ผศ.ดร.อัธกฤตย์ เทพมงคล คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เป็นประเด็นใหญ่มากมาตลอดในบทสนทนาเรื่องความยั่งยืน และค่าแรงขั้นต่ำก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลในหลายๆ ประเทศนำมาใช้ท่ามกลางความคิดเห็นที่หลากหลาย บ้างสนับสนุน บ้างก็คัดค้านรุนแรง น่าประหลาดใจที่เสียงไม่ได้แตกแค่เฉพาะระหว่างแรงงานกับผู้ประกอบการ แต่แตกไปทั่วแม้แต่ในหมู่นักเศรษฐศาสตร์เองก็ตาม
ใครที่เคยผ่านคอร์สเศรษฐศาสตร์ 101 มาก็จะพบว่า เศรษฐศาสตร์ไม่สนับสนุนการแทรกแซงกลไกตลาดโดยไม่จำเป็น ถ้าตลาดไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจผูกขาด ถ้าสินค้านั้นๆ ไม่ส่งผลกระทบภายนอกต่อผู้อื่น ถ้าข้อมูลข่าวสารในตลาดทั่วถึงกันโดยสมบูรณ์ เราควรปล่อยให้กลไกตลาดทำงานของมันไป และเราจะได้ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ
แน่นอนว่าประสิทธิภาพไม่ได้แปลว่าเท่าเทียมเสมอไป แต่อย่างน้อยมันก็ยุติธรรมในแง่ที่ว่าลูกจ้างจะได้ผลตอบแทนเท่ากับผลิตภาพของตนที่มีให้นายจ้าง นอกจากนี้ เศรษฐศาสตร์ 101 ยังสอนเราอีกว่า การบังคับให้ค่าจ้างอยู่สูงกว่าที่ตลาดกำหนดจะทำให้เกิดการว่างงาน คิดง่ายๆ เมื่อเราปล่อยให้แรงงานกับผู้ประกอบการต่อรองกันเอง ถ้าคนหางานมีน้อย ค่าแรงก็ปรับขึ้น ถ้าคนหางานมีมาก ค่าแรงก็จะปรับลง สุดท้ายทุกคนที่หางานเจอก็จะได้งาน แต่ถ้าค่าแรงปรับลงมาไม่ได้เพราะติดที่ค่าแรงขั้นต่ำ ผู้ประกอบการไม่ต้องการจ้างงานเพิ่มในระดับค่าจ้างนี้ แรงงานส่วนหนึ่งก็จะต้องตกงานไปโดยปริยาย
แล้วทำไมทั้งๆ ที่เศรษฐศาสตร์ 101 บอกเราแบบนี้ เกือบทุกประเทศในโลกนี้ถึงได้ดำเนินนโยบายค่าแรงขึ้นต่ำกัน จะสรุปว่าเพราะเหตุผลทางการเมืองที่จะหาเสียงกับกลุ่มแรงงานไร้ฝีมืออย่างเดียวก็อาจจะตื้นเขินเกินไป เพราะจริงๆ แล้วมีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากทีเดียวที่สนับสนุนนโยบายค่าแรงขั้นต่ำด้วยเหตุผลหลักๆ สองข้อดังต่อไปนี้
เหตุผลที่หนึ่ง ตลาดแรงงานไม่ใช่ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ แต่เป็นตลาดที่บริษัทหรือผู้ประกอบการมีอำนาจต่อรองเหนือแรงงาน ทำให้ค่าจ้างดุลยภาพที่เกิดขึ้นในตลาดเกิดจากการขูดรีดแรงงาน ทำให้แรงงานได้ผลตอบแทนต่ำกว่าผลิตภาพของพวกเขา คิดง่ายๆ แรงงานมีจำนวนมากกว่าผู้ประกอบการอยู่แล้ว อำนาจต่อรองระหว่างแรงงานไร้ฝีมือคนหนึ่งกับองค์กรขนาดใหญ่อย่างบริษัทนั้นเทียบกันไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้น ค่าแรงขั้นต่ำจึงเป็นการแทรกแซงที่เหมาะสมซึ่งบังคับให้ค่าจ้างไปสู่ระดับที่ควรจะเป็น ซึ่งนั่นแปลว่าการตั้งค่าแรงขั้นต่ำในระดับที่เหมาะสมจะไม่เพิ่มการว่างงานแต่อย่างใด แต่จะไปลดส่วนแบ่งกำไรเกินปกติของผู้ประกอบการลงเท่านั้น
เหตุผลที่สอง นายจ้างไม่รู้ข้อมูลที่แท้จริงของลูกจ้าง ในทางทฤษฎี ใครๆ ก็เชื่อว่าถ้าเราดีกับใคร เขาก็น่าจะดีกับเรา ถ้านายจ้างเพิ่มเงินให้ลูกจ้าง ลูกจ้างก็น่าจะตั้งใจทำงานให้นายจ้างเพิ่มขึ้น แต่คำว่า “น่าจะ” นี่เองที่เป็นปัญหา ผลิตภาพแรงงานเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยากและช้ากว่าค่าจ้างที่ต้องระบุในสัญญาจ้าง ดังนั้น จึงมีผู้ประกอบการน้อยรายที่จะใจถึงไม่ใช้อำนาจต่อรองที่ตัวเองมีและลองจ่ายมากกว่าที่ตลาดจ่าย ค่าแรงขั้นต่ำจึงมาช่วยขจัดความลังเลส่วนนี้ของเหล่านายจ้างไป ดังนั้น นายจ้างจะได้แรงงานที่ขยันทำงานมากขึ้น ผลิตภาพการผลิตสูงขึ้น นอกจากนี้ เมื่อแรงงานมีความสุขกับรายได้ที่ได้ ก็จะอยากอยู่กับนายจ้างนานขึ้น ต้นทุนการสอนงานเด็กใหม่ก็ลดลง เผลอๆ ค่าแรงขั้นต่ำจะช่วยเพิ่มกำไรให้ผู้ประกอบการ จนอยากจะเพิ่มการจ้างงานด้วยซ้ำ
ถ้ามาดูงานวิจัยเชิงประจักษ์ที่มีอยู่ เราจะพบผลลัพธ์ที่หลากหลาย มีทั้งที่สนับสนุนและปฏิเสธนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ขึ้นอยู่กับว่าใช้ข้อมูลของประเทศอะไรในช่วงเวลาไหน แต่ก็ต้องยอมรับว่า โดยส่วนใหญ่หลักฐานจะเอียงไปทางที่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่งผลต่อการจ้างงานเพียงเล็กน้อย เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเจริญเติบโตและการกระจายรายได้ สำหรับประเทศไทยเอง งานวิจัยที่ผ่านๆ มาต่างก็สนับสนุนนโยบายค่าแรงขั้นต่ำทั้งสิ้น
ดังนั้น เราคงไม่ต้องมาพยายามค้านนโยบายค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย แต่คำถามที่สำคัญอยู่ที่ค่าจ้างเท่าไหร่และอย่างไรถึงจะเหมาะสม นโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำจาก 354 บาท มาเป็น 450 บาท พร้อมการปรับขึ้นอัตโนมัติตามระดับเงินเฟ้อในปีต่อๆ มาของพรรคก้าวไกลอยู่บนฐานของเหตุผลเชิงวิชาการที่รับได้ แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อยทีเดียว โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนไม่ได้ห่วงเรื่องการขึ้นพรวดเดียวมา 450 บาทเท่าไหร่ เนื่องจากตัวเลข 450 บาทมาจากการปรับตัวเลขในอดีตขึ้นตามระดับเงินเฟ้อสะสม ซึ่งการปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งก่อนก็มีลักษณะพรวดพราดแบบนี้เช่นกัน และก็ไม่ได้ส่งผลต่อการจ้างงานอย่างชัดเจนแต่อย่างใด
ประกอบกับปีนี้เศรษฐกิจไทยก็เริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด 19 แล้ว แต่ที่น่ากังวลคือการปรับค่าแรงขั้นต่ำอัตโนมัติตามระดับเงินเฟ้อนี่เอง อย่าลืมว่าเงินเฟ้อเป็นผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่ไม่นอน และค่าจ้างก็เป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดระดับราคาสินค้าและเงินเฟ้อ การปรับค่าแรงขั้นต่ำอัตโนมัติแบบนี้เป็นการสร้างวงจรวนกลับในระบบเศรษฐกิจ สร้างความไม่แน่นอนในโครงสร้างต้นทุนแรงงานให้กับผู้ประกอบการ ทดลองทำได้ แต่อย่าไปออกกฎอะไรที่ยากจะปรับเปลี่ยนภายหลังน่าจะดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวผู้เขียนยังมีความเชื่อว่าวิถีทางที่ถูกต้องคือการปรับโครงสร้างตลาดให้กลไกตลาดได้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าการกำหนดระดับราคาจากภาครัฐ ถ้าเราดูประเทศอย่าง สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก หรือสวิตเซอร์แลนด์ ที่แรงงานอยู่ดีกินดีโดยไม่ต้องมีค่าแรงขั้นต่ำ ถ้าเรามีการพัฒนากลไกการรวมกลุ่มของแรงงานในลักษณะสหภาพที่เข้มแข็ง เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงงานของแรงงานไร้ฝีมือ ให้มีงานให้เลือกมากขึ้น มีอำนาจต่อรองมากขึ้น และปล่อยให้กลไกตลาดทำงานของมันเอง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ จากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำได้ ก็ได้แต่หวังว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำในวันนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยแข็งแรงพอที่จะไม่ต้องใช้อีกในวันหน้า
ที่มา: https://thaipublica.org/2023/06/nida-sustainable-move37/