ฟื้นคืนความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิฯ ไทยได้อะไร? และโอกาสของอุตสาหกรรม Healthcare

ดร. พิเศษพร วศวงศ์ คณะศิลปศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ,รศ.ดร. ศรัณย์ ศานติศาสน์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ในอดีตไทยและซาอุดิอาระเบียเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การเมือง สังคม และวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามภายหลังเหตุการณ์ความขัดแย้งอันนำมาซึ่งการระงับความสัมพันธ์ที่กินเวลากว่า 2 ทศวรรษ ส่งผลให้เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกันชะงักงันตามไปด้วย โดยในช่วงดังกล่าวจากการศึกษาเชิงลึกพบว่า ไทยและซาอุดิอาระเบียมีความสัมพันธ์ทางการค้า และการลงทุนทางอ้อม เช่น ผ่านประเทศที่สามอยู่บ้างทำให้ชื่อเสียงของไทยยังคงหลงเหลืออยู่ในมุมมองของชาวซาอุดิอาระเบียบางกลุ่ม

ปัจจุบัน ซาอุดิอาระเบีย เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันเป็นสินค้าหลัก ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหาร และสินค้าอุปโภค บริโภค จากต่างประเทศ โดย ในปี 2021 ซาอุดิอาระเบียมี GDP $832,215.07 ล้าน มีมูลค่าผลผลิตและมีรายได้จากน้ำมันรวม $247,128.79 ล้าน หรือคิดเป็นร้อยละ 29.70 แต่ในปีเดียวกันซาอุดิอาระเบียต้องนำเข้าอาหาร $23,299.92 ล้าน เปรียบเทียบกับผลผลิตอาหารในประเทศ $19,233.03 ล้าน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าอาหารต่อ GDP อาหารของประเทศ ร้อยละ 121.15 เนื่องจากซาอุดิอาระเบียมีพื้นที่แห้งแล้งร้อยละ 70 จึงมีพื้นที่เกษตรส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ แม้ว่าจะมีพื้นที่การเกษตร 1,735,959.17 ตร.กม. หรือคิดเป็นพื้นที่การเกษตรต่อพื้นที่ทั้งหมดร้อยละ 80.75 ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ซาอุดิอาระเบีย มีแผน Diversified จากน้ำมันไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ผ่านแนวนโยบายที่เรียกว่า Saudi Vision 2030 ที่มีวิสัยทัศน์ให้ ซาอุดิอาระเบียเป็นศูนย์กลางโลกอิสลามและอาหรับ โดยผันตัวเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของโลก และเป็นฮับของแอฟริกาและยูเรเซีย (Afro-Eurasia) โดยให้ความสำคัญกับการสร้างประโยชน์จากกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund: SWF) ในสาขาที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน โดย มกุฏราชกุมาร Mohammed Bin Salman หรือ MBS ได้มีนโยบายสำคัญ 2 นโยบาย คือ เปิดเสรีทางเศรษฐกิจ (Liberalization) และการเป็นผู้นำโลก (อาหรับ)

ด้วยเหตุดังกล่าว ซาอุดิอาระเบีย จึงได้ดำเนินนโยบายทางการต่างประเทศกับหลากหลายประเทศ เช่น การเยือนประเทศต่าง ๆ ของ MBS เพื่อเจรจากระชับความร่วมมือ สนับสนุนทุนซาอุดิอาระเบียให้กับมิตรประเทศ เช่น อินเดีย MBS ได้มีการพูดคุยนายกรัฐมนตรีนาเรนทรา โมดี เกี่ยวกับแผนการลงทุนมูลค่า $1 แสนล้าน โดยเบื้องต้นเป็นการลงทุนในสาขาปิโตรเคมี พลังงาน และภาคการผลิต รวมถึง IT ในอนาคต1

นอกจากนี้ยังได้กระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงในมหาสมุทรอินเดียอีกด้วย ส่วนปากีสถานซาอุดิอาระเบียต้องการลงทุนเป็นมูลค่า
$2 หมื่นล้าน2 ในโรงกลั่นน้ำมันที่กวาดาร์ ซึ่งใกล้กับท่าเรือชาบาฮา ของอิหร่าน เป็นต้นซี่งจะเห็นได้ถึงทิศทางสำคัญของซาอุดิอาระเบีย คือ “การใช้รายได้จากน้ำมันไปลงทุนระยะยาวในประเทศทั่วโลก”เพื่อทำให้ซาอุดิอาระเบีย เป็นศูนย์กลางโลกมุสลิม และตะวันออกกลางให้ได้ ไทยจึงได้อานิสงค์ในจุดนั้นนำไปสู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกันอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตามด้วยเหตุแห่งการระงับความสัมพันธ์ทำให้ไทยไม่สามารถเจรจาความตกลงทางเศรษฐกิจกับซาอุดิอาระเบียได้ แม้แต่ในความพยายามเจรจา FTA ระหว่างไทยกับบาห์เรน ก็เคยถูกห้ามปราม และทำให้ต้องหยุดการเจรจาลงโดยซาอุดิอาระเบียได้อ้างว่า บาห์เรนซึ่งเป็นสมาชิก GCC จะต้องปฏิบัติตามกรอบความตกลง คือ ต้องเจรจาความตกลง FTAกับประเทศนอกกลุ่มผ่านกรอบของ GCC เท่านั้น จึงไม่อาจเจรจาในรูปแบบทวิภาคีกับไทยได้ทั้งนี้แม้ว่าไทยกับซาอุดิอาระเบียจะไม่มีความตกลง FTA BIT หรือ DTA ระหว่างกันแต่แนวโน้มในอนาคตมีแผนที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้นจากการเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือนมกราคม 2565ได้มีการหารือโอกาสที่จะสร้างความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีในสาขาความร่วมมือศักยภาพ อาทิ การค้าและการลงทุน ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน การสาธารณสุข และการท่องเที่ยวรวมถึงสาขาความร่วมมืออื่นหากมีความเป็นไปได้มากขึ้น เช่น สิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทน และดิจิทัล เป็นต้น3

ทั้งนี้จากการศึกษา สามารถสรุปสาขาอุตสาหกรรม และบริการที่มีศํกยภาพระหว่างกันได้ ดังนี้

1.สินค้า และอุตสาหกรรม ที่มีศักยภาพสำหรับไทย ในการผลิตและส่งออกไปยังซาอุดิอาระเบีย ได้แก่กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและสินค้าเกษตร ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักรเครื่องใช้ไฟฟ้า (เช่น เครื่องปรับอากาศ) และยานยนต์และชิ้นส่วน
2.การลงทุนที่น่าสนใจร่วมกัน แบ่งออกได้ 3 ลักษณะ คือ

2.1.ไทย ไปลงทุน ในซาอุดิอาระเบีย ได้แก่ สาขาท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร สาขาสุขภาพ เช่น การบริหารจัดการโรงพยาบาล ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ก่อสร้าง cold chain conversion industry แปรรูปอาหาร

2.2.ซาอุดิอาระเบีย ลงทุน ในไทย ในสาขาที่ใช้การลงทุนสูง มีผลตอบแทนธุรกิจสมเหตุสมผล และยั่งยืน เช่น การลงทุนในพื้นที่ EEC4 เป็นต้น

2.3.ไทย ร่วมทุนกับซาอุดิอาระเบีย ในพื้นที่รอบข้างซาอุดิอาระเบีย ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ และต้นทุนการผลิตต่ำ เช่น แถบ Red Sea ปากีสถาน และแอฟริกาตะวันออก ในอุตสาหกรรม เช่น ประมง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เกษตรเพาะปลูก อาหาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยาและเวชภัณฑ์

หากพูดถึงสาขาสุขภาพหรือ Healthcare Industry จะประกอบไปด้วยธุรกิจเภสัชกรรม เทคโนโลยีชีวภาพอุปกรณ์ทางการแพทย์ ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ และประกันสุขภาพ ภายใต้ Saudi Vision 2030 ซาอุดิอาระเบียกำลังเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างพื้นฐานในทุกภาค รวมถึงภาค Healthcare มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี รวมทั้งการวิจัยและพัฒนา

ทั้งนี้ซาอุดิอาระเบียยังคงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับงานด้านบริการ เนื่องจากลูกค้าในปัจจุบันไม่ได้มองเฉพาะเรื่องของคุณภาพอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงบริการต่างๆ ที่ได้รับจากผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพ มีการคาดการณ์ว่าประชากรของซาอุดิอาระเบียจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 77.2m ภายในปี 2070 ด้วยอัตราการเติบโต 2.65% ต่อปี ในจำนวนนี้คือชนชั้นกลางที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ อายุขัยเฉลี่ยของประชากรก็เพิ่มขึ้นจาก 73.1 ปี เป็น 76.1 ปี สำหรับผู้ชาย และจาก 78.4 ปี เป็น 81.3 ปี สำหรับผู้หญิง ด้วยเหตุนี้ จึงมีอุปสงค์ต่อสิ่งอำนวยความสะดวดและบริการที่เกี่ยวข้องกับมารดาและทารก รวมถึงบริการทางด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ ยังไม่รวมถึงอุปสงค์ที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บอย่าง โรคเบาหวาน โรคอ้วน และความดันโลหิตสูง อันเกิดจากการใช้ชีวิตและสภาพสังคมเมือง อย่างไรก็ตาม ซาอุดิอาระเบียยังขาดแคลนโรงพยาบาลและเตียงสำหรับคนไข้

ขณะที่บุคลากรทางด้านการแพทย์ ในปี 2020 ประเทศมีความต้องการแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร 109,054 คน 224,278 คน และ 35,993 คน ตามลำดับ แต่มีเพียง 9,110 คน 6,148 คน 5,730 คน ตามลำดับ5 ช่องว่างระหว่างอุปสงค์กับอุปทาน ร่วมกับการลงทุนในบริการทางด้านสุขภาพของรัฐบาลซาอุดิอาระเบียที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 4 ของ GDP อีกทั้งการสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน ไม่ว่าจะการลงทุนเอง 100% หรือการลงทุนร่วมกับภาครัฐ (Public Private Partnership (PPP)) ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสของประเทศไทย

นอกจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ยังมี NEOM Project ซึ่งเป็นอภิมหาโครงการสร้างเมืองใหม่ในแถบชายฝั่งทะเลแดง เชื่อมโยงกับประเทศอียิปต์และจอร์แดน มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดยักษ์ มูลค่ามหาศาล และเปิดตลาดใหม่ ๆ ด้านอสังหาริมทรัพย์ เทคโนโลยีชีวภาพ การวิจัยและพัฒนา รวมทั้ง Healthcare อย่าง โรงพยาบาล Wellness Centre และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ จะเห็นได้ว่าการเปิดเสรีของซาอุดิอาระเบียนำมาซึ่งโอกาสมากมายแก่หลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งมีแรงงานและบุคลากรที่มีคุณภาพ มีความรู้ความชำนาญในงานบริการ และโรงพยาบาลของไทยก็ยังเป็นที่ยอมรับในสายตาของชาวอาหรับ ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโอกาส ยังไม่รวมถึงการส่งออกอาหารฮาลาล และการดึงดูดเงินลงทุนด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินอิสลาม

ถึงแม้ภาคเอกชนจะมีส่วนสำคัญ แต่โอกาสของความร่วมมือและการลงทุนจะไม่สามารถเป็นรูปเป็นร่างได้ หากปราศจากการริเริ่ม การสนับสนุน และการส่งเสริมจากหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ

อย่าลืมว่าประเทศไทยกับซาอุดิอาระเบียห่างเหินกันมากว่า 2 ทศวรรษ การสร้างความรู้ความเข้าใจ และความจริงใจระหว่างกันเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น เป็นสิ่งที่ต้องทำในลำดับแรก ด้วยเศรษฐกิจของไทยที่ไม่ได้โตหวือหวาแบบยุค 90 บวกกับปัญหาทางด้านการเมืองที่ยังคงไม่คลี่คลายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อันส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ รัฐบาลและผู้ประกอบการไทยคงต้องกระจายความเสี่ยง หาแหล่งลงทุนและส่งออกใหม่ๆ กล้าที่จะออกไปในต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศของเราขับเคลื่อนไปข้างหน้า เติบโตอย่างยั่งยืน ผู้เขียนก็หวังว่าเราจะไม่พลาดโอกาสในครั้งนี้ไม่ตกขบวนรถไฟที่ชื่อว่า “ซาอุดิอาระเบีย”