รองศาสตราจารย์ ดร. ณดา จันทร์สม คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ช่วงนี้ผู้เขียนได้รับการมอบหมายงานบริการวิชาการจากหลายองค์กรทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ ภาครัฐและเอกชน ในการศึกษาวิจัยและจัดอบรมให้ความรู้ในเรื่องการวิเคราะห์และประเมินโครงการด้านความยั่งยืน รวมถึงการวัดผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment) สำหรับแผนงาน/โครงการที่องค์กรจัดทำขึ้นหรือมีแผนจะจัดทำขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นธงหลักของการพัฒนาในปัจจุบัน และเป็นทิศทางการพัฒนาในอนาคตอย่างต่อเนื่อง โดยกิจกรรมการดำเนินงานส่วนมากของบริการวิชาการเหล่านั้น จะเป็นการนำโครงการขององค์กรที่จัดทำขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา เพื่อให้ประเมินผลการดำเนินงาน หรือใช้เป็นกรณีศึกษาสำหรับฝึกอบรมให้บุคลากรของหน่วยงานได้เข้าใจถึงกระบวนการและวิธีการในการออกแบบ วางแผน วิเคราะห์และประเมินผลโครงการด้านความยั่งยืนได้ ทำให้ผู้เขียนมีข้อสังเกตจากโครงการที่ได้รับมาเป็นกรณีศึกษาเหล่านั้นในขั้นตอนของการเริ่มต้นวางแผนและวิเคราะห์โครงการเพื่อให้สามารถบรรลุผลลัพธ์ที่คาดหวัง และนำไปสู่ความยั่งยืนของการดำเนินการโครงการ รวมถึงภาพรวมขององค์กรในระยะยาว สามารถสรุปเป็นข้อสังเกตสำคัญได้หลายประการ
ก่อนอื่น ขอกล่าวถึงวงจรชีวิตการบริหารโครงการ (Project Management Life Cycle) ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่
- การเริ่มต้น (initiation) เป็นขั้นตอนของการกำหนดปัญหาและขอบเขตที่ต้องได้รับการแก้ไขหรือประเด็นการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ เพื่อกำหนดผลผลิตและผลลัพธ์ที่คาดหวัง กำหนดกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประมาณการต้นทุนและผลตอบแทน และประเมินความเป็นไปได้ของโครงการ รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญของโครงการด้วย ขั้นตอนนี้มีความสำคัญในประเด็นให้เกิดความมั่นใจว่า การเลือกทำโครงการขององค์กรนั้น เป็นโครงการที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายหลักขององค์กร และมีความคุ้มค่าในการลงทุน
- การวางแผน (Planning) เป็นขั้นตอนการวางแผนการดำเนินโครงการ อาทิ การกำหนดกิจกรรมหลัก กิจกรรมย่อย งานที่ต้องทำ รวมถึงข้อจำกัด ความเสี่ยงและอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นในการดำเนินโครงการ มีการจัดวางโครงสร้างการบริหารโครงการ การวางแผนการเงิน การวางแผนทรัพยากร วางแผนระยะเวลาการทำงาน รวมถึงการสื่อสารกับสมาชิกของทีมทำงานให้เกิดเข้าใจในบทบาท เพื่อให้การดำเนินการโครงการบรรลุเป้าหมายที่กำหนด
- การดำเนินโครงการ (Execution) หรือการบริหารโครงการ (Implementation) เป็นขั้นตอนการดำเนินโครงการตามแผนที่กำหนดไว้ และติดตามความก้าวหน้าของงานให้เป็นไปตามแผน บริหารบุคลากร และจัดการทรัพยากร รวมถึงจัดการกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในการดำเนินงาน เพื่อให้โครงการบรรลุเป้าหมายตามแผนได้
- การปิดโครงการ (Closure) เป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากที่ดำเนินการแล้วเสร็จ และเป็นการสรุปผลการดำเนินงาน และประเมินความสำเร็จของโครงการ และทบทวนประสบการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับการขยายผลโครงการ หรือดำเนินการโครงการอื่นต่อไปในอนาคต
โดยหากพิจารณาตามขั้นตอนตามวงจรชีวิตของการบริหารโครงการแล้ว การดำเนินกลยุทธ์และ แผนงาน/โครงการด้านความยั่งยืน แต่ละองค์กรย่อมคาดหวังให้แผนงาน/โครงการเหล่านั้น สามารถเพิ่มความสามารถในการส่งมอบคุณค่าที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้องค์กรมีการเจริญเติบโต ไม่ละเลยหรือเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นมิติสำคัญในกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืนในปัจจุบัน และส่งเสริมให้องค์กรเกิดความยืดหยุ่นปรับตัวได้เร็ว และยึดโยงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร รับรู้และเข้าใจถึงผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบ ตลอดจนรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินงานได้
อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตของผู้เขียนจากกรณีศึกษาจากการปฏิบัติจริงขององค์กรเท่าที่ศึกษา พบว่ามีประเด็นที่น่าจะได้กล่าวถึงไว้ เพื่อช่วยทำให้การบริหารกลยุทธ์และโครงการด้านความยั่งยืนขององค์กรต่าง ๆ มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนา ไม่เป็นภาระต่อต้นทุนและเกิดการสูญเปล่าของการลงทุนได้ 4 ประการ ดังนี้
1)โครงการที่จัดทำขึ้นขาดการออกแบบและวางแผนโครงการในเชิงกลยุทธ์ กล่าวคือ ไม่ได้มองจากเป้าหมายหรือผลลัพธ์ของโครงการ ว่าคาดหวังผลที่ตามมาหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างไรไว้อย่างชัดเจน ทำให้สิ่งที่ได้รับจากโครงการจึงเป็นเพียงผลผลิต (Output) ซึ่งหลายโครงการไม่สามารถนำส่งผลลัพธ์ตามที่คาดหวัง หรือทำให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงได้จริง
ผลลัพธ์ที่ตามมาและผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลง คือ สิ่งที่เจ้าของโครงการมีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนให้เกิดผลอย่างไร ตัวอย่างเช่น การทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้เข้าร่วมโครงการ การสร้างรายได้เพิ่ม การทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง การลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้น เป็นต้น ดังนั้น หลายโครงการที่หยิบยกขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา จึงพบว่า สามารถทำให้ผลผลิต ได้ เช่น มีการก่อสร้างอาคาร มีการฝึกอบรมให้ความรู้ แต่มิได้คำนึงการวัดผลลัพธ์ว่า อาคารเหล่านั้น สามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างที่คาดหวัง (บางครั้งไม่ได้เกิดการใช้ประโยชน์และเป็นอาคารร้างเสียด้วยซ้ำ) การฝึกอบรม/ให้ความรู้ไปแล้ว ไม่ได้ติดตามอย่างต่อเนื่องว่าสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการตัดสินใจหรือพฤติกรรมของผู้เข้ารับการอบรมในทิศทางที่คาดหวังหรือไม่ อย่างไร เป็นต้น
ดังนั้น ในกระบวนการริเริ่ม ออกแบบโครงการ จึงควรให้ความสำคัญกับการคิดเชิงกลยุทธ์ กล่าวคือ คิดถึงผลลัพธ์ที่ตามมาว่า ต้องการให้เป้าหมายของโครงการเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร หรือเกิดผลอย่างไร แล้วจึงพิจารณาถึงผลผลิตที่ต้องได้ กระบวนการ/กิจกรรม และปัจจัยนำเข้าที่ต้องใช้ในโครงการต่อไป
2)ขาดการบูรณาการกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนกับกลยุทธ์องค์การ โครงการที่ดำเนินการมักเป็นเป้าหมายแบบแยกชิ้นตามประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น เน้นเป้าหมายระยะสั้น ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายธุรกิจ ทำให้บ่อยครั้งถูกมองว่าเป็นงานฝากและเป็นภาระของผู้ปฏิบัติมากกว่าเป็นงานเพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์กรร่วมกัน การออกแบบกลยุทธ์และแผนงาน/โครงการด้านความยั่งยืน ควรเป็นกลยุทธ์ที่สนับสนุนการมุ่งสู่ความยั่งยืนของธุรกิจ อย่างครอบคลุมประเด็นทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และบรรษัทภิบาล (ESG) มีความเป็นเนื้อเดียว สอดคล้อง เกื้อหนุน และเสริมกลยุทธ์ทางธุรกิจ เชื่อมโยงและช่วยให้เกิดการพัฒนาในกระบวนการทำงานปกติ ซึ่งนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน
3)การกำหนดผลลัพธ์ของโครงการไม่เชื่อมโยงกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โครงการที่ดำเนินการไม่ได้ดึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาตั้งแต่ขั้นตอนการเริ่มโครงการ ทำให้หลายโครงการที่ดำเนินการแม้จะเกิดผลผลิต แต่ไม่สามารถนำส่งผลลัพธ์ตามความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้จริง รวมถึง การกำหนดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ครบถ้วน หรือไม่ใช่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง ยิ่งทำให้เกิดความสูญเปล่าในการดำเนินการโครงการได้
4)การกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จไม่ชัดเจน และอยู่ที่ระดับผลผลิตมากกว่าที่จะกำหนดในระดับผลลัพธ์ หรือผลกระทบ หลายกรณีตัวอย่างพบว่า เป็นการดำเนินโครงการเพียงเพื่อให้มีผลผลิต แต่มิได้คำนึงการชี้วัดผลลัพธ์ที่ตามมา และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่คาดหวังจะเกิดขึ้น ทำให้ประเมินผลการดำเนินงานไม่สามารถสะท้อนความคุ้มค่าของการลงทุนได้อย่างชัดเจน
จากข้อสังเกตที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงบางส่วนของการดำเนินโครงการด้านความยั่งยืนของบางหน่วยงานเท่าที่ผู้เขียนประสบมา จึงเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับการออกแบบกลยุทธ์และบริหารโครงการด้านความยั่งยืน หากองค์กรมีความต้องการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของการลงทุนและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเชื่อมโยงมิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล เข้าด้วยกันอย่างแท้จริง ควรต้องพิจารณาตั้งแต่ขั้นตอนการริเริ่มโครงการ โดยให้ความสำคัญกับการกำหนดผลลัพธ์และผลกระทบอย่างชัดเจนก่อนการพิจาณาออกแบบและวางแผนโครงการลำดับถัดไป
ที่มา: https://thaipublica.org/2023/06/nida-sustainable-move36/