บทบาทของนโยบายการเงินต่อปัญหาการกระจายรายได้และการกระจายความมั่งคั่งในประเทศไทย

วราวุฒิ เรือนคำ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ สํานักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
รศ.ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาศาสตร์

ความไม่เท่าเทียมกันในการกระจายรายได้และการถือครองสินทรัพย์ เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศทั่วโลก และมีความสำคัญในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งรายได้เฉลี่ยของคนในประเทศอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก ทำให้การแก้ปัญหาความยากจนของคนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นไปได้ยาก และส่งผลต่อปัญหาสังคมและการเมือง อื่น ๆ ตามมา เช่น ปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง รวมถึงปัญหาการความเหลื่อมล้ำทางสังคมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางโอกาส และความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับพื้นที่ชายขอบ เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย การกระจายรายได้และความมั่งคั่งนับเป็นหนึ่งในปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ โดยหากพิจารณาจากสัดส่วนรายได้ของประชาชนในครึ่งล่าง (bottom 50%) จากข้อมูลของ World Inequality Database (WID) พบว่าในปี ค.ศ.2019 ไทยมีสัดส่วนรายได้ของประชาชนกลุ่มนี้ต่ำที่สุด (ร้อยละ 12.19 ของรายได้คนทั้งประเทศ) เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย

ที่ผ่านมา รัฐบาลหลายชุดได้พยายามใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง โดยเฉพาะมาตรการด้านการคลัง เช่น การกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ นโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่รายได้เฉลี่ยของประชาชนต่ำ การเก็บภาษีที่ดินและทรัพย์สิน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการกระจายรายได้จาก World Bank ในปี 2000-2018 ชี้ให้เห็นว่าเป็นประเทศไทยยังมีปัญหาการกระจายรายอยู่ในระดับสูงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ในส่วนมาตรการทางการเงิน การส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อของเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ก็เป็นมาตรการที่ถูกนำมาใช้ในการแก้ปัญหาการกระจายรายได้ อย่างไรก็ตามบทบาทของการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นมาตรการทางการเงินที่สำคัญที่สุดในระบบเศรษฐกิจ ยังไม่ถูกกล่าวถึงในบทบาทด้านการกระจายรายได้มากนัก
ในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาค นโยบายการเงินของธนาคารกลาง มีบทบาทสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะสั้นถึงปานกลาง (1-2 ปี) โดยเป้าหมายที่สำคัญของนโยบายการเงินประกอบด้วยการดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูงหรือต่ำจนเกินไป รักษาเสถียรภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) รวมถึงเป้าหมายอื่น ๆ เช่น เสถียรภาพระบบการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนฯ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงวิกฤติโควิดที่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกจากมาตรการห้ามเดินทางและความเสี่ยงด้านสาธารณสุข ซึ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบด้านลบจากวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงนี้ที่รุนแรงกว่ากลุ่มผู้มีรายได้สูง และได้รับผลบวกจากการใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในวงจำกัด ทำให้บทบาทต่อการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง (Distributional effect) ของนโยบายการเงิน ได้รับความสนใจและกล่าวถึงในรายงานของหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น International Monetary Fund และ Bank of International Settlement (BIS) และมีงานวิจัยเชิงประจักษ์อื่น ๆ ในประเทศที่พัฒนา เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่เน้นผลของนโยบายการเงินโดยเฉพาะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้ดอกเบี้ยต่ำ และการใช้มาตรการ QE ว่าจะส่งผลต่อการกระจายความมั่งคั่งที่ไม่เท่าเทียมกันมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

ในกรณีประเทศไทยการศึกษาของ Warawut Ruankham and Yuthana Sethapramote (2023) วิเคราะห์บทบาทของนโยบายการเงินต่อการกระจายรายได้และความมั่งคั่งในประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่า ผลของการอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้รายได้ของครัวเรือนที่รายได้สูง (Top1%) เพิ่มขึ้นชัดเจนกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ของผู้มีรายได้น้อย (bottom 50%) และทำให้ค่าดัชนีจีนี่ที่ใช้วัดระดับการกระจายรายได้แย่ลง ในระยะสั้น ซึ่งผลที่เกิดขึ้นมีนัยยะทางสถิติ แต่มีขนาดไม่สูงมากนักในระยะสั้นถึงปานกลาง (1-2 ปี)
ในกรณีของการวิเคราะห์ผลระยะยาว ระดับของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีผลเชิงลบต่อการกระจายรายได้ โดยอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำจะมีผลต่อค่าดัชนีจินี่ที่สูงขึ้น ซึ่งมีผลต่อการกระจายรายได้ที่แย่ลงระยะยาว

อย่างไรก็ตามผลในระยะยาวยังมีค่าที่ไม่ชัดเจนและไม่มีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งอาจจะมาจากการที่ประเทศไทยยังมีการใช้นโยบายการเงินแบบเป้าหมายเงินเฟ้อมาเพียงประมาณ 20 ปี ทำให้การวิเคราะห์ผลระยะยาวของนโยบายการเงินยังไม่ชัดเจน ในส่วนของตัวแปรทางด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจพบว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) เป็นปัจจัยที่ช่วยให้การกระจายรายได้ดีขึ้นได้ในระยะยาว อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อที่สูงจะทำให้การกระจายได้รายได้แย่ลงในระยะยาว

นัยยะเชิงนโยบายที่ได้จากการศึกษานี้ ได้แก่ ในระยะสั้น การใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมีผลต่อกลุ่มผุ้มีรายได้สูงที่ชัดเจนกว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น ในส่วนของนโยบายการคลังควรเน้นช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มากกว่านโยบายที่ช่วยเหลืออย่างทั่วถึงทุกกลุ่มรายได้ ในส่วนของระยะยาว การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ควรอยู่ในระดับต่ำเป็นระยะเวลานานเกินไป เพราะจะส่งผลทางลบต่อการกระจายรายได้ นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมบทบาทของนโยบายการเงินต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย การวิเคราะห์เป้าหมายระยะยาวของนโยบายการเงินควรมีการพูดถึงผลต่อการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง (Distributional effect) มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน โดยมีการพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง เช่น ค่าดัชนีจีนี่ สัดส่วนสินทรัพย์ที่ถือครองโดยกลุ่มผู้มีรายได้สูง และรายได้ต่ำ เป็นต้น ในรายงานต่าง ๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทย และมีการศึกษาถึงผลด้านการกระจายรายได้และความมั่งคั่งเพิ่มเติมทั้งในกรณีประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในเอเชีย เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลของนโยบายการเงินต่อความเหลื่อมล้ำในด้านนี้เพิ่มเติมในอนาคต

หมายเหตุ: เนื้อหาบางส่วนของบทความนี้อ้างอิงจากบทความวิจัยของ Warawut Ruankham and Yuthana Sethapramote (2023) “Distributional Effects of Monetary Policy on Income Inequality: Evidence from Thailand”, Southeast Asian Journal of Economics, 11(1), p. 1-42

 

ที่มา: บทบาทของนโยบายการเงินต่อปัญหาการกระจายรายได้และการกระจายความมั่งคั่งในประเทศไทย