ความมั่นคงทางอาหารสำหรับคนเมือง

ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

เป้าหมายที่ 2 ของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG 2: Zero Hunger)ได้มุ่งมั่นที่จะขจัดความหิวโหยและความอดอยากทุกรูปแบบ ภายในปี 2573 เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและผู้ด้อยโอกาสเข้าถึงอาหารที่เพียงพอและมีคุณค่าทางโภชนาการตลอดทั้งปี แต่ทั้งนี้การขาดแคลนการบริโภคอาหารมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับประชากรในเขตเมืองมากกว่าในชนบทโดยสามารถจำแนกถึงสาเหตุได้ดังต่อไปนี้

1) ความแตกต่างของโครงสร้างของครัวเรือนในเขตเมือง: ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองโดยส่วนใหญ่มีโครงสร้างของครัวเรือนที่มีขนาดเล็กอันประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูก (หรืออาจรวมถึงคนชรา) ซึ่งส่งผลให้มีจำนวนผู้ที่มีหน้าที่ในการหารายได้ให้กับครัวเรือนน้อยและจะต้องแบกรับภาระที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการออมในภาคครัวเรือนที่ลดลง

2) ความไม่มั่นคงของการจ้างงานของแรงงานในเขตเมือง: การเจริญเติบโตของเมืองทำให้เกิดการจ้างงานสูงขึ้นโดยเฉพาะการจ้างงานนอกระบบ (Informal Sector) ซึ่งจะมีปัจจัยแปรผันต่างๆเกิดขึ้นมากกว่าการจ้างงานในระบบ (Formal Sector) ยกตัวอย่างเช่น การจ้างงานคนงานก่อสร้างที่มักมีการจ้างงานต่ำในช่วงฤดูฝน นอกจากนี้ การทำงานของแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ยังไม่มีสวัสดิการสังคม(Social Security) คุ้มครอง ส่งผลทำให้รายได้ของประชากรในเขตเมือง(ที่ส่วนใหญ่ทำงานนอกระบบ) ไม่มีความมั่นคงในรายได้ไม่มีสวัสดิการทางสังคมที่เพียงพอ หรืออาจถูกกดค่าแรงจากนายจ้าง

3) ต้นทุนค่าครองชีพของประชากรในเขตเมือง: ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีต้นทุนค่าครองชีพที่สูงกว่าประชากรในเขตชนบทโดยคนจนในเขตเมืองจะนิยมบริโภคอาหารจากร้านค้ารถเข็นตามริมถนน ซึ่งนอกจากจะไม่มีประโยชน์ทางด้านโภชนาการมากนักแล้วอาหารจากร้านค้าประเภทรถเข็นส่วนใหญ่ยังมีราคาสูงกว่าอาหารที่ครอบครัวทำกินเองอีกด้วย นอกจากนี้ ต้นทุนประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางด้านระบบสาธารณูปโภค เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า รวมไปถึงการเดินทางก็จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าในชนบทด้วยเช่นกัน

4) มลภาวะของการอยู่อาศัยในเขตเมือง: การอยู่อาศัยในเขตเมืองจะต้องเผชิญกับมลภาวะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความสกปรกของอากาศ โดยเฉพาะกับการบริโภคอาหารที่อาจจะผิดสุขลักษณะ โดยเฉพาะกับครัวเรือนที่มีฐานะยากจนและมีที่อยู่อาศัยที่อัตคัดและคับแคบ จากการศึกษาพบว่า ประชากรในเขตเมืองที่มีฐานะยากจนประสบปัญหาทางด้านการขาดสารอาหารมากกว่าประชาชนในชนบท

จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ภาครัฐบาลเองที่มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศจึงจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับปัญหาความยากจนและความอดอยากหิวโหยของประชาชนในเขตเมือง (Urban Poor) ไม่น้อยกว่าการให้ความสำคัญกับความยากจนในชนบท(Rural Poverty) โดยจัดสรร “โครงการความมั่นคงทางด้านอาหาร” (Food Security Program) สำหรับคนจนในเขตเมืองเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ในแต่ละวันซุปเปอร์มาร์เกตขนาดใหญ่ต่าง ๆ จะมีการโละอาหารที่หมดอายุตามฉลากแล้ว เช่น อาหารกระป๋องหรือผักผลไม้ต่าง ๆ แต่จริง ๆ แล้วอาหารเหล่านั้นสามารถนำมาบริโภคได้อีกระยะเวลาหนึ่งในต่างประเทศจะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการเก็บรวบรวมอาหารที่ถูกทิ้งเหล่านี้ แล้วนำมาแจกจ่ายให้กับคนยากจน ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้แก่คนจน ที่อย่างน้อยต้องการบริโภคอาหารที่ดีและถูกสุขลักษณะ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงสร้างของชุมชนเมืองมีการแปรผันในปัจจัยต่าง ๆ อย่างมาก การจัดตั้งโครงการนี้จึงต้องให้ความสำคัญกับความแปรผันในประเด็นดังกล่าวเหล่านี้ โดยผู้บริหารโครงการควรให้ความสำคัญกับความแตกต่างระหว่างการดำเนินโครงการสำหรับคนจนในเขตเมืองและคนจนในเขตชนบทดังต่อไปนี้

1) ปัจจัยแปรผันต่าง ๆ ของชุมชนเมือง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านการย้ายถิ่นของประชากรการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างของครัวเรือนที่มีขนาดเล็กลงหรือความไม่มั่นคงในรายได้จำเป็นที่ผู้บริหารโครงการจะต้องมีการศึกษาถึงลักษณะโครงสร้างของเมือง (Urban Assessment) เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงและลักษณะของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นอกจากนี้ควรต้องมีการการศึกษาถึงวิวัฒนาการของเมืองตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันการหาแนวทางเพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างชุมชนเมืองและชุมชนชนบท(Urban-Rural Linkage) เพื่อให้ทราบถึงแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงของเมืองนั้นๆ ในอนาคต

2)โครงการความมั่นคงทางด้านอาหารอาหารสำหรับประชากรในเขตเมืองจะมีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลมากกว่าโครงการประเภทเดียวกันในชนบท เนื่องการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล จะส่งผลต่อสถานะความเป็นอยู่ของประชากรในเขตเมืองในลักษณะที่แตกต่างกับในเขตชนบท โดยผู้บริหารโครงการจะต้องทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงในฤดูกาลต่าง ๆ เช่น ในฤดูฝน อุตสาหกรรมการก่อสร้างจะชะลอตัว และในฤดูเก็บเกี่ยวอาจจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากชุมชนเมืองที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมไปชนบทเพื่อทำงานในภาเกษตรกรรม (Seasonal Shift)

3) กลุ่มเป้าหมาย (Target Group) ของโครงการ มีความแตกต่างกันระหว่างเมืองและชนบทโดยการดำเนินโครงการในเขตเมืองจะกลุ่มเป้าหมายได้ยากกว่าการดำเนินโครงการในเขตชนบทที่จะจำกัดกลุ่มอยู่ที่เกษตรกร ในเขตเมืองกลุ่มเป้าหมายจะมีได้หลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่ผู้หญิงทำหน้าที่ในการหารายได้หลัก เด็กจรจัด กลุ่มแรงงานนอกระบบหรือแรงงานอพยพที่ไม่ได้อยู่ในทะเบียนราษฎร์นอกจากนี้การกำหนดกลุ่มเป้าหมายของโครงการในเขตเมืองยังขึ้นอยู่กับสถานที่ซึ่งรวมไปถึงชุมชนแออัดต่าง ๆ (Slum) หรือพื้นที่ในเขตที่ที่ระบบสาธารณูปโภคเข้าไปไม่ถึง

4) ในชุมชนเมือง รูปแบบของการให้บริการอาจจะมีหลายรูปแบบมากกว่าชนบท โดยในชนบทการให้บริการมักจะอยู่ในรูปของการแจกจ่ายอาหารหรือเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ในขณะที่ชุมชนเมืองอาจจะมีบริการที่เฉพาะกว่าตามกลุ่ม เช่น การให้อาหารกลางวันในโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็ก หรือการให้ความช่วยเหลือกแก่คนจรจัด ซึ่งเป็นการให้บริการที่แตกต่างกันไปผู้ดำเนินโครงการจำเป็นที่จะต้องหา “หุ้นส่วน” (Partnership) ในด้านต่าง ๆ (รวมถึงในพื้นที่ต่าง ๆ) เพื่อทำให้การบริหารโครงการมีความสะดวกรวดเร็วและประหยัดต้นทุนในการบริหารมากขึ้นแม้ว่าการช่วยเหลือทางด้านอาหารจะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนจนในทุกประเทศ แต่เพื่อให้โครงการดังกล่าวเกิดประสิทธิผลสูงสุดความเข้าใจในลักษณะของกลุ่มผู้ได้รับความช่วยเหลือก็เป็นสิ่งสำคัญในการวางแผนงาน ทั้งนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับรูปแบบของการให้บริการประสิทธิภาพของการให้บริการ และมาตรการในสนับสนุนให้โครงการประเภทนี้ดำรงอยู่ได้ต่อไปในระยะยาว

ประเด็นสำคัญในการจัดทำโครงการช่วยเหลือทางด้านอาหาร คือ การตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่าการช่วยเหลือแต่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ความอดอยากหิวโหยและความยากจนลดลงได้อย่างยั่งยืน เพราะการช่วยเหลือเป็นเพียงการสร้างโครงข่ายทางสังคม (Social-Safety Net) เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการบริโภคอาหารที่ไม่มีสารอาหารเพียงพอเท่านั้น

ปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหาร ต้องแก้ไขด้วยการที่คนจนผู้หิวโหยเหล่านี้ต้องพยายามพึ่งตัวเองให้ได้ในระยะยาว โดยการเพิ่มทักษะในการทำงาน การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งทางภาครัฐสามารถที่จะเข้าไปดำเนินการควบคู่ในการส่งเสริมอาชีพเพิ่มโอกาสการจ้างงาน และการให้ความรู้พื้นฐานเรื่องสภาพแวดล้อมและการอนามัย เป็นต้น

ที่มา : ความมั่นคงทางอาหารสำหรับคนเมือง – ThaiPublica