ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเพื่อความยั่งยืน

ผศ.ดร. สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า Santi_nida@yahoo.com, www.econ.nida.ac.th

ความยั่งยืนโดยเฉพาะในบริบทของการพัฒนาคือ การพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นไม่ใช่แนวคิดหรือแนวทางที่บอกให้รักษาทุกอย่างให้คงเดิม ให้หยุดนิ่งเพื่อให้คงอยู่ต่อไปได้ในอนาคต ตรงกันข้ามความยั่งยืนนั้นจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการปรับตัว มีการเปลี่ยนแปลง มีความเป็นพลวัตร (Dynamic)เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน

การพัฒนาทางเศรษฐกิจเพื่อให้สังคมมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ๆ เรื่อย ๆ ก็ไม่แตกต่างกันจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทหรือสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ในทางกลับกัน การเปลี่ยนแปลงไม่ทันหรือปรับตัวไม่ได้ต่างหากที่เป็นปัญหาและก่อให้เกิดต้นทุนที่สูงขึ้นต่อการพัฒนา

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เรามักจะได้เห็นการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจจากผู้เชี่ยวชาญหลายท่านว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยยังสามารถรักษาระดับให้มีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง (แม้ว่าจะไม่ได้ขยายตัวในอัตราสูง)และเศรษฐกิจก็ยังมีเสถียรภาพที่ดี (โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องเผชิญกับวิกฤติการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา)แต่เราสูญเสียโอกาสที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวหน้าไปได้อีกมาก ปัญหาคือ ในเชิงพลวัตรการปล่อยให้โอกาสการพัฒนาผ่านไปอย่างน่าเสียดาย ทำให้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการแข่งขันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จนเรียกได้ว่า ถ้าเราไม่รีบปรับตัวเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับบริบทของสภาพแวดล้อม ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
คราวนี้เราจะไม่สามารถรักษาระดับการเติบโต รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของเราได้ดีเหมือนเดิมอีก อย่างที่เคยเป็นมาในอดีต เรียกว่า
ไม่ใช่แค่เราเติบโตไม่ได้ตามศักยภาพทางเศรษฐกิจของเรา (Potential Growth) เท่านั้น แต่เราจะกำลังสูญเสียศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจของเราไป

ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการสูญเสียความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ หรือแม้แต่การขยายตัวของการลงทุน โดยนักลงทุนไทยเองที่ยังอยู่ในระดับต่ำ(โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 สัดส่วนของการลงทุนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทย ยังไม่เคยกลับไปอยู่ในระดับนั้นอีกเลย) การย้ายฐานการผลิตของการลงทุนที่เคยมาปักหลักปักฐาน ลงทุนสร้างงานสร้างรายได้ในประเทศไทยไปยังฐานการผลิตอื่น ไม่เพียงแต่เป็นการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive industry) ไทยไม่ใช่ประเทศที่มีแรงงานราคาถูก ที่จะได้เปรียบเหนือประเทศอีกแล้วเท่านั้น แต่เป็นการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนเข้มข้น (Capital-intensive industry) หรืออุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้น (Technology-intensive industry) ไปสู่ฐานการผลิตใหม่ด้วย แสดงให้เห็นว่ามีฐานการผลิตอื่นที่มีความได้เปรียบเหนือกว่าประเทศไทยในการเข้าถึงทุน มีฐานการผลิตที่มีประเภทและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้เหนือกว่าประเทศไทย ทั้งหมดล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างที่เศรษฐกิจไทยต้องเร่งปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพแวดล้อมใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม

พื้นฐานของการพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การสร้างรายได้ แต่เป็นการสร้างมูลค่า (Value Creation) ซึ่งหน่วยเศรษฐกิจ (Economic Units) ในระบบเศรษฐกิจหนึ่ง ๆ จะทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกใช้ปัจจัยหรือทรัพยากรการผลิตไปใช้ในกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมูลค่า ถ้าสามารถใช้ปัจจัยการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Efficiently utilization of resources) สามารถจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม (Better allocation of resources) ระบบเศรษฐกิจนั้นก็จะสามารถสร้างมูลค่าจากทรัพยากรการผลิตได้มาก

ดังนั้น ในระบบเศรษฐกิจตลาด (Market Economy) การตัดสินใจของหน่วยเศรษฐกิจเพื่อเลือกที่จะทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (ไม่ทำกิจกรรมใด) โดยมีเป้าหมายให้เกิดการสร้างมูลค่าให้ได้มากที่สุด จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศมาก จะเห็นได้ว่าในทางเศรษฐศาสตร์ เงื่อนไขหลักที่ขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาได้ เป็นเรื่องการสร้างมูลค่ามากกว่าการสร้างรายได้ หรือสร้างกำไร ซึ่งโดยปกติมูลค่าของสินค้าหรือทรัพย์สินหรืออะไรก็แล้วแต่ในระบบเศรษฐกิจ จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีคนเห็นคุณค่าเห็นประโยชน์ของของสิ่งนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงแค่การผลิตสินค้า (โดยเฉพาะในมุมมองจากภาครัฐ หรือผู้ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย) เพราะการเห็นคุณค่าของอะไร จะเป็นการสะท้อนถึงความเต็มใจที่จะจ่ายเพื่อให้ได้ของสิ่งนั้นมาก เห็นคุณค่ามากหรือคนจำนวนมากเห็นคุณค่าของสิ่งนั้นก็จะมีราคาสูงขึ้นและมีมูลค่ามากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าผู้ซื้อหรือผู้บริโภคนั้น จ่ายหรือให้คุณค่าของสิ่งของที่ตนต้องการ ถ้ามีความต้องการ ใครจะบอกว่าแพงอย่างไร ก็ยินดีจะจ่ายเพราะเป็นคุณค่าที่เกิดขึ้นกับตัวเอง สินค้าหลายอย่าง เช่น นาฬิกาข้อมือ ประโยชน์ของนาฬิกาคือ การใช้บอกเวลาแต่ถ้าผู้ซื้อมองว่า (มี Perception) นาฬิกาไม่ได้มีคุณค่าเพียงแค่การบอกเวลา แต่มีคุณค่าในมิติอื่น ๆ ด้วย ทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ก็จะให้คุณค่ากับนาฬิกากันแตกต่างออกไป สินค้าอย่างนาฬิกาข้อมือจึงมีตั้งแต่ราคาถูก ๆ จนถึงเรือนแพง ๆ ราคาเป็นแสนเป็นล้าน แน่นอนในการทำงานของกลไกตลาด ก็จะมีผู้ซื้อบางส่วนที่ให้คุณค่าสูงแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่จะไปซื้อหามาได้ ผู้ซื้อกลุ่มเหล่านี้ก็จะไม่ใช่อุปสงค์ของนาฬิกาที่มีราคาแพง

ประเด็นที่อยากจะสื่อสารในที่นี้คือ สังคม เศรษฐกิจ มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการตัดสินใจในทางเศรษฐกิจของหน่วยเศรษฐกิจก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทและสภาพแวดล้อมผู้ผลิตที่ปรับตัวได้ เล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ก็จะพยายามมองหาว่าผู้บริโภคนั้น จริง ๆ แล้วกำลังให้คุณค่ากับอะไร ตอบสนองความต้องการได้ตรงจุด ตรงเป้าหมายได้มากกว่า ก็จะประสบความสำเร็จและได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า

ในภาคเกษตรก็เช่นเดียวกัน ลองนึกภาพชาวสวนทุเรียนในอดีต (ไม่ต้องนาน สัก 10 ปีก่อน) ประเทศไทยมีปัญหาทุเรียนล้นตลาดทุกปี ชาวสวนขายทุเรียนที่หน้าสวนด้วยราคาเพียงกิโลกรัมละ 10-20 บาท แตกต่างจากในปัจจุบันมาก หลายคนก็คงจะบอกว่า ที่เป็นอย่างนี้เพราะเราส่งออกไปจีน ซึ่งก็ไม่ผิด แต่การส่งออกไปจริงนั้นเท่ากับว่าเรากำลังเพิ่มจำนวนคน (ผู้ซื้อ) ที่ให้คุณค่ากับทุเรียน เขาจึงยินดีที่จะจ่ายและจ่ายในราคาที่เพิ่มขึ้นอีกมาก (ในกรณีนี้คือ หลายเท่าตัว) จึงเป็นการสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทย(แต่ใครจะได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด เป็นธรรมหรือไม่ จากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นนี้ก็คงต้องไปวิเคราะห์ในรายละเอียดอีกที)

ดังนั้น ถ้าเราไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ก็คงจะเป็นเรื่องยากที่จะก้าวไปสู่การพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืนในอนาคต(ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก็อาจจะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมกำลังให้คุณค่ากับอะไร ซึ่งแน่นอนอีกเช่นเดียวกันว่า ต่อไปในอนาคตข้างหน้า สังคมก็อาจจะให้คุณค่ากับอย่างอื่นไปอีกตามพลวัตรของการเปลี่ยนแปลง อันนี้คงไม่มีใครทราบได้ล่วงหน้า) การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เราเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ครอบคลุมตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างปัจจัยการผลิต (คน แรงงาน ทุน ทุนมนุษย์ เทคโนโลยี ฯลฯ)โครงสร้างประชากร โครงสร้างการผลิตและการใช้พลังงาน โครงสร้างการผลิตหรือโครงสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ – เกษตร อุตสาหกรรม บริการ โครงสร้างตลาดหรือโครงสร้างการแข่งขันทั้งในตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ล้วนมีความผันแปรหรือผันผวนมากขึ้น

คำถามสำคัญที่สังคมไทย เศรษฐกิจไทย จะตอบให้ได้คือ 1) (เรื่องแรกและเป็นเงื่อนไขตั้งต้น)เราจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้หรือไม่? 2) ถ้ายอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลง เรามีความต้องการที่จะปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมเหล่านี้เพียงใด? และ 3) เรามีความพร้อม (มีศักยภาพ)และมีแนวทางที่จะปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นนี้อย่างไร?

ที่ได้กล่าวถึงการสูญเสียโอกาสของการพัฒนาในตอนต้นของบทความ ก็หมายถึงความลังเลของสังคมไทย รวมทั้งการดำเนินนโยบายของภาครัฐในการตอบคำถามทั้ง 3 ข้อนี้เอง ที่เราไม่มีคำตอบที่ชัดเจนไม่มีความเห็นพ้องต้องกันกับคำตอบของคำถามทั้ง 3

คำตอบบางคำตอบเป็นเพียงคำตอบที่อยู่บนฐานของความต้องการของคนเฉพาะกลุ่ม ซึ่งอาจจะไม่ต้องการหรือไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็ได้ เพราะเป็นการมองที่ผลประโยชน์สุทธิส่วนตน (Private benefits) มากกว่าการให้น้ำหนักความสำคัญกับผลประโยชน์สาธารณะ (Public benefits) ไม่มีใครทราบว่าต้นทุนของความล่าช้าของการพัฒนาจะเป็นเท่าไหร่ และจะไปตกกับใครในระบบเศรษฐกิจ แต่ดูเหมือนว่ายิ่งนานวันเข้า ต้นทุนนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวตามความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเองและสังคมโลก

 

ที่มา: https://thaipublica.org/2023/06/nida-sustainable-move38/