นิด้า-สจล. พร้อมเตรียมเปิด “วิศวกรรมการเงิน” หลักสูตรนานาชาติ รุกผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่
นิด้า-สจล. พร้อมเตรียมเปิด “วิศวกรรมการเงิน” หลักสูตรนานาชาติ รุกผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ที่มีความเชี่ยวชาญฟินเทค หรือเทคโนโลยีทางการเงิน โดยจะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรก ในช่วงต้นปี 2562
รองศาสตราจารย์ ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)กล่าวว่า โครงการหลักสูตรร่วม KMITL-NIDA Double Degree Program in Financial Engineering เป็นโครงการที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้จับมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดให้มีเรียนการสอนในหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่องปริญญาโท และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่สองสถาบันได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรใหม่ขึ้นมา โดยที่นักศึกษาสามารถเรียนตรีควบโท และจบได้ภายใน 5 ปี ซึ่งหลักสูตรนี้จะใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนทั้งหมด
ในความร่วมมือแรกนี้ จะเป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างวิศวกรการเงินที่มีความรู้และความเข้าใจในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และการเงิน มีทักษะทางคณิตศาสตร์และสถิติเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงปริมาณ มีทักษะการออกแบบและเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีความเข้าใจในเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถนำมาใช้ในงานทางการเงิน และสามารถนำความรู้และทักษะดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการการเงินขององค์กร แก้ปัญหาทางการเงิน ออกแบบกลยุทธ์การลงทุน และพัฒนาเครื่องมือ ผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมทางการเงินเพื่อตอบโจทย์และความต้องการของอุตสาหกรรม พร้อมทั้งมีทักษะการทำงานแบบมืออาชีพ มีความพร้อมในการทำงานในระดับนานาชาติ และมีคุณธรรม จริยธรรม ยึดมั่นจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ
หลักสูตรนี้ นักศึกษาจะได้เรียนกับคณาจารย์จากคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ NIDA ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน และคณาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ KMITL ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ปีแรกจนจบการศึกษา สามารถใช้สถานที่เรียนทั้งที่ KMITL และ NIDA และมีรถรับส่งเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่าง KMITL และ NIDA นักศึกษาสามารถใช้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักศึกษา เช่น ห้องสมุด สนามกีฬา อินเทอร์เน็ต เป็นต้น
ทั้ง KMITL และ NIDA เอง ปัจจุบันได้มีความร่วมมือในระดับสากลและเครือข่ายทางวิชาการอันสอดคล้องกับทิศทางในการพัฒนาสถาบันที่มุ่งเน้นในเชิง “คุณค่า” กับมหาวิทยาลัยทั้งในและนอกประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่เข้าเรียนหลักสูตรนี้ ได้ฝึกงานและไปศึกษาแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ เพื่อเปิดมุมมองกว้างไกล และสามารถนำมาปรับใช้ในการพัฒนาศักยภาพตนเอง โดยเราคาดว่าจะสามารถผลิตมหาบัณฑิต ที่มีศักยภาพที่พร้อมจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเราได้มองไกลไปถึงการสร้างผู้นำที่สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยและสังคมโลก
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ (นิด้า) กล่าวเสริมว่า หลักสูตรวิศวกรรมการเงิน ที่พัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมระหว่างสองสถาบันนี้ เป็นหลักสูตรที่ผนวก 3 ศาสตร์การเรียนรู้ไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ได้แก่ ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์และการเงิน (Economic and Finance Theory) วิชาทางวิศวกรรมศาสตร์ (Methods of Engineering) และ เครื่องมือทางคณิตศาสตร์ (Tools of mathematics) รวมถึง การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Computer Programming) เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความเป็นมืออาชีพ ตรงความต้องการของตลาดในภาคธุรกิจการเงินที่มีซับซ้อนมากขึ้น สามารถคิดนวัตกรรมทางการเงินที่ใช้ความรู้การวิเคราะห์เชิงปริมาณร่วมกับวิทยาการคอมพิวเตอร์เข้ากับความรู้ในเชิงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และการเงิน เพื่อพัฒนาแบบจำลองต่าง ๆ ที่จะสามารถพยากรณ์การเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ เพื่อรองรับความต้องการระดมทุน การลงทุน และการบริหารความเสี่ยงของทุกภาคส่วนที่จะมีความซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ยังเรียนรู้ถึงการประยุกต์ใช้ในการจัดการระบบการซื้อขายอัตโนมัติด้วยคอมพิวเตอร์ (Algorithmic Trading) และการบริหารจัดการกองทุนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) ในโลกเทคโนโลยีทางการเงิน
กระบวนการพัฒนาหลักสูตรได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และกลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะเป็นผู้ใช้บัณฑิตในตลาดแรงงานหลายภาคส่วนทั้งในภาครัฐจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ และภาคเอกชนโดยเฉพาะในธุรกิจบริการทางการเงิน และสถาบันการเงิน เพื่อให้สามารถกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตรได้ตรงความคาดหวังของผู้ใช้บัณฑิตในตลาดแรงงาน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้ และพัฒนาทักษะที่จำเป็นตรงกับความคาดหวังของตลาดแรงงาน และเป็นที่ยอมรับในตลาดแรงงาน นอกจากนั้น การจัดการเรียนการสอนมีแนวทางที่จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการเรียนการสอน ดังนั้น จะทำให้ผู้เรียนมีทักษะในการสื่อสารที่เป็นสากลด้วย
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ตลอดมา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศ มีเป้าหมายในการยกระดับการศึกษา และบุคลากรประเทศ ให้มีความรู้ความสามารถทัดเทียมกลุ่มมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จึงได้เร่งพัฒนา และขยายหลักสูตรการศึกษา ที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สจล. ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ได้เริ่มต้นโครงการความร่วมมือด้านวิชาการ ในการส่งเสริมการศึกษาสำหรับผู้เรียน การสนับสนุนด้านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนการวิจัยร่วมกัน พร้อมเตรียมขยายหลักสูตร “วิศวกรรมการเงิน” ซึ่งนับเป็นหลักสูตรแรกระหว่าง สจล. และนิด้า ที่ผสานองค์ความรู้ด้านวิศวกรรม และองค์ความรู้ด้านการเงินการธนาคาร โดยนำจุดเด่น และศักยภาพของแต่ละสถาบัน มาบูรณาการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับเยาวชนนักศึกษา ที่จะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ ที่จะพลิกโฉมการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปอีกขั้น เพื่อตอบสนองกับอุตสาหกรรมประเทศที่กำลังเติบโตขึ้น
ปัจจุบัน เทคโนโลยีด้านการเงิน หรือ ฟินเทค (FinTech : Financial Technology) กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงแค่ในต่างประเทศ แต่ยังรวมถึงในประเทศไทยด้วย เทคโนโลยีฟินเทคนี้ เข้ามามีบทบาทต่อธุรกรรมทางการเงิน การธนาคาร ตลอดจนการเทรดดิ้ง ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี บ่อยครั้งเรามักได้ยินปัญหาเกี่ยวกับการเงินการธนาคารดิจิตัล อาทิ ระบบธุรกรรมการเงินออนไลน์ล่ม ปัญหาไซเบอร์ไครม์ (Cyber Crime) ปัญหาความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ ตลอดจนการโจรกรรม และฉ้อโกงทางการเงินออนไลน์ ฯลฯ สาเหตุเกิดจากการเติบโตของฟินเทค ยังคงสวนทางกับจำนวนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ที่มีจำนวนไม่เพียงพอ และเกิดเป็นช่องว่างแก่ปัญหาเหล่านี้ สจล. และนิด้า จึงเชื่อมั่นว่าหลักสูตร “วิศวกรรมการเงิน” จะเป็นหลักสูตรแห่งอนาคตสำคัญ ที่เร่งปั้นบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ตอบสนองกับตลาดแรงงานของอุตสาหกรรมการเงินและธนาคาร และคาดว่าการที่ประเทศมีบุคลากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญฟินเทคเพิ่มมากขึ้น จะช่วยบรรเทาปัญหาในวงการการเงิน และธนาคาร ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และฉับไว ตลอดจนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมทางการเงินของประเทศไทย ให้ตอบสนองเท่าทันสถานการณ์โลกได้ด้วยตัวเอง ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวสรุป
ด้าน รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า หลักสูตรวิศวกรรมการเงิน ที่ได้รับการพัฒนาขึ้น โดย สจล. และ นิด้า (KMITL-NIDA Double Degree Program in Financial Engineering) ภายใต้กรอบความคิดพัฒนาศักยภาพผู้เรียน ให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ในรายวิชาพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ ด้านการเงิน และด้านคอมพิวเตอร์ เพื่อให้มีความเข้าใจในเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ ฟินเทค ตลอดจนสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ตลาด และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเงิน และออกไปเป็นบุคลากรที่มีความรู้ด้านการเงิน และสามารถประยุกต์ใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีได้อย่างเบ็ดเสร็จ ที่ตอบสนองตลาดแรงงานที่กำลังเป็นที่ต้องการ
รศ.ดร.คมสัน กล่าวเพิ่มว่า โครงสร้างหลักสูตรเป็นแบบตรีควบโท การเรียนตลอดหลักสูตร 4+1 จัดการเรียนการสอน และดำเนินการแบบหลักสูตรนานาชาติ ระยะเวลาศึกษา 5 ปี หรือ 10 ภาคการศึกษาในระบบทวิภาค แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้ 1. ระยะการศึกษาในระดับปริญญาตรี ระยะเวลา 4 ปี 8 ภาคการศึกษา และ 2. ระยะการศึกษาปริญญาโท ระยะเวลา 1 ปี 2 ภาคการศึกษา ซึ่งผู้เข้าเรียนจะได้ศึกษา ทั้งด้านวิศวกรรมศาสตร์ การบริหารจัดการ การเงินการธนาคาร และเศรษฐศาสตร์ อาทิ พื้นฐานด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้วยภาษาสำหรับวงการการเงินและธนาคาร หลักการด้านเศรษฐศาสตร์ การวิเคราะห์ตลาดด้านการเงิน เป็นต้น โดยคณาจารย์ และบุคลากรทางวิชาการ จาก สจล. และ นิด้า พร้อมยังมีการผนวกหลักสูตรควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานจริง ร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำระดับประเทศ โดยหลักสูตรดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โดยคาดว่าจะกำหนดเปิดรับนักศึกษารุ่นแรก ในปี 2562 ผ่าน ระบบ TCAS / รับตรง รอบ วัน-เวลา และเปิดภาคเรียนในเดือนสิงหาคม 2562
บัณฑิตยุคใหม่ จำเป็นต้องมีทักษะ และความเชี่ยวชาญที่รอบด้าน สจล. และนิด้า ไม่เพียงต้องการให้นักศึกษาจบออกมาเป็นวิศวกร หรือเป็นนักการเงิน และธนาคารเพียงอย่างเดียว แต่มุ่งมั่นที่จะพัฒนานักศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจกลไกตลาดธุรกรรมการเงิน และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากการเรียนการสอนภายในห้องเรียนเพียงอย่าเดียวแล้ว ทางสถาบันยังมีนโยบายการบูรณาการหลักสูตรวิชาร่วมกับการเปิดโอกาสให้นักศึกษา เรียนรู้ผ่านประสบการณ์การทำงานจริง ร่วมกับสถาบันการเงินชื่อดังระดับประเทศ เพื่อให้นักศึกษามีมุมมองที่กว้างไกล รอบด้าน มีความเข้าใจ และสามารถประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนได้ และสามารถทำงานร่วมกับบุคลากรในสายอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต รศ.ดร.คมสัน กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ www.kmitl.ac.th หรือ nida.kmitl.ac.th ตลอดจนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111