ต่อ S-curve ของประเทศไทยให้ยั่งยืนด้วย SOFT POWER

ศาสตราจารย์ ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน

เราเพิ่งผ่านการเลือกตั้งครั้งสำคัญไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ทุกพรรคการเมืองก็มีนโยบายเศรษฐกิจที่น่าสนใจหลายนโยบายด้วยกัน นโยบายที่นำมาหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย จะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่ซึ่งสมควรดำเนินการอย่างยิ่ง เช่น ค่าไฟและสินค้าแพง ค่าแรงถูก หนี้ท่วม เป็นต้น หลายพรรคการเมืองก็เสนอนโยบายในการยกระดับรายได้และสร้างเศรษฐกิจมูลค่าเพิ่มในระยะยาว ซึ่งนโยบายจากหลายพรรคการเมืองก็มองคล้าย ๆ กันในเรื่องที่ว่า จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางและมุ่งหน้าสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้

ผมคิดว่า ในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยอุตสาหกรรมที่มีความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ และหากเป็นอุตสาหกรรมที่เหมาะกับจริตของคนไทยด้วยแล้ว ผมคิดว่าก็น่าจะเป็นการนำเอาจุดแข็งไปสร้างมูลค่าเพิ่มจะเป็นการไม่ฝืนและไม่ต้องออกแรงมากจนเกินไปและสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากใคร และไม่ต้องพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ เมื่อพินิจพิเคราะห์แล้ว ผมเลยคิดว่าเจ้า SOFT POWER นี่แหละ น่าจะเป็นเรือธงของประเทศไทย โดยความหมายง่าย ๆ ของ SOFT POWER หมายถึง ความสามารถในการดึงดูดและสร้างการมีส่วนร่วมโดยไม่ต้องบังคับ โดยแรงจูงใจที่สนับสนุนแนวคิดเรื่องนี้ก็คือ

1) ประเทศไทยมีวัตถุดิบทางวัฒนธรรมชั้นดีในการนำมาใช้เป็นต้นทุนในการสร้าง SOFT POWER ให้กับประเทศ

2) ความเป็นความเป็นไทย หรือ Thainess คนไทยมีหัวใจเอื้ออาทรและรักงานบริการเป็นที่ประทับใจของคนทั่วโลกที่ได้มาสัมผัสกับความเป็นไทยของเรา

อย่างไรก็ตาม เรายังใช้จุดแข็งเหล่านี้ได้อย่างไม่เต็มศักยภาพ ตัวอย่างที่เห็นถึงศักยภาพที่รอการนำมาใช้ประโยชน์ คือ กรณีการโชว์ทานข้าวเหนียวมะม่วงกลางเวทีในเทศกาลดนตรีโคเชลลา เทศกาลดนตรีระดับโลกที่รัฐแคลิฟอร์เนียระดับโลกที่มีคนดูนับแสนคน ถือได้ว่าเป็น SOFT POWER ในการช่วยโปรโมตของหวานสุดโปรดสุดยอดขายดีที่แทบทุกร้านอาหารไทยในสหรัฐนำเสนอ เช่นเดียวกับเมนูอย่างต้มยำกุ้งและผัดไทย ทำให้เกิดไวรัล ข้าวเหนียวมะม่วง ในสังคมออนไลน์ หรือคนจีนแห่มาเที่ยวเชียงใหม่จากภาพยนตร์เรื่อง Lost in Thailand เป็นต้น

คำถามคือจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยได้นำศักยภาพที่มีเหล่านี้มาสร้างการเติบโตได้อย่างเต็มที่ ผมคิดว่า การยกระดับ SOFT POWER จากชุมชนไทยสู่เวทีโลกอย่างจริงจัง ต้องถูกบรรจุเป็นวาระแห่งชาติ โดยควรจะมุ่งเน้นการนำเอา “DNA ความเป็นไทย” หรือ “อัตลักษณ์ท้องถิ่น” มาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน และผลักดันการสร้างแบรนด์ของประเทศ ซึ่งช่องทางที่ต่างประเทศรู้จักเราผ่านสื่อบันเทิง และ Social media

ดังนั้น หัวใจของความสำเร็จก็คือการสร้าง Ecosystem ที่เหมาะสมและเอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และลด หรือเลิก กฎระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวยและการแทรกแซงที่ไม่จำเป็น โดยผมอยากให้เสนอให้มีศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เป็นหน่วยงานอิสระไม่ได้อยู่ภายใต้กำกับของรัฐแต่ได้รับงบประมาณอุดหนุนและมีภาคเอกชนสนับสนุนการขับเคลื่อน ทำหน้าที่ดังนี้

    • 1) วิเคราะห์ศักยภาพของอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และวางกลยุทธ์ในการมุ่งสู่เวทีโลก

 

    • 2) ปั้นนักธุรกิจที่ใช้ SOFT POWER และนักสร้าง content ท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับรายได้ และเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศ เช่น อาหาร ภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะการต่อสู้ งานประเพณี หรือแฟชั่น

 

    • 3) จับคู่ธุรกิจเหมือน match maker หน่วยงานมีองค์ความรู้และมีความสามารถในการดูแล บ่มเพาะ ธุรกิจสร้างสรรค์ และนักสร้าง content ท้องถิ่นเหล่านี้ คล้าย ๆ กับการ incubator ในธุรกิจ startup หรือ SME ให้เติบโตแข็งแรง โดยสร้างกลไกที่เรียกว่า “องค์กรพี่เลี้ยง” ให้พี่เลี้ยงมีส่วนร่วมในความสำเร็จและเป็นพันธมิตรในระยะยาว ซึ่งอาจจะออกมาในรูปของการร่วมทุนในวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ถูกออกแบบมาให้ได้รับผลประโยชน์ทางภาษีคล้าย ๆ กับวิสาหกิจเพื่อสังคมที่คนบริจาคหรือถือหุ้นกิจการเหล่านี้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

 

    4) เชื่อมกับแหล่งเงินทุนโดยการขับเคลื่อนจากการสนับสนุนจากภาครัฐและกองทุนจากภาคเอกชนคล้าย ๆ กองทุนรวมหรือ venture capital ที่ลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้ SOFT POWER เป็นฐาน จะสำเร็จได้ ภาครัฐอาจต้องให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และหาสร้างกลไกให้ผู้ที่ลงทุนในกิจการเหล่านี้สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือหุ้นได้

นอกจากนี้ การนำ SOFT POWER ไปเป็นฐานคิดในการดำเนินการในลักษณะ Cross-sector กับ นโนบายอุตสาหกรรมเดิมและอุตสาหกรรมบริการที่สำคัญต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรืออุตสาหกรรมการแพทย์ โดยใช้ Digital technology เป็นตัวช่วยในการดำเนินการก็จะทำให้โอกาสประสบความสำเร็จมีมากขึ้น หากทำได้ตามนโยบายนี้ SOFT POWER เกิดจากการ ‘ถูกสร้าง’ อย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับโชคชะตา ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีทรัพยากรท้องถิ่นที่ยังไม่ได้รับการ “แปรรูป” นี้ ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ให้เข้ากับกระแสที่โลกต้องการ อันจะนำไปสู่ S-curve คู่ขนานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

ที่มา: https://thaipublica.org/2023/05/nida-sustainable-move35-soft-power/