รศ. ดร.ณดา จันทร์สม คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ Email: nada@nida.ac.th
เมื่อกล่าวถึงคำว่า “ทุน” หลายคนอาจจะนึกถึงเงินทุนเป็นสิ่งแรก แต่ที่จริงแล้ว ทุนทางเศรษฐกิจจะมีความหมายที่กว้างกว่าเงินทุนมาก ด้วยว่าทุนคือปัจจัยที่จะนำไปใช้ในกิจกรรมและทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ทุนทางกายภาพ (physical capital) หมายถึง ทรัพย์สินต่างๆ ที่สามารถใช้ในการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดมูลค่าได้ ประกอบไปด้วย 3 กลุ่มย่อย ได้แก่
สำหรับ ทุนหรือสินทรัพย์ทางการเงิน (financial capital/assets) จะเป็นเครื่องมือที่แสดงสิทธิเรียกร้องและภาระผูกพันระหว่างกลุ่มในระบบเศรษฐกิจ ทําหน้าที่เชื่อมโยงการออมและการลงทุน ระหว่างประชาชน ภาคธุรกิจ และรัฐบาลที่มีเงินออม เลือกที่จะเก็บเงินออมไว้ได้ในรูปแบบต่างๆ ในขณะที่ประชาชน ภาคธุรกิจ หรือรัฐบาลที่มีความต้องการใช้เงินเพื่อการใช้จ่ายและการลงทุน จะระดมเงินทุนจากระบบการเงิน โดยผ่านเครื่องมือทางการเงิน เช่น การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่รับฝากเงิน โดยสถาบันการเงินจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินระหว่างผู้ออมและผู้ต้องการใช้เงิน ซึ่งถือเป็นระดมทุนทางอ้อม หรือจะเป็นการระดมทุนทางตรง โดยการออกพันธบัตร หุ้นกู้ หรือหุ้นสามัญเพื่อจําหน่ายให้กับประชาชนหรือภาคธุรกิจเอกชนที่มีเงินออมโดยตรงได้
นอกจากนั้นแล้ว ทุนที่เป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนหรือไม่สามารถจับต้องได้ทางกายภาพ ซึ่งอาจมีรูปแบบของการอ้างสิทธิประโยชน์ได้ในอนาคต (intangible capital) หรือไม่ก็ได้ โดยแหล่งที่มาของสินทรัพย์กลุ่มนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการค้นพบใหม่หรือนวัตกรรม รูปแบบปฏิบัติขององค์กร (organizational practices) และทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งสินทรัพย์ในกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะมีความสําคัญเพิ่มขึ้นตามลําดับ โดยจะมีบทบาทในการทดแทนปัจจัยการผลิตในรูปที่ดิน พลังงาน หรือวัตถุดิบ มากขึ้น ทั้งนี้สินทรัพย์ในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย (1) กลุ่มที่มีการจดทะเบียนหรือสามารถวัดมูลค่าเป็นตัวเงิน เช่น สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า ตราสินค้า สิทธิทางการค้า (2) ความรู้/ภูมิปัญญา (3) วัฒนธรรม (4) ทักษะของแรงงานและศักยภาพของมนุษย์ และ (5) การบริหารจัดการที่ดี
ทักษะของแรงงานและศักยภาพของมษุษย์ นับเป็นทั้งทุนทางเศรษฐกิจและ ทุนทางสังคม ที่สําคัญในระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากคนจะมีบทบาทเป็นทั้งเจ้าของวัตถุดิบ แรงงาน ผู้ผลิต และผู้บริโภค กล่าวคือ คนเป็นทั้งผู้สร้างการพัฒนาและเป็นผู้รับผลจากการพัฒนา โดยที่แรงงานหรือทรัพยากรมนุษย์มีบทบาทสําคัญในการสร้างทุนทางเศรษฐกิจและได้รับผลจากการสร้างทุนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การพัฒนาทุนทางสังคมโดยเฉพาะการเพิ่มคุณภาพของคนหรือแรงงานให้มีศักยภาพ มีคุณธรรมและจริยธรรม เป็นเงื่อนไขที่สําคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพทุนเศรษฐกิจ และมีผลต่อเนื่องในการสร้างทุนทางสังคม
แนวคิดและความสำคัญของการพัฒนาทุนทางสังคมเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งธนาคารโลก (World Bank) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ต่างก็ตระหนักในคุณค่าของทุนทางสังคมว่ามีความสำคัญมากต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย OECD ได้ชี้ให้เห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดจากทุน 4 ประเภทนั้น และเมื่อได้ประเมินประสิทธิภาพของปัจจัยการผลิตทั้ง 4 ทุนดังกล่าวแล้ว พบว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเป็นผลจากปัจจัยด้านทุนมนุษย์และทุนทางสังคมถึง 4 ส่วน ขณะที่เกิดจากทุนทางกายภาพและทุนทางทรัพยากรธรรมชาติอาจมีเพียง 2 ส่วนเท่านั้น จะเห็นตัวอย่างจากหลายประเทศที่มีทุนทางกายภาพและทุนทางทรัพยากรธรรมชาติจำกัด แต่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างดียิ่ง เพราะมีทุนมนุษย์และทุนทางสังคมที่โดดเด่น
นอกเหนือจากการพัฒนาคุณภาพของแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ ทุนทางสังคมในลักษณะของการสร้างรูปแบบของการจัดองค์การที่ประกอบไปด้วยความไว้วางใจ (trust) การมีบรรทัดฐาน (norm) และเครือข่าย (network) ที่จะช่วยให้สังคมทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทุนทางสังคมจะเพิ่มโอกาสในการบรรลุเป้าหมายของสังคม ซึ่งอาศัยความไว้วางใจระหว่างกัน ทั้งระดับบุคคลต่อบุคคล และระดับในองค์รวมของสังคม ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงก่อตัวเป็นสถาบัน (institution) และมีจุดมุ่งหมายของสถาบัน คือ การจัดการกับปัญหาที่ไม่สามารถทำคนเดียวได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างสมาชิกทั้งหลายในสังคม (collective action) และมีทุนทางสังคมเป็นตัวขับเคลื่อนความสัมพันธ์ดังกล่าว
ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงทุนทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ การสร้างทุนทางสังคมในลักษณะการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของกลุ่ม จึงเป็นประเด็นที่สำคัญมากในการพัฒนาในทุกระดับ และเกิดการตั้งคำถามต่อการศึกษาถึงแนวทางในการใช้ทุนทางสังคมในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน โดยหากสนับสนุนให้เกิดการจัดการชุมชนจากความต้องการของชุมชน เกิดการร่วมแรงร่วมใจ มีเป้าหมายร่วมกันของคนในชุมชน จะสามารถทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ มีหลายกรณีตัวอย่างสะท้อนถึงผลของทุนทางสังคมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน ตัวอย่างเช่น การสร้างกลุ่มชุมชนที่เข้มแข็งที่มาจากความร่วมมือร่วมใจระหว่างกันในการพัฒนาชุมชน พัฒนาอาชีพ หรือกลุ่มออมทรัพย์ต่างๆ โดยอาศัยทุนทางสังคมที่ชาวบ้านของชุมชนต่างเรียนรู้ เข้าใจ และรู้จักกัน มีความไว้เนื้อเชื่อใจ เกิดการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย และมีความเป็นสถาบันที่จะขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งมักจะเป็นการมุ่งเน้นประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชน
ผู้เขียนได้ทำการศึกษาชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่มีความสำเร็จของการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อถอดบทเรียนการใช้ทุนทางสังคมในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยศึกษาถึงองค์ประกอบและรูปแบบของทุนทางสังคมที่สำคัญต่อการพัฒนาชุมชน กรณีศึกษา ได้แก่ ชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง จ.น่าน ที่มีวิสาหกิจชุมชนชีววิถีพัฒนาเครื่องสำอางจากสมุนไพรปลอดสารพิษจำหน่ายสร้างอาชีพและรายได้ให้ชุมชน ชุมชนบ้านน้ำทรัพย์ อ.แก่งกระจาน จ. เพชรบุรี ที่เป็นต้นแบบความสามัคคีของชาวบ้านที่ร่วมใจกันแก้ปัญหาเป็นชุมชนตามหลักความพอเพียง ที่มีจุดเน้นการพัฒนาที่หลากหลายตามความสนใจและศักยภาพของสมาชิกในการชุมชน และมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมเพื่อพึ่งพาและเชื่อมโยงกันภายในชุมชนเพื่อการบรรลุเป้าหมายของชุมชน ชุมชนบ้านน้ำเตย อ.พิมาย จ. นครราชสีมา ที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชน สร้างความเข้มแข็งที่ตัวบุคคล ส่งผลต่อการแก้ปัญหาสภาวะดินเค็มที่รุนแรงของชุมชน จนสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์ของชุมชนที่เป็นที่ยอมรับ
การศึกษาได้ถอดบทเรียนทุนทางสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน และแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่สำคัญ ควรมีองค์ประกอบของทุนทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่
1) การมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนชุมชนอย่างจริงจัง ซึ่งอาจเป็นผู้นำที่มาจากความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในชุมชน หรือผู้นำชุมชนโดยตำแหน่ง หรือผู้นำชุมชนที่เกิดจากการยอมรับของคนในชุมชนได้ การสร้างความไว้วางใจระหว่างผู้นำชุมชนและสมาชิกของชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของการพัฒนา
2) ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในชุมชน ที่เกิดจากความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ โดยส่งเสริมให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน เช่น การมีกิจกรรมทางศาสนาของชุมชนร่วมกัน และดึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนให้เกิดขึ้น
3) การกำหนดเป้าหมายร่วมกันของคนในชุมชน การสร้างการยอมรับต่อเป้าหมายการพัฒนาต้องมาจากการที่คนในชุมชนตระหนักถึงปัญหา และมีความต้องการพัฒนาชุมชนร่วมกัน และร่วมกันกำหนดเป้าหมายและเกิดความเข้าใจร่วมกัน
4) รูปแบบของผลประโยชน์ต่างตอบแทนที่สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมจะได้รับต้องมีความชัดเจน ความร่วมมือจึงควรอยู่ในรูปแบบที่เป็นทางการ และการจัดวางผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน โดยมีส่วนช่วยเหลือและสนับสนุนซึ่งกันและกัน
5) การดึงความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก โดยเฉพาะจากภาครัฐ เข้ามามีส่วนช่วยในการพัฒนาเป็นสิ่งสำคัญ และควรเป็นลักษณะที่ต่อเนื่อง ซึ่งอาจมาจากการมีส่วนร่วมจากหลายหน่วยงานตามความต้องการของชุมชน ซึ่งควรกำหนดรูปแบบของความช่วยเหลืออย่างชัดเจน และควรเป็นรูปแบบที่สร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชนมากกว่าที่จะเป็นลักษณะของการช่วยเหลือแบบคราวเดียว
6) การกำหนดค่านิยมพื้นฐานร่วมกันในชุมชน การกำหนดพฤติกรรมที่ยอมรับได้และยอมรับไม่ได้อย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในชุมชน และกำหนดกติกาของชุมชนให้ชัดเจนในการจัดการกับพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้
7) การสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในชุมชน จะมาจากการกำหนดกติกาที่ชัดเจน และเปิดเผยให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน ซึ่งสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของคนในชุมชนต่อผู้นำชุมชน และระหว่างสมาชิกด้วยกัน
8) การสร้างความร่วมมือและประสานความร่วมมือระหว่างผู้นำชุมชนและสมาชิกของชุมชน ระหว่างสมาชิกด้วยกันเอง และระหว่างชุมชนและชุมชนอื่นหรือหน่วยงานภายนอกชุมชน เป็นส่วนที่จะทำให้เกิดความเข้มแข็งของการพัฒนาชุมชน เพราะเป็นการประสานทรัพยากรเพื่อการพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิตามที่คาดหวังได้ภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากร
9) การสร้างอัตลักษณ์ร่วมกันของสมาชิกในชุมชน เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชุมชน และสร้างความเป็นเจ้าของชุมชนร่วมกันให้เกิดขึ้นได้
10) การมีช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงสมาชิกของชุมชนได้อย่างครอบคลุมและทันเวลา และสามารถสื่อสารให้สมาชิกได้รับสารที่สำคัญของชุมชน สามารถดึงการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อกิจกรรมของชุมชน ปัจจัยนี้จะเป็นสิ่งสำคัญในการเสริมสร้างทุนทางสังคมต่อการพัฒนาชุมชนได้
นอกจากการสนับสนุนทุนทางสังคมเพื่อการพัฒนาตามองค์ประกอบข้างต้นแล้ว รูปแบบของสร้างทุนทางสังคมเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการใช้ทุนทางสังคมในการพัฒนาชุมชน การพัฒนาทุนทางสังคมให้มีมิติที่หลากหลายไม่เพียงความสัมพันธ์ภายในชุมชนที่อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสร้างความร่วมมือระหว่างกัน จากทุนทางสังคมในลักษณะสานความสัมพันธ์ (bonding) แต่การเชื่อมความสัมพันธ์ข้ามกลุ่มให้มีความหลากหลาย ในลักษณะของการสร้างความเชื่อมโยง (bridging) จะช่วยให้เกิดการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของความร่วมมือได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการขยายมิติของทุนทางสังคมไปสู่ภายนอกที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ในลักษณะของการเชื่อมต่อ (linking) จะช่วยขยายการพัฒนาชุมชนให้เติบโตเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งบทบาทของหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาชุมชนให้เกิดความความเข้มแข็ง อาจเข้าไปมีบทบาทในการกระตุ้นสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวของสมาชิก (bonding & bridging) เพื่อให้เกิดองค์ประกอบของทุนทางสังคมที่สำคัญและขับเคลื่อนความสัมพันธ์ต่อเนื่องไปเพื่อการบรรลุเป้าหมายของชุมชนได้ หรือเข้าไปส่งเสริมเชื่อมต่อ (linking) ความเข้มแข็งของชุมชนที่มีความพร้อมตามองค์ประกอบที่กล่าวมาแล้วให้สามารถต่อยอดขยายผลเพื่อการพัฒนาเกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนได้ในที่สุด
ที่มา: https://thaipublica.org/2022/11/nida-sustainable-move09/