่บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดในปี 2030

นอกจากนั้นช่องว่างของการพัฒนาอย่างยั่งยืนวัดด้วย SDG Index ระหว่างประเทศรายได้สูงและประเทศรายได้ต่ำมีแนวโน้มที่จะห่างกันเพิ่มมากขึ้นกว่าในช่วงปี 2015 ที่เริ่มกำหนดการพัฒนา ทั้งนี้มีสาเหตุหลักมาจากการเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดจากโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หมายความว่า หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ให้เปลี่ยนแปลงไปจากทิศทางที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ความพยายามกว่า 10 ปีของการพัฒนาอย่างยั่งยืนอาจจะสูญเปล่าไปได้ (SDSN, 2023: หน้า 30) จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่แต่ละประเทศจะต้องมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ พร้อมการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ทุกภาคส่วนต้องตระหนักว่า ในทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการผลิต การบริโภค การลงทุน การให้บริการ ล้วนแต่มีส่วนในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวคือมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงมีมิติของการพัฒนาที่ต้องให้ความสำคัญในทุกมิติ มิใช่แค่การเจริญเติบโตในภาคเศรษฐกิจเพื่อสร้างความมั่งคั่งเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงเติบโตอย่างสมดุลมิให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต้องมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติเพื่อคนรุ่นต่อ ๆ ไป รวมถึงการสร้างสมดุลในทางสังคมมิให้ส่งกระทบในทางลบต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมจนเกิดปัญหาที่รุนแรงต่อคนในสังคมได้

ภาคการเงินเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากเป็นตัวจักรในการสนับสนุนแหล่งเงินทุน เพื่อให้เกิดการลงทุนสำหรับการปรับเปลี่ยนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจฃองภาคธุรกิจและครัวเรือน รวมถึงภาครัฐเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “การเงินเพื่อความยั่งยืน” (Sustainable Finance) จึงเป็นสิ่งที่ภาคการเงินต้องเร่งขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม และนำไปสู่การสนับสนุนและผลักดันให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้เร่งดำเนินการให้ตอบสนองต่อการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

ในช่วงปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้นำเสนอทิศทางการดําเนินงานที่สําคัญ เพื่อสนับสนุนบทบาทของภาคการเงินให้สามารถตอบโจทย์ภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยระบุแนวทางขับเคลื่อนสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่
1) กำหนดทิศทางให้สถาบันการเงินปรับกระบวนการทำธุรกิจและวัฒนธรรมขององค์กร ให้มีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจ เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน

2) จำแนกกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับความยั่งยืนอย่างชัดเจน โดยมีการกำหนดมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) เพื่อให้มีความชัดเจนในการแยกแยะว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจใดที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และใช้เป็นมาตรฐานร่วมกันในการขับเคลื่อน ลดความเสี่ยงของการตีความและการกล่าวอ้างเกินจริงในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกกันว่า “การฟอกเขียว” (Green washing) ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ในการดำเนินงาน

3) สร้างฐานข้อมูลที่เป็นระบบ เข้าถึงได้ รวมถึงมีมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงิน เพื่อให้ทุกกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนมีความโปร่งใส และตรวจสอบได้

4) ผลักดันและสร้างแรงจูงใจที่ส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมจากต้นทุนที่ถูกกว่า หรือการสร้างโอกาสทางธุรกิจเพิ่มมากขั้น และ (

5) พัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ มีทักษะ องค์ความรู้ และความเข้าใจในความยั่งยืนอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดแรงผลักดันต่อการเงินเพื่อความยั่งยืนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจำเป็นต้องให้ความรู้และพัฒนาคนในองค์กร ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีความต้องการการสนับสนุนในทุกด้าน ไม่เฉพาะเรื่องใหม่อย่างการเงินเพื่อความยั่งยืน

จากทิศทางการพัฒนาการดำเนินงานดังกล่าวข้างต้น การขับเคลื่อนในภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในระบบการเงินควรต้องดำเนินควบคู่กันไป การดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้ ควรได้รับการพิจารณาและหาแนวทางในการผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ

  • มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ที่มีเงื่อนไขและตัวชี้วัดสำหรับประเมินรายกิจกรรมที่ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้รอบด้าน เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำให้เกิดความชัดเจนให้ได้มากที่สุด เพื่อลดข้อโต้แย้งและช่วยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพี่อความยั่งยืนได้ง่ายขึ้น เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการออก Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 แต่ยังต้องพัฒนาในระยะต่อ ๆ ไปให้ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ นอกจากนั้น การมีฐานข้อมูลที่เป็นระบบ เพื่อสามารถให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าถึงได้ และสามารถใช้เป็นฐานอ้างอิงต่อการพัฒนากิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ฐานข้อมูลดังกล่าวควรพัฒนาควบคู่ไปพร้อมกับการจำแนกประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุม เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจ หน่วยงานกำกับดูแล และผู้กำหนดนโยบายในภาคส่วนต่าง ๆ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงและส่งเสริมการลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนไปในทิศทางเดียวกัน (Alignment) และทำให้การดำเนินงานด้านความยั่งยืนมีความโปร่งใส เป็นเครื่องมือของภาครัฐในการจัดสรรเงินทุนไปในทิศทางที่เหมาะสมและก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคการเงินจะสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืน เช่น ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (green bonds) สินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม (green loans) หลักทรัพย์ที่ออกโดยมีสินทรัพย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลักประกัน (green asset backed securities) รวมถึงการพัฒนาดัชนีสีเขียว (green indices) เป็นต้น ซึ่งการมีตัวชี้วัดเป็นมาตรฐานและชัดเจน วัดผลได้ จะทำให้นักลงทุนและหน่วยงานของรัฐสามารถวัดระดับการลดคาร์บอน (decarbonization) ของภาคเศรษฐกิจและประสิทธิภาพของการลงทุนเพื่อลดคาร์บอนของภาคส่วนต่าง ๆ ได้ และเป็นกลไกสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emission) ตามที่กำหนดไว้
  • สร้างความรู้และความเข้าใจในการประเมินต้นทุนและประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงกำหนดแนวทางสำหรับองค์กรในการประเมินต้นทุนและผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการพึ่งพาขององค์กรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ และบริบทที่องค์กรดำเนินการหรือตั้งอยู่ ต้นทุนและผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมสามารถแสดงในเชิงปริมาณ ทั้งในแง่ที่ไม่ใช่ตัวเงินและตัวเงิน หรือในเชิงคุณภาพ ซึ่งอาจอ้างอิงตามมาตรฐานสากลที่พัฒนาขึ้นมาแล้ว เช่น ISO 14007: 2019 (Environmental costs and benefits) และ ISO 14008: 2019 (Monetary valuation of environmental impacts) ซึ่งในเรื่องนี้จะเป็นฐานที่สำคัญในการพัฒนาระบบการผลิตและการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ทันสมัยมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นได้
  • การพัฒนามาตรฐานบัญชีสำหรับการจัดทำบัญชีเพื่อความยั่งยืน (Green Accounting) ซึ่งครอบคลุมมิติทั้งการรายงานผลการดำเนินงานทางการเงิน (Financial accounting) การบัญชีเพื่อการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Accounting) และการบัญชีเพื่อสังคม (Social Accounting) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการรายงานและเปิดเผยข้อมูลต้นทุนและผลประโยชน์ที่เกิดจากการกระทำหรือกิจกรรมขององค์กรที่ส่งผลต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยการรายงานและการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการบริหารต้นทุนและการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมยิ่งขึ้น รวมถึงใช้เป็นข้อมูลในการประเมินผลการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจที่มีครอบคลุมมิติความยั่งยืนได้มากขึ้น ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะมิติทางด้านการเงินเท่านั้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยต่อการตัดสินใจในการลงทุนที่เกี่ยวข้องได้ โดยในการพัฒนามาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ควรพิจารณาให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลที่มีอยู่ เช่น Environmental Management Accounting โดย International Federation for Accountants (IFAC)

การขับเคลื่อนและผลักดันให้ไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพียงแต่ความพร้อมของแต่ละกลุ่มอาจมีไม่เท่ากัน บทบาทของภาครัฐในการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ที่ชัดเจน มีแผนงานและการจัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเป็นลำดับขั้นตอน และความต่อเนื่องในการขับเคลี่อนแผนเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น การวางทิศทางในการพัฒนาประเทศและความต่อเนื่องเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมาก

ทั้งนี้ การดำเนินการจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดและเร็วเกินไป อาจเป็นภาระแก่ภาคธุรกิจ และส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันได้ ดังนั้น การดำเนินการต้องอยู่บนฐานของสมดุล และมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนไปสู่การบรรลุเป้าหมายได้ในที่สุด

ที่มา: การเงินเพื่อความยั่งยืน: กระแสหลักหรือทางเลือก?