ความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ของคนญี่ปุ่น)

ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ถ้าถามว่า ประเทศไหนเป็นประเทศแรกที่เรา ๆ คนไทยต้องการไปท่องเที่ยวมากที่สุดหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้ว ผมเชื่อว่า “ประเทศญี่ปุ่น” น่าจะเป็นประเทศแรก ๆ ในใจของใครหลายๆ คน ตัวผมเองก็เพิ่งได้มีโอกาสพาครอบครัวไปท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่นหลังจากไม่ได้ไปมาเกือบ 5-6 ปี ตั้งแต่ก่อนที่สถานการณ์โควิด-19 จะระบาด ต้องยอมรับว่า ญี่ปุ่นก็คงยังมีเสน่ห์เหมือนเดิม เพิ่มเติมตรงที่ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบสมาร์ทมากขึ้นตามประสาของประเทศต้นแบบผู้นำด้านเทคโนโลยีที่เริ่มปรับตัวการใช้ระบบอัตโนมัติทดแทนการจ้างงานมากขึ้น

แน่นอนว่าในระหว่างที่เราท่องเที่ยว เราเห็นผู้คนทำงานเดินขวักไขว่ไปมากมายตามสถานีรถไฟในเมืองใหญ่ ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตก็คือ พนักงานออฟฟิศจำนวนมากเหล่านั้น (อย่างที่เราทราบดีว่า พนักงานออฟฟิศของญี่ปุ่นจะนิยมใส่สูตไปทำงานในทุก ๆ วัน) มีการติด “เข็มหมุดปักเสื้อสูตที่มีลักษณะคล้าย ๆ กับโลโก้ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) ผมจึงมีความสงสัยตามมาว่า เพราะเหตุใดพนักงานออฟฟิศเหล่านั้นถึงนิยมติดเข็มหมุด SDG นี้กัน พอได้เริ่มหาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า การติดเข็มหมุด SDGs นี้เริ่มได้รับความนิยมมาตั้งแต่สัก 3-4 ปีที่แล้ว แต่ไม่ใช่แค่เพียงเข็มหมุดติดสูตเท่านั้น แต่โลโก้ SDGs ดูจะถูกนำเสนอในแหล่งต่าง ๆ มากมาย

อย่างที่เราทราบกันดีว่า กรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติได้ถูกกำหนดขึ้นทั้งสิ้น 17 เป้าหมายเพื่อเป็นกรอบชี้นำแนวทางการพัฒนาประเทศเพื่อนำไปสู่โลกที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่มีการนำกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้มาใช้ตั้งแต่ปี 2016 แต่สิ่งที่ญี่ปุ่นแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ก็คือ “ความมุ่งมั่น” ต่อการพัฒนาดูจะสูงมาก ๆ เพราะถ้าดูไปลึก ๆ แล้วจะเห็นว่า ตัวสัญลักษณ์ SDGs ได้ถูกนำมาใส่ในทุกหนรอบตัวตั้งแต่ การ์ดเกมสำหรับเด็ก, หนังสือการ์ตูน, สนามเด็กเล่น, แผ่นป้ายบนรถไฟ, การท่องเที่ยวเชิงยั่งยืน, และสื่อต่าง ๆ เพื่อให้เห็นว่า ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ทุกพื้นที่ ทุกกิจกรรม และทุกคนสามารถ “มุ่งมั่น” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศสามารถบรรลุกรอบเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ทั้งสิ้น ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียว การติดเข็มหมุดไว้ที่ปกเสื้อก็เป็นวิธีการหนึ่งของคนทำงานเสมือนกับเป็นการเตือนตัวเองให้ยึดมั่นในเรื่องนี้ โดยการติดเข็มหมุด SDG นี้ถูกริเริ่มมาจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Keidanren เป็นบริษัทแรกก่อนที่จะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายตามมา

จากการสำรวจโดยบริษัทวิจัย Teikoku Databank พบว่าประมาณเกือบครึ่งของประชากรชาวญี่ปุ่นมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่กรอบเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่นการเริ่มบริโภคปลาและอาหารทะเลลดลงเพื่อช่วยรักษาระบบนิเวศในท้องทะเล เป็นต้น โดยเมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุจะพบว่า คนที่มีอายุน้อย (โดยเฉพาะเด็กในวัยเรียน) ดูจะมีการปรับรูปแบบการดำเนินชีวิตเพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศญี่ปุ่นให้บรรลุกรอบเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้มากกว่าผู้ใหญ่หรือสูงอายุถึงสองเท่า

จากการจัดอันดับประเทศในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ในปี 2015 อันดับการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่อันดับ 13 ก่อนที่จะตกมาอยู่ที่อันดับ 19 ในปี 2022 (ประเทศไทยอยู่อันดับ 44) ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจนักสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะตัวชี้วัดด้านคุณภาพการศึกษาที่ดี ความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่ต่ำ และการเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและมีการโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ในขณะที่บางตัวชี้วัดเช่นเรื่องของ “ความเท่าเทียมทางเพศ” ที่ดูแล้วญี่ปุ่นจะมีคะแนนที่ค่อนข้างต่ำในด้านนี้ (อันดับ 116 จาก 146 ประเทศ)

ภาคธุรกิจในปัจจุบันเองก็เริ่มให้สำคัญที่ใช้กรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ในการประกอบธุรกิจ แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การดำเนินธุรกิจตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้จะส่งผลต่อศักยภาพของธุรกิจ (Business Performance) อย่างไร โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ย่อมเป็นสร้าง “ต้นทุน” (Cost) ให้กับธุรกิจเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน ในขณะที่ผลได้ (Benefit) อาจจะยังไม่เห็นชัดเจน งานวิจัยล่าสุดของผมร่วมกับ ผศ.ดร.ยศ อมรกิจวิไกร (จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ที่เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Business Strategy and Development ได้ทำการศึกษาโดยใช้ข้อมูลรายบริษัท (Firm-Level Data) ในภาคอุตสาหกรรมของประเทศในกลุ่ม ASEAN ทั้งหมด 5 ประเทศจำนวน 3,471 บริษัทมาทำการวิเคราะห์

ผลการศึกษาพบว่า การดำเนินกลยุทธ์ตามกรอบของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะ “ส่งผลบวก” ต่อการเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพขององค์กรให้สูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การเพิ่มค่าตอบแทนให้กับแรงงาน (SDG-8) และการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน (SDG-4) จะส่งผลต่อการเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพของธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การลงทุนในนวัตกรรมทางสินค้า (SDG-9) การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (SDG 5-9) และการดำเนินการตามกรอบ ISO (SDG 1-9 และ 12-15) ส่งผลต่อการเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพทางธุรกิจเช่นเดียวกัน ดังนั้นการที่องค์กรธุรกิจจะพยายามปรับรูปแบบการดำเนินกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้จึงมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจของประเทศด้วยเช่นกัน

แต่อย่างไรก็ดี จากตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่นจะเห็นว่า การที่ประเทศหนึ่ง ๆ จะบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้นั้น การแค่สอนคนในประเทศให้รู้จักว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนคืออะไรนั้นยังไม่เพียงพอ แต่การพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในประเทศเพื่อให้มี “ความมุ่งมั่น” และมี DNA ที่จะพยายามช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายนี้กลับเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและน่าท้าทายมากกว่า