เมื่อสิ้นยุคโลกาภิวัฒน์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข

การระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้การติดต่อเชื่อมกันของประชากรโลกลดลงอย่างมากเพราะการระบาดของโลกทำให้มีข้อจำกัด มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากต่อการเคลื่อนย้ายของคน (การเดินทางของผู้โดยสาร) และการเคลื่อนย้ายของสินค้า บริการ และปัจจัยการผลิตระหว่างประเทศ

นอกจากนั้น ยังก่อให้เกิดแนวความคิดที่แตกแยกกัน แบ่งฝักแบ่งฝ่ายตามภูมิสังคม และภูมิรัฐศาสตร์ ด้วยฐานความคิดพื้นฐานว่าประเทศหนึ่งนั้นจำเป็นต้องมีระดับการพึ่งพาตนเองมากขึ้น หรือพึ่งพาตนเองมากกว่าแทนที่จะเป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การร่วมมือกันเพื่อสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นร่วมกันทั้งสองฝ่ายหรือหลายฝ่าย (Mutual Benefits) ในลักษณะที่เป็น Positive Sum Game ถูกบั่นทอนและโต้แย้งด้วยความคิดว่าใครจะเป็นผู้ได้ประโยชน์มากกว่าหรือได้ประโยชน์น้อยกว่า โดยไม่ได้นึกย้อนกลับไปว่า ถ้าไม่มีความร่วมมือกันตั้งแต่ต้นแล้ว ทั้ง 2 ฝ่าย หรือหลายฝ่ายก็ล้วนแต่จะไม่ได้ประโยชน์ หรืออาจจะมีผลเสียเกิดขึ้นเสียด้วยซ้ำไป

การเติบโตของแนวความคิดในลักษณะนี้ ทำให้หลายคนเริ่มมีความเชื่อว่ากระบวนการของการสร้างความเชื่อมโยงหรือความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่กลายเป็นกระแสขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง (และในหลายแง่มุม สร้างให้เกิดการพัฒนา) ที่รู้จักกันดีในนามของโลกาภิวัตน์ (Globalization) น่าจะเดินมาถึงจุดอวสาน โดยจะเกิดกระบวนการขับเคลื่อนในทางตรงกันข้าม (Deglobalization) เมื่อโลกาภิวัตน์ถูกมองว่าเป็นการสร้างการแข่งขันเพื่ออำนวยประโยชน์ให้ประเทศร่ำรวยที่มีความได้เปรียบในทุกด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเทคโนโลยี และธุรกิจขนาดใหญ่ที่สร้างและมีอำนาจผูกขาดให้พร้อมที่จะกอบโกยผลประโยชน์จากผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า คงเหลือไว้แต่ความเหลื่อมล้ำและปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นผลลัพธ์และภาระต่อสังคมโลกสำหรับประชากรโลกในรุ่นต่อๆ ไป

คล้ายกับกำลังบอกว่าโลกาภิวัตน์ไม่น่าจะใช่แนวทางที่จะนำทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ หรือไม่ก็ถึงขั้นกล่าวหาว่ากระบวนการของโลกาภิวัตน์เป็นเครื่องมือของประเทศที่มีความก้าวหน้าใช้ในการเอารัดเอาเปรียบคนหรือประเทศที่ด้อยกว่า

แนวคิดในลักษณะนี้ถูกแปลงไปเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจที่มีความเป็นการรวมศูนย์ (Centralize) มากขึ้นโดยให้ลำดับความสำคัญต่อผลประโยชน์ของตนเองหรือกลุ่มของตนเอง (priorities on self-benefits) มากกว่าการมองที่ผลประโยชน์ร่วมกันที่จะเกิดขึ้นจากการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้และการจัดสรรทรัพยากรตามความชำนาญหรือความเชี่ยวชาญ (Specialization) ของปัจจัยการผลิต นโยบายการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการโยกย้ายเงินทุนที่เป็นการลงทุนทางตรงในต่างประเทศกลับไปลงทุนในประเทศผู้ลงทุน โดยมีเหตุผลสนับสนุนเพื่อการสร้างความมั่นคงในด้านต่างๆ เช่น ความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข ความมั่นคงทางด้านอาหาร ความมั่นคงทางด้านเทคโนโลยี ฯลฯ ตามแต่ประเภทของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ต้องการดึงดูดให้กลับไปลงทุน เป็นตัวอย่างหนึ่งของมาตรการที่เดินสวนทางกับกระแสโลกาภิวัตน์ ที่เป็นการลดหรือจำกัดการเคลื่อนย้ายของปัจจัยการผลิตเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มผลิตภาพของปัจจัยการผลิต

รวมทั้งยังมีผลทำให้เกิดการลดหรือเป็นข้อจำกัดต่อการสร้างปริมาณการค้า (Trade Creation) เกิดการบิดเบือนทางเศรษฐกิจ (Economic Distortions) และสวัสดิการสังคมโดยรวมลดลง ซึ่งก็ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้ได้อย่างยั่งยืนโดยเฉพาะต่อประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นระบบเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็ก

นอกจากนี้ ยังพบว่ากระแสสวนกลับของกระบวนการโลกาภิวัตน์ปรากฎในรูปของการเพิ่มขึ้นของการใช้มาตรการทางการค้าซึ่งมีผลให้มีการกีดกันทางการค้า (Trade Barriers) ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟู (หรือจะมองในแง่ของการปรับตัวของประเทศเมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่เป็นความเสี่ยง) แต่ยังไม่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในระยะต่อๆ ไปอีกด้วย

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก่อนการระบาดของโควิดโดยต่างฝ่ายต่างสร้างกำแพงกีดกันทางการค้าเพื่อการตอบโต้ระหว่างกันไม่เพียงไม่เป็นผลดีต่อประเทศทั้งสอง แต่ส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ (โดยเฉพาะประเทศขนาดเล็ก) ที่จะต้องปรับตัวกับต้นทุนของโอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น และแนวโน้มของการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อการกีดกันก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นไปในหลากหลายสาขาการผลิตและในหลายภูมิภาคทั่วโลก การกำหนดสถานะทางเศรษฐกิจ (International Economic Position) (การค้า การลงทุน และความเชื่อมโยงของโครงสร้างปัจจัยการผลิตที่จะเกื้อหนุนให้เกิดการพัฒนา) เป็นไปอย่างยากลำบาก เมื่อภาครัฐผู้กำหนดนโยบายรวมทั้งภาคเอกชนต้องตัดสินใจเลือกข้างใดข้างหนึ่งทั้ง ๆ ที่ทราบว่าการเลือกข้างใดข้างหนึ่งไม่ว่าจะเป็นข้างใดมีประโยชน์น้อยกว่าการสร้างความร่วมมือระหว่างกันในทุกฝ่าย

การบริหารจัดการโครงข่ายมูลค่าหรือห่วงโซ่อุปทานของโลก (Global Value Chain: GVC) ที่ถูกกระทบทั้งจากการระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงกันข้ามกับกระแสโลกาภิวัตน์เป็นปัจจัยหนึ่งร่วมกับการเกิดสงครามในยูเครน (รวมทั้งความขัดแย้งกันในหลายภูมิภาค) ที่ทำให้เกิดการถีบตัวขึ้นของเงินเฟ้ออย่างรวดเร็ว (ก้าวกระโดด) จนเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศทั่วโลกเมื่อต้องมีการใช้มาตรการทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาจนเป็นความเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะงัก ชะลอตัว (เติบโตน้อยกว่าศักยภาพ) หรือต้องเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปเลย

หลายประเทศ (ส่วนใหญ่เป็นประเทศยากจนและมีหนี้มาก) ถึงกลับกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจซ้อนต่อขึ้นมาจากภาวะผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิดที่ได้รับมาก่อนหน้าแล้ว ประชาชนในประเทศเหล่านั้นสูญเสียโอกาสในการพัฒนาและคงจะต้องได้รับความยากลำบากไปอีกไม่น้อยกว่า 20 ปี (ต้นทุนของการสูญเสียโอกาสในการพัฒนา)

ปัญหาที่แท้จริงของการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาโดยอาศัยกลไกของกระแสโลกาภิวัตน์เกิดขึ้นเพราะเงื่อนไขสู่ความสำเร็จนั้นจำเป็นต้องสร้างและรับประกันให้เกิดการแข่งขันที่เพียงพอ และการแข่งขันนั้นจำเป็นต้องเป็นการแข่งขันที่เป็นธรรม ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่าเป็นเงื่อนไขที่เกิดขึ้นไม่ได้หรือเกิดขึ้นยากมาก และเมื่อการแข่งขันที่เป็นธรรมเกิดขึ้นไม่ยาก ก็ทำให้เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความได้เปรียบเหนือกว่า หรือผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า (อำนาจ และเงินทุน) แทนที่จะใช้ความได้เปรียบนั้นในการสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม กลับใช้โอกาสนั้นในการสร้างความได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรมขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง

การสร้างโอกาสที่เป็นธรรม เปิดโอกาสให้มีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน กลไกการทำงานของโลกาภิวัตน์จึงเป็นการสร้างโอกาสหรือเปิดโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งการพัฒนาเพื่อให้มีขีดความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น เป็นพื้นฐานในการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนให้ดีขึ้น การพัฒนาของประเทศจีนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างที่ดีที่กระบวนการในการสร้างความร่วมมือและการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรจีนที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับความยากจนมาเป็นเวลานาน ในช่วงเวลาของการพัฒนาดังกล่าว จีนสามารถลดจำนวนคนยากจนในประเทศลงไปได้จำนวนมาก

ปีศาจในร่างของโลกาภิวัตน์ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องของการกระจายผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพการใช้และการจัดสรรทรัพยากรการผลิตมากกว่าในประเด็นเรื่องการที่กระแสโลกาภิวัตน์จะสามารถขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำจึงถูกผูกโยงเข้ากับโลกาภิวัตน์ว่าเป็นสาเหตุของปัญหา โลกาภิวัตน์ถูกมองว่าเป็นกระบวนการหรือเป็นเครื่องมือของคนรวยในการสร้างความได้เปรียบเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าข้อกล่าวหานั้นอาจจะดูไม่เป็นธรรมกับโลกาภิวัตน์ในอย่างน้อย 2 มิติ คือ

มิติที่ 1 การกระจายของผลประโยชน์ภายใต้การทำงานของโลกาภิวัตน์ (ซึ่งต้องย้ำว่าอาศัยการแข่งขันที่เป็นธรรม) จะเป็นไปตามขีดความสามารถในการแข่งขัน ทรัพยากรการผลิตที่มีผลิตภาพสูงกว่า ย่อมสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่า และเมื่อมีการแข่งขันผู้ที่มีศักยภาพด้อยกว่าก็ย่อมสามารถพัฒนาจนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้เช่นกัน การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจึงเกิดขึ้นได้หลายระดับ สอดคล้องและเหมาะสมกับขีดความสามารถของทรัพยากรการผลิต แน่นอนในโลกแห่งความเป็นจริงที่มีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก การทำงานโดยกลไกเหล่านี้ก็อาจจะมีเงื่อนไขที่ยังไม่สมบูรณ์ และอาจแสดงผลลัพธ์ที่เป็นความแตกต่างของผลประโยชน์ที่แต่ละคนแต่ละฝ่ายได้รับ ความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งจึงสามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้โลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นปกติเพราะแต่ละคนมีขีดความสามารถที่แตกต่างกันและความสามารถที่แตกต่างกันนั้นก็สร้างให้เกิดมูลค่าได้แตกต่างกัน และเราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า คนที่มีความสามารถ มีทักษะใหม่ ก็สามารถสร้างความมั่งคั่งขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว เพราะการเปิดกว้างมากขึ้นของโอกาสทางเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัตน์

มิติที่ 2 คงจะต้องกล่าวถึงโลกาภิวัตน์ในฐานะที่เป็นเครื่องมือเพื่อการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนา โลกาภิวัตน์อาศัยเงื่อนไขที่จำเป็นต้องมีการแข่งขัน และเป็นการแข่งขันที่เป็นธรรม กลไกการสร้างการแข่งขันให้เกิดขึ้นในแต่ละระดับทั้งในระดับท้องถิ่น (ชุมชน เมือง) ระดับประเทศ และระดับสากล (ระหว่างประเทศ) เป็นส่วนจำเป็นที่ขาดไม่ได้ เพราะถ้าปราศจากเงื่อนไขเหล่านี้แล้ว ก็จะทำให้เกิดการบิดเบือน การกอบโกยแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมส่วนรวม โลกาภิวัตน์โดยตัวเองมีกำลังไม่พอที่จะสร้างเงื่อนไขการแข่งขันขึ้นมาได้ แต่จำเป็นต้องพึ่งพาเงื่อนไขนี้ในขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน และในหลายกรณี กระบวนการโลกาภิวัตน์ก็เปิดโอกาสให้มีการแสวงหาประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมจนทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าโลกาภิวัตน์เป็นต้นเหตุของปัญหาเสียเอง

ดังนั้น แทนที่จะมองโลกาภิวัตน์ว่าเป็นเครื่องมือที่เลวร้ายก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้หันมาทบทวนเครื่องมือเพื่อการพัฒนาของเราว่ายังมีปัญหา อุปสรรคในส่วนใดบ้างที่จะต้องแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้สามารถตอบสนองและทำหน้าที่ให้ได้เต็มที่ มีความสมบูรณ์เข้าใกล้เงื่อนไขที่ดูราวกับว่าเป็นเงื่อนไขที่เป็นอุดมคติ (เกิดขึ้นได้ยาก) มากขึ้น กระบวนการที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนยังคงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกัน ทำงานร่วมกันให้มีการประสานกันให้มากที่สุด ชุมชนหรือสังคมโดยรวมจึงจะเกิดความเข้มแข็ง สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นได้ โลกาภิวัตน์ในฉบับปรับปรุง (Upgraded Globalization) น่าจะเป็นสิ่งที่เราต้องการมากกว่าการฆ่าโลกาภิวัตน์ให้ตายลงพร้อมกับหันไปหาแนวทางอื่นที่ยังไม่รู้แน่ชัด หรือเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งเพียงพอที่จะบอกได้ว่าจะนำพาสังคมไทยไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้จริง

ที่มา: https://thaipublica.org/2022/11/nida-sustainable-move07/