ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
www.econ.nida.ac.th; santi_nida@yahoo.com
อายุน้อยร้อยล้าน: หนี้ หรือทรัพย์สิน?
จำได้ว่าได้เคยเขียนบทความที่พูดถึงความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจไทยอันเนื่องจากการที่คนส่วนหนึ่งในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะเป็นสัดส่วนที่ใหญ่และมีจำนวนมากพอสมควรที่อาจจะปรับตัวได้ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งของไทยเองและของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากตามกระแสเทคโนโลยีและโลกาภิวัตน์ ทำให้มีคนกลุ่มหนึ่ง กลุ่มที่อาจจะไม่มีความพร้อมเพียงพอต่อการปรับตัวที่รวดเร็วแบบนี้ หรืออาจจะไม่มีความสามารถพื้นฐานที่ดีเพียงพอด้วยซ้ำไปที่จะปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ ต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงนัยยะสำคัญของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รอวันที่จะได้รับการเหลียวแลอย่างจริงจังมากกว่าเพียงแค่พูดถึงว่าเป็นปัญหาโดยไม่มีมาตรการหรือนโยบายที่เป็นรูปธรรมจริง ๆ ของการแก้ไขปัญหา (การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำคงไม่ใช่เพียงแค่การตั้งโต๊ะเชิญชวนให้คนที่คิดว่าตนเองเป็นคนจนมาลงทะเบียน ตรวจสอบ และจัดสรรสวัสดิการส่วนหนึ่งให้ไปเท่านั้น)
สำหรับผู้เขียนเองคิดว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้มีมิติเพียงแค่ความแตกต่างในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ ความมั่งคั่ง การศึกษา โอกาสทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ที่มีความแตกต่างกันระหว่าง “คนจน” กับสำหรับ “คนรวย” เท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ คนชั้นกลาง (จะโดยนิยามอย่างไรก็ตามแต่จะเลือกใช้กัน) ซึ่งมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ดีมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมทางเศรษฐกิจ ความแตกต่างระหว่างรายได้ หรือความมั่งคั่งของ “คนรวย” 5-10% แรกของประเทศ กับคนที่รวยน้อยกว่าถัดลงมาอีก 10% เป็นอย่างไร กว้างขึ้น? แคบลง? อย่างไร? และถัดลงมาอีก 10% เป็นอย่างไร?
คนกลุ่มที่อยู่ตรงกลางกลุ่มใหญ่นี้ เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเท่าที่ผ่านมาดูเหมือนเราจะให้ความสำคัญกับกลุ่มหัว (กลุ่มที่มีรายได้สูง) ซึ่งเราต้องการให้เขาเป็นหัวจักรในการฉุดลากให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตไปได้ และกลุ่มท้าย (กลุ่มที่เรียกกันว่าเป็นคนจน) เพราะเราเห็นว่า มีเหตุผลที่จะต้องช่วยเหลือสนับสนุนเขา โดยเราไม่ได้ให้ความสนใจอย่างเพียงพอกับกลุ่มคนที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “คนชั้นกลาง” เพราะดูเหมือนเขาจะสามารถดูแลตัวเองไปได้โดยไม่ต้องทำอะไร การทำความเข้าใจกับปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงใช่เป็นเพียงการวิเคราะห์ในระนาบเดียวว่า เป็นความแตกต่างระหว่าง “คนรวย” กับ “คนจน” เพียงเท่านั้น
การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรเป็นตัวอย่างหนึ่งของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความไม่เท่าเทียมในหลายมิติของคนในระบบเศรษฐกิจที่มีสถานะแตกต่างกัน ซึ่งต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน (หรือเสถียรภาพ) ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง (ถ้าสามารถทำความเข้าใจได้อย่างถูกต้องและนำไปปฏิบัติได้) อาจจะเป็นช่องทางหนึ่งที่หลายคนเห็นว่าเป็นทางเลือกที่ดี แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น รัฐไม่ต้องให้ความสนใจ หรือปล่อยปะละเลยไปได้
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนที่มีการรวบรวมและนำเสนอเป็นประจำแสดงให้เห็นว่ามีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นและรวดเร็ว คนกลุ่มที่เราเชื่อว่าเขาจะดูแลตัวเองได้นั้น กำลังเผชิญกับความเสี่ยงความท้าทายหลายๆ ด้านรุมเร้าเข้ามาพร้อมๆ กันจนทำให้คนกลุ่มนี้ประสบปัญหา และอาจจะต้องได้รับความสนใจจากภาครัฐมากขึ้น คนวัยเริ่มต้นทำงาน (ซึ่งอยู่ในช่วงอายุของกลุ่มคน Gen Y) ในเมือง จากการสำรวจ พบว่า เป็นกลุ่มที่มีหนี้เพิ่มขึ้นมากที่สุด (อ้างอิงจากงานวิจัยและฐานข้อมูลของเครดิตบูโร) และสัดส่วนของหนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้บัตรเครดิตอีกด้วยนั้น ผมคิดว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้บางอย่างที่เราน่าจะได้ศึกษา วิจัยให้เข้าใจว่า การเป็นหนี้ หรือการก่อหนี้ของคนกลุ่มนี้มีสาเหตุมาจากอะไร เป็นเพราะรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป? หรือเป็นเพราะพฤติกรรมดารใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้มีการใช้จ่ายมากขึ้น? หรือคนกลุ่มนี้มีภาระทางการเงินมากขึ้นจนทำให้ต้องเป็นหนี้มากขึ้นและเร็วขึ้น?
ความเป็นมนุษย์ “อายุน้อยร้อยล้าน” ที่เฝ้าใฝฝันกัน เป็นที่นิยมชมชอบกันจนรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องทำจึงจะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ เป็นที่ยอมรับของสังคม อาจจะกลายเป็นแรงกดดันที่ทำให้คนในวัยเริ่มต้นทำงานต้องใช้ชีวิตแบบต้องยอมรับความเสี่ยงมากขึ้น และถ้าผลตอบแทนที่คาดหวังไว้จากการยอมรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย ร้อยล้านที่หวังว่าจะได้เป็นรายได้หรือทรัพย์สิน อาจจะกลับกลายเป็นหนี้ก้อนโตที่คนเหล่านี้ยังคงต้องแบกรับภาระไปจนตลอดชีวิตก็ได้ เรียกว่า ถ้าเริ่มออมเริ่มก็รวยเร็ว แต่ถ้าเริ่มเป็นหนี้เร็ว ก็จนนานเช่นเดียวกัน
ประเด็นของระดับหนี้สินครัวเรือนที่นอกเหนือจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นการก่อหนี้หรือเป็นหนี้ในช่วงอายุที่น้อยลงแล้ว ขีดความสามารถในการชำระหนี้ก็เป็นอีกประเด็นที่สำคัญซึ่งจะต้องติดตามว่าจะมีผลสืบเนื่องต่อไปอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้าซึ่งอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาขึ้น การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยมีผลบั่นทอนขีดความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้โดยตรง การเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย (โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต) เพิ่มแรงกดดันให้ลูกหนี้ต้องสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อให้ยังสามารถผ่อนชำระหนี้ให้ได้ ถ้าลูกหนี้จำนวนมากไม่สามารถทำได้ ก็จะมีการผิดนัดชำระหนี้ จนในที่สุดกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และหนี้เสียของระบบสถาบันการเงินต่อไป
การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อหรือค่าครองชีพเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของรายได้เป็นอีกปัจจัยที่มีความสำคัญ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งของโลกและของไทย (ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการกระตุ้นด้วยมาตรการต่างๆ) ทำให้ขีดความามารถในการจ่ายชำระคืนหนี้และเงินต้นของครัวเรือนลดลง ซ้ำร้ายในหลายกรณีอาจจะทำให้ครัวเรือนต้องก่อหนี้เพิ่ม เพราะมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่ปรับเพิ่มขึ้นตามค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น ในส่วนนี้เป็นการตอกย้ำอีกครั้งถึงความจำเป็นและความสำคัญที่การบริหารเศรษฐกิจของประเทศควรจะมีข้อมูลตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงค่าครองชีพที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุดของครัวเรือนในแต่ละกลุ่มชั้นรายได้ ตามพื้นที่อยู่อาศัยว่าต้องปรับตัวรองรับกับค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
นอกจากนี้ ในสภาวการณ์ที่ครัวเรือนในระบบเศรษฐกิจมีระดับหนี้เพิ่มขึ้นนั้น (ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าที่เป็นหนี้มากขึ้นนี้ มีเหตุปัจจัยมาจากการกระตุ้นให้เกิดมีการใช้จ่ายด้วยมาตรการของภาครัฐมากน้อยเพียงใด เช่น มาตรการช๊อปช่วยชาติ เที่ยวช่วยชาติ …ช่วยชาติ) ทำให้เศรษฐกิจมีความเปราะบาง และอ่อนไหวต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจมากขึ้น การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจอาจจะจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าน่าจะต้องเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น
ที่กล่าวถึงทั้งหมดนี้เป็นความท้าทายสำหรับผู้บริหารเศรษฐกิจของประเทศจากข้อมูลระดับหนี้ครัวเรือนและแนวโน้มของหนี้ครัวเรือนที่ปรากฎ ผนวกเข้ากับข้อมูลเดียวกันในอีกหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ จีน ฯลฯ ที่น่าจะได้รับการพิจารณาเตรียมตัวรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ไม่ต้องรอให้ปัญหาเกิดขึ้นจนกลายเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดผลกระทบ หรือความเสียหายที่รุนแรงแล้วจึงมาหาทางแก้ไขในภายหลัง หรืออาจจะถึงเวลาที่เราจะต้องการมาตรการออมช่วยชาติ อดอยากช่วยชาติ อดทนช่วยชาติหรือบริจาคช่วยชาติ กันอีกรอบหรือเปล่า?