รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กุสุมาวลี รองอธิการบดีด้านวิชาการและกิจการนานาชาติ และอาจารย์ประจำ คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ในขณะที่มีมายาคติในโลกสารสนเทศ สื่อสังคมที่แชร์กันไปทั่วว่า ในโลกแห่งอนาคตยุคดิจิทัล มนุษย์จะถูกพลิกผันแทนที่ (Disrupt) ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น หุ่นยนต์ จักรวาลนฤมิตร อุปกรณ์ดิจิทัล ฯลฯ กำลังเข้ามาแย่งชิงงานของชาวโลกไปทำ
รายงานชื่อดังคือ Future of Jobs ที่จัดทำมาอย่างต่อเนื่องโดย World Economic Forum (WEF) พยายามชี้ให้เห็นว่าในโลกยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอย่างรวดเร็วของระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์จะถูกนำมาใช้มากขึ้นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงกระบวนการของธุรกิจบริการ เช่น การเงินการธนาคาร การขนส่งและการดูแลสุขภาพรักษาพยาบาล ฯลฯ ซึ่งมีผลทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการจ้างงาน สภาพแวดล้อมของการทำงาน วิธีการทำงานที่ยืดหยุ่นหลากหลาย และงานและอาชีพที่มีอยู่เดิมจำนวนหนึ่งจะหายไป ประมาณการว่า กว่าร้อยละ 60 ของพนักงานบริษัทและหน่วยงานรัฐของไทย เวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีความเสี่ยงที่จะไม่มีงานทำ
ในขณะที่มีงานใหม่และความต้องการทักษะใหม่ (New jobs and new skills) หลายอย่างกำลังจะเกิดขึ้น ในขณะที่งานแบบเก่าที่ใช้ทักษะต่ำกำลังจะหายไปและถูกทดแทน ด้วยงานและการทำงานแบบใหม่ ควบคู่ไปกับความรู้และทักษะการทำงานในโลกของการทำงานแบบใหม่ จะเกิดปรากฏการณ์การปรับเปลี่ยนและยกระดับ (Re-skill and up-skill for future skills) เพื่อรองรับทักษะใหม่ในอนาคต
อะไรคือ “งานและทักษะใหม่”?
รายงานล่าสุดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เรื่อง World Employment and Social Outlook ชี้ให้เห็นว่า ในยุคแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน หากประเทศต่างๆในโลกนี้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายได้อย่างถูกต้องเหมาะสม จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจไปสู่ “เศรษฐกิจสีเขียว” (Green Economy) และจะก่อให้เกิดการสร้างงานใหม่กว่า 24 ล้านงานใหม่ในทศวรรษ 2030
งานใหม่เหล่านี้จะถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยการนำเอาแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนไปใช้ในภาคส่วนด้านพลังงาน (Energy sector) เช่นการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานในบรรดาอาคารที่มีอยู่ในปัจจุบันและในอนาคต
ในการขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านนี้ มีทั้งข่าวร้ายและข่าวดี ข่าวร้าย คือ คาดกันว่าจะมีงานจำนวนหนึ่งสูญหายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมด้านการสกัดและกลั่นปิโตรเลียม การทำเหมืองถ่านหิน และการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน ประมาณการกันว่าจะมีงานจำนวนกว่า 6 ล้านตำแหน่งที่จะหายไป แต่ข่าวดี คือ หากมีการออกแบบและกำหนดนโยบายที่ดี กล่าวคือหากมีการออกแบบนโยบายที่จะเสริมสร้างระบบการปกป้องคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการทางสังคมที่เข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุนระบบเศรษฐกิจสีเขียวที่เหมาะสมทั้งด้านการเงินและช่วยสนับสนุนไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็จะนำไปสู่การสร้างงานที่มีนัยสำคัญพร้อมไปกับการกระจายรายได้ที่มีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การมีนโยบายที่สร้างสรรค์ย่อมมิใช่เป็นเพียงคำตอบเดียวสำหรับการเปลี่ยนผ่านอย่างเหมาะสม เนื่องจาก ยังจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคธุรกิจเอกชนที่จะต้องมีพันธกิจที่เข้มแข็งในการร่วมสนับสนุนให้บรรลุการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ILO เชื่อว่า เศรษฐกิจสีเขียวจะช่วยทำให้ผู้คนจำนวนหลายล้านสามารถเอาชนะก้าวข้ามความยากจนและส่งมอบชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้แก่คนทั้งในรุ่นปัจจุบันและอนาคต งานจำนวน 1.2 พันล้านงานทั่วโลกที่มีอยู่ในปัจจุบันจะมีความมั่นคงปลอดภัยได้ ต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่มีความมั่นคงและความรุ่มรวยของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นงานในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการเกษตร การประมง ป่าไม้ รวมถึง การท่องเที่ยวและกระทั่งอุตสาหกรรมยา ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาอาศัยระบบนิเวศน์และกระบวนการทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม การคาดการที่เกี่ยวกับ สภาพภูมิอากาศที่ปลี่ยนแปลง (Climate change) ภาวะโลกร้อน (Global warming) อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น และความร่อยหรอ เสื่อมสลาย ถูกบุกรุกทำลายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ล้วนแล้วแต่ส่งผลเสียต่อความมั่นคงของงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
จริงๆแล้ว ILO ทำนายว่า งานประเภทจ้างเต็มเวลา (Full-time jobs) จำนวนกว่า 72 ล้านงานจะสูญหายไปในทศวรรษ 2030 อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน (Heat stress) และการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิจะนำไปสู่การลดชั่วโมงการทำงานลง โดยเฉพาะในภาคการเกษตร
อีกภาคส่วนหนึ่งที่จะเป็นโอกาสในการสร้างงานในยุคเศรษฐกิจยั่งยืน คือ ภาคพลังงานทดแทน (Renewable energy) ในช่วงปี 2020-2021 พบว่า การจ้างงานในภาคพลังงานทดแทน มีเพิ่มมากขึ้นกว่า 7 แสนงาน ทำให้มีงานในภาคอุตสาหกรรมนี้ถึง 12.7 ล้านงานทั่วโลก มีแนวโน้มที่ประเทศต่างๆทั่วโลกจำนวนเพิ่มมากขึ้นที่มีการสร้างงานในภาคพลังงานทดแทนนี้ คาดกันว่า ปรากฏการณ์การเพิ่มขึ้นของงานแบบ ‘Jobs boom’ จะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นทั่วโลกในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนมากกว่า 38 ล้านงานภายในปี 2030
ภาคอุตสาหกรรมโซลาร์เซลแสงอาทิตย์ (Solar photovoltaic (PV)) ถือเป็นภาคส่วนที่มีสัดส่วนการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ 4.3 ล้านงาน โดยเฉพาะในเอเชียมีการจ้างงานถึงร้อยละ 79 ของจำนวนรวมทั้งโลก
ที่เหลือ ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างงานในอุตสาหกรรมด้านพลังงานทดแทน คือ การผลิตไฟฟ้าจากจากพลังงานน้ำ (Hydropower) และ เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuels) อย่างละ 2.4 ล้านงาน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม มีการจ้างงาน 1.3 ล้านตำแหน่ง ส่วนที่เหลือ เช่น พลังงานความร้อนสจากใต้พิภพ (geothermal), ปั๊มความร้อนอุณหภูมิสูง (heat pumps) และ พลังงานจากคลื่นมหาสมุทร (ocean energy) ล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญในการสร้างงานประเภทใหม่ ๆ ขึ้นมา
ที่น่าสนใจคือ เกือบ 2 ใน 3 ของงานในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนอยู่ในทวีปเอเชีย จีนถือเป็นประเทศที่มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมประเภทพลังงานทดแทนมากที่สุดคิดเป็น ร้อยละ 40 ของทั้งโลก ตามมาด้วยสหภาพยุโรปและบราซิล อย่างละร้อยละ 10 สหรัฐอเมริกาและอินเดีย แห่งละร้อยละ 7 โดยที่ บราซิลมีการจ้างงานในด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) มากที่สุด ในแง่ความเสมอภาคทางเพศ พบว่า มีการจ้างงานสตรีเพศถึง 1 ใน 3 ของการจ้างงานทั้งหมดในอุคสาหกรรมนี้
คำถามที่สำคัญสำหรับเราชาวไทยคือ แนวโน้มการจ้างงานในเศรษฐกิจยั่งยืนของไทยเป็นอย่างไร?
ที่ผ่านมามีการกำหนดนโยบายที่น่าสนใจคือการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมุ่งเน้นเศรษฐกิจ BCG (Bio, Circular and Green economy) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) มีการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศที่มุ่งไปในอนาคต บนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้อง กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการเพื่อยกระดับเข้าสู่การผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตามองคือ แนวนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งซึ่งจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน และออกแบบแนวนโยบายที่ส่งเสริมการจ้างงานอย่างยั่งยืนตามแนวทางของเศรษฐกิจยั่งยืนหรือไม่?
เท่าที่ผมติดตามฟังนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆที่หาเสียงกันอยู่ในตอนนี้ ขอเรียนตามตรงว่า “ยังไม่เห็นความชัดเจนในเรื่องนี้ครับ”