ศาสตราจารย์ ดร. สรศาสตร์ สุขเจริญสิน คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า
การเลือกรูปแบบองค์กร (Entity Forms) นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินงาน เพราะการเลือกรูปแบบองค์กรต้องมีความสอดคล้องกับเป้าหมายและพันธกิจ หลายองค์กรเลือกใช้รูปแบบองค์กรธุรกิจที่แสวงหากำไร (For-profit organization) เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วน ฯลฯ ที่มีเป้าหมายในการแสวงหาผลกำไรสูงสุดก่อน (profit first) มีเจ้าของที่ชัดเจน มีพันธกิจในการสร้างความมั่งคั่ง (maximize profit) ให้กับผู้ถือหุ้น รูปแบบองค์กรจึงถูกออกแบบมาให้มีการวางแผนภาษีที่ดีและสร้างกำไรมากที่สุดตามหลักทุนนิยม มีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ แต่ไม่ได้มุ่งสร้างผลกระทบต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก แม้จะมีองค์กรบางแห่งที่เมื่อได้กำไรมาแล้วก็นำมาช่วยเหลือสังคม หรือที่เราคุ้นเคยกันว่าเป็นกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) แต่ก็ไม่สามารถสร้างผลกระทบสูงให้กับสังคมได้ เพราะเป้าหมายหลักยังเป็นการแสวงหาผลกำไรสูงสุดก่อนนั่นเอง
ในด้านตรงกันข้าม องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร (Non-profit organization) เช่น สมาคมการกุศลต่าง ๆ หรือมูลนิธิ เป็นต้น จะเป็นรูปแบบองค์กรที่มุ่งเน้นในการตอบโจทย์การแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมก่อนการแสวงหากำไร (impact first) แต่ก็มีข้อเสียของรูปแบบองค์กรในลักษณะไม่แสวงหากำไร นั่นคือ มิได้มีรายได้จากการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจเป็นหลัก ต้องพึ่งพาการบริจาคที่คาดเดากระแสเงินสดได้ยาก จึงทำให้พันธกิจในการสร้างสรรค์สังคมหรือสิ่งแวดล้อมอาจไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว
องค์กรที่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนพันธกิจด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน จะมีวัตถุประสงค์ไม่เหมือนองค์กรที่แสวงหากำไรทั่วไป เพราะองค์กรที่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน มักจะมีวัตถุประสงค์ 3 ด้านในเวลาเดียวกัน (Triple bottom line) คือ สร้างกำไร สร้างสรรค์สังคม และลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม จึงควรเลือกรูปแบบองค์กรที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระยะยาวและมีความยืดหยุ่น ดังนั้น การออกแบบรูปแบบองค์กรเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) จึงถูกนำมาใช้ โดยนิติบุคคลที่ลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคมก็สามารถใช้หักลดหย่อนภาษีได้ตามจริงโดยไม่จำกัดจำนวน เงินบริจาคให้วิสาหกิจเพื่อสังคมผ่านระบบ e-donation ก็สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้เช่นเดียวกับการบริจาคให้มูลนิธิอีกด้วย
เมื่อด้านรายรับมีความคล้ายกับรายรับของรูปแบบธุรกิจที่ไม่แสวงหากำไรแต่ยืดหยุ่นกว่า เพราะสามารถหารายได้จากการขายผลิตภัณฑ์หรือให้บริการได้ด้วย แต่เมื่อทำกำไรได้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องแจกจ่ายให้ผู้ถือหุ้นทั้งหมด วิสาหกิจเพื่อสังคมจึงสามารถแก้ปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กับการสร้างกำไรเพื่อให้องค์กรอยู่รอดในระยะยาวได้ด้วย
จะเห็นได้ว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมมีความเข้มแข็งและเข้มงวดมากกว่ากิจการที่แสวงหากำไร ในแง่ของการแบ่งปันผลกำไรที่ลดโอกาสให้มีการชั่งใจเลือกระหว่าง “ปันผลส่วนตัว” กับ “ประโยชน์ส่วนรวม” เพราะมีฐานคิดว่า ถ้าปล่อยให้สามารถจ่ายปันผลได้หมด ความโน้มเอียงจะไปในทางเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนก่อนและประโยชน์ส่วนรวมค่อยมาทีหลัง ก็ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมกันพอดี
ตัวอย่างในการเลือกใช้วิสาหกิจเพื่อสังคมในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตัวอย่างหนึ่ง ก็คือ วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ชื่อว่า “ปลูกยั่งยืน” ที่มีวัตถุประสงค์สามด้านในเวลาเดียวกัน คือ สร้างกำไร ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และลดความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ โดยใช้การปลูกป่าเศรษฐกิจบนที่ดินของเอกชนเพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวไปพร้อมๆ กับการทำสวนสมุนไพรโดยการปลูกแซมระหว่างไม้ยืนต้น
โครงการนี้เสนอโดยคณะนักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 32 ที่ใช้รูปแบบองค์กรเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นกลไกในการขับเคลื่อน เพราะหากกิจการที่ปลูกป่าเศรษฐกิจนั้นมีเป้าหมายในการแสวงหาผลกำไรสูงสุดแล้ว จะทำให้เป็นไปได้ยากที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ทั้งสามไปพร้อม ๆ กัน เพราะคงปลูกป่าที่เป็นไม้มีค่าเพื่อตัดขายอย่างเดียว นายทุนก็จะสร้างกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ ในขณะที่ชาวบ้านหรือเกษตรกรจะได้รับเพียงค่าจ้างเท่านั้น แต่หากเป้าหมายคือการปลูกป่าเศรษฐกิจแบบผสมผสาน เพื่อสร้างงานและสร้างธุรกิจต่อยอดให้กับชุมชนไปในเวลาเดียวกัน ด้วยการปลูกสมุนไพรระหว่างต้นไม้ยืนต้นด้วย แล้วนำรายได้ไปจัดสรรให้เกษตรกรอย่างเป็นธรรม ในรูปของส่วนแบ่งกำไรให้เกษตรกรและการตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อยอด เช่น แชมพูหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพร โดยมีเครือข่ายบริษัทเอกชนเป็นพี่เลี้ยง ก็จะช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้กับชุมชนและสร้างผู้ประกอบการในระดับชุมชน เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอีกทางหนึ่งด้วย
หากเป็นองค์กรประเภทสร้างกำไรสูงสุดก็คงจะไม่สามารถนำกำไรไปแบ่งปันและตั้งกองทุนให้กับชุมชนได้ เพราะผู้ถือหุ้นคงไม่ยอมให้เกิดขึ้น ดังนั้น วิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ที่ทำกำไร เลี้ยงตัวเองได้ แล้วนำเงินกำไรที่ได้ไปลงทุนต่อเพื่อสร้างผลกระทบกับสังคมให้มากที่สุด จึงเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญ อาจกล่าวได้ว่า รูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม สามารถเป็น Game Changer ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันได้ และเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย
ที่มา: Social Enterprise: เครื่องยนต์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน – ThaiPublica