ผศ. ดร.ศรัณย์ ศานติศาสน์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Asst.Prof. Md. Nasir Uddin, Ph.D. Department of Economics, American International University-Bangladesh
สามจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทยซึ่งประกอบไปด้วยปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ประสบกับความไม่สงบมาอย่างยาวนาน งานวิจัยในอดีตได้ชี้ถึงสาเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะประเด็นทางด้านประวัติศาสตร์ กลุ่มแบ่งแยกดินแดน ยาเสพติด การค้าของเถื่อน การได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นของประเทศ สถานการณ์ดูจะแย่ลงภายหลังจากเหตุการณ์ที่ตากใบและมัสยิดกรือเซะ
ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2004 ถึง มีนาคม ปี 2022 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นทั้งหมด 21,485 ครั้ง บาดเจ็บ 13,641 ราย และเสียชีวิต 7,344 ราย เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนในพื้นที่ รวมทั้งเรื่องของการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาบุคลากรและสถาบันการศึกษาต่างตกเป็นเป้าการโจมตีอยู่หลายครั้ง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความไม่ปลอดภัยในชีวิตย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจส่งลูกหลานเรียน รวมทั้งจิตใจของนักเรียนและนักศึกษา ไม่มากก็น้อย
UNICEF ชี้ว่าเด็กประมาณ 61 ล้านคนทั่วโลกไม่สามารถรับการศึกษาแม้เพียงระดับประถมศึกษา ซึ่งกว่าครึ่งมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งและความไม่สงบ ในทางทฤษฎี ทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทาน ได้อธิบายไว้ว่าทำไมความขัดแย้งจึงส่งผลต่อการศึกษา การเข้าร่วมทำสงคราม ความกลัวในความรุนแรง การย้ายถิ่นของผู้ได้รับผลกระทบ รายได้ที่ขาดหายไปจากการไม่สามารถประกอบอาชีพ หรือสุขภาพที่แย่ลง ล้วนส่งผลต่ออุปสงค์ต่อการศึกษา นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานการศึกษาอาจได้รับความเสียหาย รวมทั้งบุคลากรที่ได้รับผลทางตรงจากการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หรือทางอ้อมจากความกลัวในความปลอดภัยจนไม่กล้าไปสอน ล้วนเป็นผลกระทบและอุปสรรคจากฝั่งอุปทาน
การศึกษาของ Uddin and Sarntisart (2020) เรื่อง The Schooling Gap between the Deep South and the Rest of the South in Thailand ได้ทำการเปรียบเทียบการศึกษาของพื้นที่ซึ่งประสบความไม่สงบอย่างสามจังหวัดชายแดนใต้กับจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ของประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ผลการศึกษาพบว่า เด็กในสามจังหวัดชายแดนใต้โดยเฉลี่ยได้รับการศึกษาน้อยกว่าเด็กในจังหวัดอื่นๆ ของภาคใต้ 0.88 ปี ประเด็นที่น่าสนใจคือ มุสลิมในจังหวัดอื่นๆ ของภาคใต้มีจำนวนปีการศึกษาสูงกว่าศาสนิกอื่น (โดยเฉลี่ย 0.68 ปี) แต่ผลเช่นนี้กลับไม่ได้เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้
นอกจากนี้ อัตราการถ่ายทอดการศึกษาระหว่างรุ่น (Intergenerational Transmission of Educational Attainment) ในสามจังหวัดชายแดนใต้ยังสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ หมายความว่าหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น ถึงแม้จะควบคุมตัวแปรอย่างการศึกษาของพ่อแม่ ขนาดและรายได้ครัวเรือน เพศ รวมทั้งศาสนา ก็ยังไม่อาจอธิบายช่องว่างทางการศึกษาอีกกว่าร้อยละ 40 ได้ นั่นหมายความว่า ความไม่สงบอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ นอกจากจำนวนปีการศึกษาแล้ว คุณภาพการศึกษาโดยดูจากผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติก็ชี้ไปในทางเดียวกันว่า เด็กในสามจังหวัดชายแดนใต้ยังตามหลังเด็กในภูมิภาคอื่นของประเทศ
นอกจากนี้ การลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลจากกว่า 480 ครัวเรือน พบประเด็นที่น่าสนใจ เช่น พ่อแม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาทั้งสายสามัญและสายศาสนา อุปสรรคต่อการศึกษาที่สำคัญคือ การขาดแคลนทุนทรัพย์ การมีบุตรหลานในการปกครองจำนวนมาก การขาดหัวหน้าครอบครัวซึ่งต้องออกไปทำงานต่างพื้นที่ และจำนวนสถานศึกษาในพื้นที่มีไม่เพียงพอ จังหวัดนราธิวาสได้รับผลกระทบจากความไม่สงบมากที่สุด ส่งผลให้เกิดความหวาดระแวงในการเดินทางสัญจรหรือการส่งบุตรหลานไปโรงเรียน ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์ไม่พบประเด็นความเหลื่อมล้ำทางเพศ โดยผู้ปกครองต่างส่งเสริมและสนับสนุนให้การศึกษาแก่บุตรและบุตรี ทั้งสายสามัญและสายศาสนา
ถึงแม้ประเทศไทยจะมีนโยบายการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี แต่ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นทุกท่านก็คงทราบ สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการทบทวนและปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะนโยบายทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสามจังหวัดชายแดนใต้ ภาษาอาจเป็นอุปสรรคหนึ่ง โดยเฉพาะในระยะแรกของการเรียนรู้ เนื่องจากคนในพื้นที่มีความเคยชินกับการใช้ภาษามลายู โรงเรียนของรัฐและโรงเรียนปอเนาะสามารถร่วมมือกันให้ความรู้ทั้งสายสามัญ สายอาชีพ และความรู้ทางด้านศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อแม่ให้ความสำคัญ การให้ทุนทางการศึกษา นอกจากจำนวนแล้ว อาจเน้นไปที่คุณภาพและสาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการของพื้นที่ ทั้งหมดที่กล่าวมาจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่นหากภาครัฐยังขาดความจริงจังและจริงใจในการแก้ปัญหาความไม่สงบ ซึ่งหากสถานการณ์ดีขึ้นย่อมส่งผลดีต่อการศึกษาและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ เพื่อการพัฒนาสามจังหวัดชายแดนใต้อย่างยั่งยืน
อ้างอิง
Uddin, M.N., & Sarntisart, S. (2022). The Schooling Gap between the Deep South and the Rest of the South in Thailand. Defence and Peace Economics. DOI: 10.1080/10242694.2022.2027183
ที่มา: https://thaipublica.org/2022/12/nida-sustainable-move10/