รองศาสตราจารย์ ดร. ณดา จันทร์สม คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ nada@nida.ac.th
สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นจุดเปราะบางสำคัญของระบบเศรษฐกิจการเงินและสังคมไทย และยังคงเป็นประเด็นที่ต้องกล่าวย้ำกัน โดยเฉพาะในช่วงบรรยากาศการเลือกตั้ง ที่จะมีการนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจจากพรรคการเมืองต่าง ๆ การกระตุ้นให้เกิดการตระหนักถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยจึงเป็นเรื่องจำเป็นและคาดหวังนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หนี้ครัวเรือนของไทยปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เปรียบเทียบข้อมูลในปี พ.ศ. 2553 หนี้สินครัวเรือนจากระดับ 60% ต่อ GDP มาอยู่ที่ประมาณ 90% ต่อ GDP ในปี พ.ศ. 2563 และรักษาระดับสูงไว้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 3/2565 หนี้สินครัวเรือนไทยมีจำนวน 14.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 86.8% ต่อ GDP
จากข้อมูลสินเชื่อในระบบจากเครดิตบูโรที่รายงานโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า คนไทย 25 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรมีหนี้ในระบบ โดยมีมูลค่าหนี้เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 527,000 บาท และ 1 ใน 5 ของผู้ที่เป็นหนี้กำลังมีหนี้เสีย (ข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 3/2565) และต้องยอมรับว่าหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ของไทยเป็นหนี้ที่ไม่ค่อยมีคุณภาพไม่สร้างรายได้ (non-productive loan) โดย 69% ของบัญชีหนี้ครัวเรือนทั้งหมดเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ใช้แล้วหมดไป จากสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต และหนี้ส่วนใหญ่อยู่กับกลุ่มผู้กู้ที่มีปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ โดยกลุ่มวัยเริ่มทำงานมีสัดส่วนการใช้สินเชื่อที่อาจไม่สร้างรายได้สูงที่สุดและ 1 ใน 4 เป็นผู้กู้ที่มีหนี้เสีย และเกษตรกรและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็นสองกลุ่มผู้กู้ที่มีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio: DSR) สูงที่สุด มีความเสี่ยงสูงที่อาจจะชำระหนี้ไม่ได้ หรือชำระได้เพียงดอกเบี้ยหรือเงินต้นบางส่วน ทำให้ตกอยู่ในวังวนของการเป็นหนี้ที่ไม่อาจหลุดพ้นได้
มุ่งเน้นการพัฒนา แต่ปัญหาหนี้สินยังรุมเร้าครัวเรือนไทย
ปัญหาหนี้ครัวเรือนจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างรอบด้าน โดยต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน จากการทบทวนนโยบาย มาตรการ รวมถึงโครงการที่เกี่ยวข้องในการจัดบริการจากหน่วยงานทั้งจากภาครัฐโดยตรง จากหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลระบบเศรษฐกิจและตลาดการเงินของรัฐ และสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงการศึกษาจากผลการสำรวจโดยผู้เขียน พบว่า มีนโยบายและมาตรการที่จะช่วยส่งเสริมการออม การออมเพื่อวัยเกษียณ การให้ความรู้ทางการเงิน การลงทุน การวางแผนการเงิน การบริหารความเสี่ยงผ่านเครื่องมือประกันภัย ฯลฯ จากหน่วยงานต่าง ๆ อยู่หลายแหล่ง และแม้ว่าจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาไว้ในระดับประเทศ แต่ยังพบว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อยยังประสบปัญหาที่สะท้อนถึงความไม่พอเพียงในดำเนินชีวิต และนำไปสู่การเป็นหนี้ ได้แก่
1)ปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย นำสู่ภาระหนี้สินของครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งอาจพิจารณาสาเหตุของปัญหาจาก 2 ด้าน ได้แก่ หนึ่ง สาเหตุจากตัวบุคคลเอง เช่น ขาดความรู้ความเข้าใจในการประกอบอาชีพ ทำให้ขาดการวางแผนและการจัดการที่ดี ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันต่ำส่งผลให้รายได้น้อย หรือจากทัศนคติและพฤติกรรมทางการเงินของบุคคลนั้น ๆ ที่มีต่อการบริโภคนิยมก่อรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และ สอง สาเหตุนอกตัวบุคคล อันเกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและนโยบายการบริหารของประเทศที่กระจุกตัวสูง สร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความยากจนอย่างแท้จริง เห็นได้จากยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจเน้นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมหรือภาคตัวเมืองมากกว่า ทำให้เกิดความแตกต่างทางรายได้ระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบท หรือแม้แต่การกระจุกตัวของการพัฒนาในกรุงเทพมหานครมากกว่าในภูมิภาค
2)ผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินที่ครอบคลุมได้ เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่สถาบันการเงินกำหนดทำให้ขาดแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ รวมถึงบริการทางการเงินอื่น แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐจะสนับสนุนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ กองทุนหมู่บ้านสถาบันการเงินชุมชน สหกรณ์ เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่อาจยังไม่ครอบคลุมนัก โดยเฉพาะบริการทางการเงินที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือด้อยโอกาส
การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องวางแผนอย่างเป็นระบบ
นโยบายที่สอดรับกับทุกระยะของการเกิดหนี้สินครัวเรือน
สถานการณ์หนี้สินระดับบุคคลมีความแตกต่างกันในทุกมิติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อสภาพหนี้ครัวเรือนได้ดียิ่งขึ้น จำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่ครอบคลุมระบบสินเชื่อของประเทศ การกำหนดนโยบายที่ดี ควรคำนึงถึงความสมดุลของทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงสินเชื่อ และเสถียรภาพทางการเงินของครัวเรือนไทย โดยนโยบายเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนควรครอบคลุมคนทุกกลุ่มทั่วประเทศ และเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาในทุกระยะของการก่อหนี้ ตั้งแต่ก่อนครัวเรือนจะมีหนี้ เมื่อมีหนี้ และเมื่อติดอยู่ในวงจรหนี้
นโยบายสำหรับภาวะก่อนครัวเรือนจะเป็นหนี้ ได้แก่
(1)นโยบายส่งเสริมทักษะทางการเงิน สร้างวินัยทางการเงิน ปลูกฝังจิตสำนึกให้ตระหนักถึงความสำคัญของการออม การมีภูมิคุ้มกันทางการเงินตั้งแต่อายุยังน้อย รวมถึงการสร้างความตระหนักถึงความจำเป็นและความเสี่ยงในการก่อหนี้ให้แก่ประชาชนทั่วไปได้มีหลักคิดในการตัดสินใจที่ถูกต้องก่อนการเข้าสู่ภาวะการเป็นหนี้ ประเด็นท้าทายในเรื่องนี้ คือ การวางกรอบเนื้อหา วิธีการสอน สื่อสาร และการใช้สื่อให้สอดรับกับกลุ่มเป้าหมายและบริบทที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในการกลุ่มคนรุ่นใหม่ และเป็นขับเคลื่อนเชิงรุกเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรม
(2)นโยบายที่จะส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อและบริการทางการเงินที่จำเป็น ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพทุกกลุ่ม และการใช้แนวทางทางเลือกในการประเมินศักยภาพของผู้กู้ ตัวอย่าง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุอาจพิจารณาการให้สินเชื่อที่อยู่ในรูปแบบสินเชื่อสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) ซึ่งธนาคารให้กู้ยืมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพเป็นรายเดือนแก่ผู้กู้ตลอดอายุขัยของผู้กู้และได้ทรัพย์สินของผู้กู้เป็นหลักประกันเงินกู้ กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย อาจพิจารณาสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจที่ประเมินความสามารถของผู้กู้ตามรูปแบบรายได้ของผู้กู้หรือใช้ข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) เช่น การชำระสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์มือถือ รวมถึงประวัติทางพฤติกรรมที่ผู้ใช้งานในโลกอินเทอร์เน็ต (Digital footprint) ในการประเมินความสามารถในการกู้ยืม เป็นต้น โดยเป้าหมายหลักของนโยบาย คือ ช่วยปิดช่องว่างสำหรับประชากรที่ยังไม่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ให้สามารถเข้าถึงและรับบริการทางการเงินจากสถาบันการเงินในระบบได้
นโยบายสำหรับเมื่อครัวเรือนเป็นหนี้ ได้แก่
(1)นโยบายเพื่อออกเกณฑ์กำกับควบคุม ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของครัวเรือน ตัวอย่างเช่น การออกเกณฑ์ Loan to Value หรือ LTV ที่เป็นอัตราส่วนการให้สินเชื่อโดยเทียบกับมูลค่าหลักประกัน การกำหนดเงื่อนไขในการเข้าถึงสินเชื่อบุคคล การผ่อนชำระค่าสินค้าและบริการ การผ่อนเงินงวดรายเดือน การประเมินฐานะทางการเงิน เป็นต้น โดยหลักเกณฑ์ในการกำกับควบคุมที่ออกมานั้น ควรมีการศึกษาผลกระทบของหลักเกณฑ์อย่างรอบคอบ และประเมินเปรียบเทียบระหว่างต้นทุนและผลที่คาดว่าจะได้รับจากหลักเกณฑ์อย่างระมัดระวัง เพื่อมิให้หลักเกณฑ์มีความยืดหยุ่นหรือเข้มงวดจนเกินไป ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลที่ละเอียด มีความครอบคลุมและสามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่นๆ ได้เพื่อความเข้าใจในทุกมิติ รวมถึงการศึกษาผลกระทบอย่างเป็นพลวัต โดยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าถึงข้อมูลที่จะช่วยในการศึกษา เพื่อพัฒนาและปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ได้อย่างเหมาะสม
(2) การพัฒนาร่วมมือกับสถาบันการเงินให้เกิดการกู้ยืมอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) เพื่อลดความรุนแรงในการแข่งขันของธุรกิจสินเชื่อ ทำให้ขาดความระมัดระวังในปล่อยเงินกู้ สร้างจูงใจที่ไม่เหมาะสมกระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น นอกจากนั้น อาจรวมถึงการกำหนดแนวทางให้สถาบันการเงินพิจารณาผ่อนคลายมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่ออย่างรอบคอบ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้กับประชาชนได้ง่ายขึ้น
(3)นโยบายที่จะเร่งสร้างวินัยทางการเงินให้กับครัวเรือนที่มีหนี้อย่างต่อเนื่อง การให้ความรู้และพัฒนาทักษะทางการเงินให้เกิดความเข้าใจเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงิน ตระหนักถึงความสำคัญของการหลุดพ้นจากภาวะหนี้ได้โดยเร็วเป็นเรื่องจำเป็น แม้ว่าการสร้างวินัยทางการเงินให้กับคนกลุ่มที่เป็นหนี้อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก โดยอาจใช้แรงกระตุ้นจูงใจในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้ตระหนักถึงประโยชน์ที่ได้รับจากพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เช่น การชำระหนี้ตรงเวลา การเร่งชำระเงินต้นเพื่อลดภาระดอกเบี้ย และโทษที่จะเกิดขึ้นจากพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เช่น การใช้จ่ายเกินตัว ไม่เก็บออม และไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยใช้สิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างเป็นระบบ (Nudge Concept)
นโยบายสำหรับการจัดการปัญหาเมือครัวเรือนติดอยู่ในวงจรหนี้ นโยบายในการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ที่ติดอยู่ในวงจรหนี้สามารถหลุดพ้นได้อย่างยั่งยืนเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยสถาบันการเงินโครงการคลินิกแก้หนี้ เป็นตัวอย่างแนวทางเพื่อการจัดการในภาวะนี้ อย่างไรก็ดี ควรเน้นสร้างจิตสำนึกและวินัยทางการเงินให้ครัวเรือนกลุ่มนี้ควบคู่ไปด้วย รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลที่จะช่วยติดตามไม่ให้คนกลุ่มนี้กลับไปอยู่ในวงจรหนี้ดังเช่นเดิมได้อีก
ความรู้ทางการเงินเป็นฐานรากสำคัญในการตัดสินใจกู้ยืม
นอกจากการมีนโยบายที่ดูแลในแต่ละช่วงของการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนดังกล่าวข้างต้นแล้ว การให้ความสำคัญกับความรู้ทางด้านการเงินก็เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมาก เพราะความรู้ด้านการเงินจะทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกัน สามารถประเมินศักยภาพของตนเองต่อการสร้างหนี้ว่ามีความเหมาะสมเพียงใด ทั้งความสามารถในการชำระหนี้ วิธีการคิดคำนวณดอกเบี้ย ตลอดจนแนวทางที่เป็นการสร้างรายได้เพิ่มเพื่อชดเชยกับรายจ่าย ทั้งนี้ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ควรเร่งให้ความรู้ทางการเงินกับประชาชนทุกระดับ เนื่องจากการส่งเสริมความรู้ทางด้านการเงินจะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติทางการเงินของประชาชนได้ นำไปสู่การวิเคราะห์ถึงสิ่งที่จำเป็นที่ควรใช้จ่ายเงิน และนำไปสู่วินัยทางการเงินระดับบุคคล
ที่ผ่านมามีการพัฒนาความรู้ทางการเงินมีการสนับสนุนจากหลายแหล่งความรู้ และสามารถยกระดับทักษะทางการเงินของคนไทยได้ระดับหนึ่ง พิจารณาจากข้อมูลการสำรวจทักษะทางการเงินของไทยปี 2563 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ภาพรวมคนไทยมีพัฒนาการระดับทักษะทางการเงินดีขึ้นอยู่ที่ ร้อยละ 71.0 ซึ่งสูงขึ้นกว่าการสำรวจครั้งก่อนในปี 2561 (ร้อยละ 66.2) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยการสำรวจทักษะทางการเงินครั้งล่าสุดของ OECD ในปี 2563 (ร้อยละ 60.5) โดยพิจารณาองค์ประกอบของทักษะทางการเงินทั้ง 3 ด้าน พบว่า คนไทยมีพัฒนาการดีขึ้นในทุกด้านทั้งด้านความรู้ทางการเงิน ด้านพฤติกรรมทางการเงิน และด้านทัศนคติทางการเงิน แต่ทั้งนี้ยังคงต้องพัฒนาในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและประชาชนทั่วไปสามารถใช้ความรู้และทักษะทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสะท้อนพฤติกรรรมและทัศนคติทางการเงินอย่างถูกต้อง เสริมความเข้มแข็งต่อระบบการเงินของไทยได้อย่างยั่งยืน บทเรียนที่ผ่านมาอาจเห็นได้ว่าการให้ความรู้ทางการเงินยังมีลักษณะแยกส่วน ขาดการบูรณาการ และยังเป็นไม่เจาะจงให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายเท่าที่ควร ตัวอย่างเช่น การพัฒนาความรู้ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมเท่าใดนัก การให้ความรู้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและระดับการศึกษาไม่สูงต้องเร่งดำเนินการให้ความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้
การสนับสนุนสินเชื่อและวางแผนธุรกิจอย่างครบวงจร
นโยบายที่ส่งเสริมให้เกิดการให้สินเชื่อพร้อมการให้คำปรึกษาในการวางแผนทางธุรกิจแบบครบวงจร จะช่วยประชาชน/ผู้ที่ต้องการทุนสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินในอนาคตได้ เช่น การบริหารบัญชี การวางแผนรายรับ-รายจ่าย แผนเกษียณอายุ แผนภาษี การให้ข้อมูลด้านการตลาด การผลิต และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เหมาะสม ซึ่งที่ปรึกษาทางด้านการเงินจะเข้ามามีบทบาทในการ่วมวางแผนธุรกิจให้มีการเชื่อมโยงอย่างครบวงจรทั้งกระบวนการผลิต ตลอดจนเป็นสื่อกลางในการจับคู่ความต้องการของกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุน (Business Matching) นอกจากนั้น สถาบันการเงินอาจเข้ามามีบทบาทในเงินทุนในฐานะผู้ร่วมทุน (Venture Capital) ซึ่งจะทำให้เกิดการช่วยเหลืออย่างยั่งยืน
การขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจในระดับฐานราก
นโยบายหรือมาตรการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยให้เศรษฐกิจในระดับฐานรากเป็นตัวขับเคลื่อน เนื่องจากเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าสถาบันการเงินในระบบ อย่างไรก็ดี ระบบเศรษฐกิจฐานรากที่จะมีความเข้มแข็งนั้นต้องมีการรวมกลุ่มการทำงาน เพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับภายนอก และควรมีการจัดการระบบการเงินของชุมชนอย่างบูรณาการร่วมกับกองทุนอื่น ๆ ภายใต้กลไก กฎ กติกาการอยู่ร่วมกัน ซึ่งในปัจจุบันแหล่งเงินทุนฐานรากส่วนใหญ่มาจากการรวมตัวกันทั้งจากการจัดตั้งโดยภาครัฐหรือจากกลุ่มประชาชนจัดตั้ง เช่น กองทุนหมู่บ้านฯ กลุ่มออมทรัพย์ต่าง ๆ เป็นต้น ดังนั้น การเข้ามาของภาครัฐด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนความมั่นคงให้แก่กลุ่มด้วยการออกกฎหมายสนับสนุน เพื่อให้เป็นแหล่งเงินทุน/เงินออมของกลุ่มประชาชนฐานราก จะช่วยให้กลุ่มดังกล่าวมีการเรียนรู้ในการบริหารจัดการเงิน สร้างดอกผลให้งอกเงย รวมถึงอาจเป็นกลไกในการสนับสนุนให้ครัวเรือนมีรายได้หลากหลาย ลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้แหล่งเดียวและสามารถมีรายได้ที่มั่นคงเพียงพอต่อการใช้จ่ายในครอบครัวและการชำระหนี้ในอนาคต
นโยบายที่จะจัดการกับปัญหาหนี้ครัวเรือน ไม่ใช่เพียงแค่การพักการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย การกำหนดนโยบายที่ครอบคลุมทุกมิติอย่างเป็นระบบ จะช่วยบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทย ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยสู่ความยั่งยืนได้ คงต้องคาดหวังการกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมจากรัฐบาลที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน และความร่วมแรงร่วมใจในการแก้ไขปัญหาจากทุกภาคส่วนต่อไป