มนุษย์ VS หุ่นยนต์

ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 8 มุ่งส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ผ่านการยกระดับผลิตภาพแรงงานและการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการผลิต โดยการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเป็นผู้ประกอบการและการสร้างงาน อย่างไรก็ดี หนึ่งในข้อกังวลของการที่โลกเข้าสู่ยุคเทคโนโลยี 4.0 ก็คือ การพัฒนาเทคโนโลยีในระดับสูงในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเข้ามาทดแทนการจ้างแรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะหลังยุคโควิดที่ผู้ประกอบการจะมีแนวโน้มในการทรานส์ฟอร์มองค์กรไปสู่การใช้ดิจิตัลมากขึ้น

งานวิจัยที่ออกมาได้ศึกษาโดยใช้ข้อมูลของประเทศที่พัฒนาแล้วพบว่า “แรงงานมีโอกาสสูงที่จะถูกทดแทนโดยระบบหุ่นยนต์และเทคโนโลยีสมัยใหม่” เนื่องจากแรงงานในประเทศเหล่านั้นล้วนมีค่าจ้างที่สูง ดังนั้นการใช้หุ่นยนต์เพื่อทดแทนแรงงานจึง (นอกจากจะช่วยเพิ่มผลิตภาพแล้ว) ช่วยประหยัดต้นทุนค่าจ้างแรงงานได้มากในขณะที่ผลกระทบของการใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่อแรงงานยังได้คำตอบที่ไม่ชัดเจนนักในประเทศกำลังพัฒนาที่ระบบการผลิตยังคงคุ้นชินกับการพึ่งพาแรงงานราคาถูก

งานวิจัยชิ้นล่าสุดของผมกับคุณปพณ ปลื้มวงศ์โรจน์ (นักศึกษาปริญญาโทของคณะ) ที่มีชื่อว่า Are robots stealing job? Empirical evidence from 10 developing countries ได้ศึกษาผลกระทบของการใช้ระบบออโตเมชั่นและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในบริษัทเอกชนข้ามชาติใน 22 สาขาทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ) ในประเทศกำลังพัฒนา 10 ประเทศซึ่งได้แก่ บราซิล เม็กซิโก จีน อินเดีย ไนจิเรีย มาเลเซีย ตุรกี เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย โดยงานศึกษาชิ้นนี้เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Economics of Innovation and New Technology (Scopus quartile 1) ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่จะส่งผลที่ทำให้หุ่นยนต์จะมีโอกาสที่จะแย่งงานมากขึ้นก็คือ “การที่ภาคธุรกิจได้ให้ความสำคัญที่จะใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นหรือไม่” โดยพบว่า ถ้าภาคธุรกิจเห็นความสำคัญกับเทคโนโลยีเหล่านั้น ภาคธุรกิจในประเทศกำลังพัฒนาก็มีโอกาสที่จะเอาเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงานมากขึ้นด้วย โดยพบผลการศึกษาที่มีนัยสำคัญทางสถิติใน 9 ประเทศ (จาก 10 ประเทศ)

อย่างไรก็ดี ผลการศึกษายังพบว่ามีบางสาขาที่การใช้เทคโนโลยีอาจจะส่งผลต่อการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น เช่นสาขา IT ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การพัฒนาทักษะทางด้าน Digital ให้กับแรงงาน รวมถึงการส่งเสริมการศึกษาในสาขา STEAM (Science, Technology, Engineering, Art, Mathematics) จึงยังคงเป็นยุทธศาสตร์ที่จำเป็นที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการ

แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าจะแข่งในเรื่องของความขยัน จะแข่งในเรื่องของความจำ จะแข่งในเรื่องของความฉลาด หรือจะแข่งในเรื่องของการคิดวิเคราะห์ “มนุษย์เราแทบไม่มีอะไรที่จะสู้กับหุ่นยนต์ได้เลย” หุ่นยนต์ที่ประสิทธิภาพที่จะทำงานได้ตลอดเวลาไม่มีหยุด มีความสามารถที่จะจดจำข้อมูลต่างๆ ได้มหาศาล มีความสามารถที่จะคิดวิเคราะห์ออกมาได้อย่างถูกต้องรวดเร็วและแม่นยำ ดังนั้นถ้ามองในมิติของการจ้างงาน จึงมีแนวโน้มมากที่หุ่นยนต์จะเข้ามาทดแทนงานบางประเภทที่มนุษย์เคยทำมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะงานที่ทำซ้ำ ๆ ยังใช้ทักษะต่ำ และไม่จำเป็นต้องมีการคิดวิเคราะห์และใช้ความคิดสร้างสรรค์มากนัก และถ้าเป็นเช่นนั้นมนุษย์อย่างเราจะมีความสามารถอะไรที่จะไปทำงานแข่งขันกับหุ่นยนต์ได้ สิ่งเดียวที่มนุษย์ยังมีอยู่เหนือกว่าหุ่นยนต์ก็คือ “ความรู้สึกนึกคิดของการเป็นมนุษย์”

1. ถึงแม้ว่าหุ่นยนต์จะสามารถทำงานตามที่คาดหวังได้ แต่มนุษย์ที่มีความ “ทุ่มเท มุ่งมั่น และไม่ยอมแพ้” อาจสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่คาดหวัง (Robots live up to expectations, but only human can surpass expectations)

2. ถึงแม้ว่าหุ่นยนต์จะสามารถระบุไปสู่ข้อมูลส่วนบุคคลได้ แต่มนุษย์ที่มี “ความสามารถในสื่อสาร มีความสามารถในการทำงานร่วมกัน มีความเห็นอกเห็นใจกัน มีความรัก และมีครอบครัว” สามารถที่จะสร้างความสัมพันธ์ส่วนบุคคลได้ (Robots can personalize, but only human can make it personal)

3. ถึงแม้หุ่นยนต์จะเป็นเลิศในการทำงานประจำซ้ำ ๆ ก็ตาม แต่มนุษย์ที่มีความสามารถในการคิดนอกกรอบ คิดสร้างสรรค์ และต่อยอดความคิดอย่างมนุษย์เท่านั้นถึงจะเป็นผู้สร้างนวัตกรรมได้ (Robots are good at routine things, but cannot innovate like human can)

4.ถึงแม้หุ่นยนต์จะสามารถทำการ “คาดการณ์” เหตุการณ์ที่จะเกิดเป็นกรณีต่าง ๆ ได้ก็ตาม แต่ มนุษย์ที่มีความรู้สึกรัก ชอบ โกรธ หลง เท่านั้นที่จะเป็นผู้สร้างความประหลาดใจได้อยู่เสมอ (Robots can predict, but only people can surprise)

5. ถึงแม้หุ่นยนต์จะสามารถรับทราบถึงระดับความพึงพอใจของคนที่รับบริการได้ก็ตาม แต่มนุษย์จะสามารถสัมผัสได้ถึง “รอยยิ้ม” ของการบริการ (Robots confirm, but human smile)

ดังนั้น ในการที่มนุษย์คนนั้น ๆ จะสามารถทำงานได้ร่วมกับหุ่นยนต์ได้จึงต้องเป็นมนุษย์ที่มีความผัน มีความมุ่งมั่น มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการทำงานร่วมกับคนอื่น และมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งทั้งหมดล้วนถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ของการที่จะต้องมี “ทักษะชีวิต (Life Skill)” ที่ดี

แต่ทว่าเมื่อมองไปที่ระบบการเรียนการสอนและกระบวนการในการพัฒนาทักษะมนุษย์ในปัจจุบัน ระบบการศึกษาของประเทศไทยเรายังล้าหลัง เรากลับไปเน้นที่การสอนแบบในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยสอนเพียงให้เด็ก “รู้” ในสิ่งที่ครูเองก็รู้ (ถึงแม้ว่าเรามีข้อมูลความรู้เหล่านั้นอยู่แล้วในโลกของอินเทอร์เน็ต) และประเมินผลการศึกษาจากการที่เด็กรู้หรือไม่รู้จากการมีคำตอบที่ตายตัว) ในขณะที่ระบบการศึกษาเรากลับละเลย “วิธีการได้มีซึ่งความรู้” และ “การคิดต่อยอด” ในความรู้นั้น ระบบการศึกษาเราผลิตคนให้ออกมาเป็นหุ่นยนต์เพื่อที่จะออกไปทำงานเป็น “ลูกน้อง” ของหุ่นยนต์อีกที แต่เรากลับยังไม่สามารถผลิต “มนุษย์ที่มีความพร้อมเพียงพอที่จะไปทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ เข้าใจหุ่นยนต์ ควบคุมหุ่นยนต์ และเป็นเจ้านายของหุ่นยนต์ได้” ซึ่งระบบการศึกษาของประเทศเราถ้าเรายังคงไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไร เหตุการณ์อย่างหนังคลาสสิกเรื่อง Terminator หรือ “คนเหล็ก 2029 อาจจะเกิดขึ้นก็ได้ ใครจะไปทราบ